ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าหน้าที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ลงตรวจ “อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม” แกะรอยหมอเถื่อน หลัง “ พิมรี่พาย” แจ้งถูกหญิงสาวปลอมเอกสารของแพทย์ สวมรอยสมัครงานในคลินิกที่ตนเป็นหุ้นส่วน ด้านอธิบดีสบส. ย้ำ! หากพบผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลย มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณี นางสาวพิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย หุ้นส่วนอิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขา ห้วยขวาง เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่าถูกนางสาวอาลินดา (สงวนนามสกุล) ใช้เอกสารใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หญิงท่านอื่น มาสมัครเป็นแพทย์ผู้ให้บริการของคลินิก จนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สบส.เตรียมตรวจสอบคลินิก "พิมรี่พาย" หากพบใช้ "หมอปลอม" ย่อมมีความผิด)

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ธ.ค. 2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของกรณีดังกล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส.ดำเนินการประสานขอข้อมูลกับพนักงานสอบสวน บก.ปคบ.พร้อมลงพื้นที่ ณ อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันนี้ โดยจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ตรวจสอบการดำเนินงานของคลินิกว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พร้อมตรวจสอบเอกสารทางการแพทย์ เวชระเบียน และบันทึกถ้อยคำจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ภาพจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ทั้งนี้ พบว่าหมอเถื่อนรายดังกล่าวมาเริ่มให้บริการฉีดสารเสริมความงาม (ฟิลเลอร์/โบท๊อกซ์) ณ อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง ในวันที่ 12-14 ธันวาคม 2564 โดยมีผู้รับบริการ จำนวน 12 ราย ก่อนที่ทางคลินิกจะสืบทราบ ทำให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไป ซึ่งในกรณีของหมอเถื่อนที่ลักลอบให้บริการในสถานพยาบาลนั้น นอกจากบทลงโทษตามกฎหมายพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 กับหมอเถื่อนแล้ว หากพบว่าผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีส่วนรู้เห็นก็จะมีการดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังพบความผิดในด้านอื่นๆ เช่น คลินิกมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยโดยไม่ได้รับอนุญาต การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และการไม่แจ้งรายชื่อของแพทย์ผู้ให้บริการกับผู้อนุญาต ซึ่งจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

"การที่มีสถานพยาบาลปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพมาแอบสวมรอยให้บริการในสถานพยาบาลนั้น นอกจากจะมีบทลงโทษตามกฎหมายแล้ว ยังมีผลต่อชื่อเสียงของสถานพยาบาล จึงขอเน้นย้ำให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล มีการคัดกรอง ตรวจสอบประวัติ และเอกสารหลักฐานในการรับสมัครผู้ให้บริการประจำสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด โดยอาจจะต้องให้ผู้สมัครแสดงเอกสารฉบับจริงประกอบกับสำเนาในการสมัครงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายของสถานพยาบาลและผู้รับบริการ" นพ.ธเรศ กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง