ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องกมลทิพย์ 1-2 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “ถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. สร้างปัญหาหรือปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย” โดยมี นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีสมาชิกวุฒิสภา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมด้วย

นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า การจัดสัมมนาในวันนี้เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ได้มีประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ให้ถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. และปัจจุบันได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า มี รพ.สต. ที่ประสงค์ขอถ่ายโอนจำนวนกว่า 3,000 แห่ง ไปยัง อบจ. 49 จังหวัด โดยกำหนดให้มีการประเมิน อบจ. ที่จะรับการถ่ายโอนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดี ให้รับถ่ายโอนอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง ระดับดีมาก ให้รับการถ่ายโอนได้อย่างน้อย 2 แห่ง และระดับดีเลิศ

ให้รับการถ่ายโอนได้ทุกแห่งในจังหวัด ซึ่งการประกาศแนวทางการถ่ายโอนครั้งนี้เป็นแนวทางใหม่ โดยให้ถ่ายโอนสถานีอนามัย และ รพ.สต. ไปยัง อบจ. จากเดิมตั้งแต่ปี 2551 ที่การถ่ายโอนกำหนดให้ไปเทศบาล และ อบต. ถึงแม้จะมีการดำเนินการมาบางส่วนแล้วแต่พบว่าระยะเวลากว่า 22 ปี ได้มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปเทศบาล และ อบต. เพียง 84 แห่ง จาก รพ.สต. ทั่วประเทศ 9,787 แห่ง ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวย่อมแสดงถึงปัญหาและอุปสรรคของการถ่ายโอนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความพร้อมของผู้รับการถ่ายโอน คือ ท้องถิ่น และความสมัครใจของผู้ที่จะถ่ายโอนไป คือ รพ.สต. โดยเฉพาะบุคลากรของ รพ.สต. ที่อาจจะยังไม่รับทราบข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจถ่ายโอน จึงเป็นปัญหาประการหนึ่งของการถ่ายโอน

ดังนั้น การกระจายอำนาจ โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข จะต้องมองในหลายมิติทั้งด้านบริบทของงาน ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ในการส่งต่อผู้ป่วยตามระดับของหน่วยบริการ ด้านงบประมาณ ซึ่งมีการจัดสรรเงินงบประมาณที่มาจากหลายส่วนของหลายกองทุน การบริหารจัดการ ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่เขตสุขภาพ และบุคลากร ที่มีการผลิตโดยกระทรวงสาธารณสุข

เพื่อตอบสนองต่อระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการสนองต่อแผนและกำลังคน ในด้านบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีระบบปฐมภูมิที่มีแพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมทั้งพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ตลอดจนเมื่อถ่ายโอนแล้วเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรจะเป็นอย่างไร ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน การจะเร่งรัดให้มีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ไป อบจ. นั้น อาจส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ

ด้าน นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กล่าวว่า ในส่วนการเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องการถ่ายโอนภารกิจในครั้งนี้จะนำเรียนเกี่ยวข้องกับสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเราจะดูกฎหมายสำคัญอยู่ 2 ฉบับ คือ 1. เรากำลังขับเคลื่อนพรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 2. พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ที่มีมาตั้งแต่พ.ศ. 2542 ซึ่ง ในการถ่ายโอนครั้งนี้ประเด็นที่ทางสำนักระบบปฐมภูมิมีความกังวลนั่นคือ เกี่ยวเนื่องกับพรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 ซึ่งหลังจากที่เราได้ดำเนินการตามพรบ.ฉบับนี้ อย่างน้อยในสองประเด็นที่จะต้องตอบโจทย์ในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดย 1.คือหน่วยบริการหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ตามพรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิตั้งแต่ปี 2562 เราขึ้นทะเบียนได้แล้วทั้งหมด 2893 ทีม มีการให้บริการได้จำกันพี่น้องประชาชนรวมถึงมีการควบคุมคุณภาพการติดตามประเมินผลในเรื่องต่างๆ

สำหรับกรณีที่มีการถ่ายโอนแล้วนั้น ในตอนนี้ท่านรองปลัด สธ. ให้ทางสำนักได้รวบรวมข้อมูลว่า รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนในครั้งนี้มีส่วนไหนบ้างที่อยู่ในกลุ่มขึ้นทะเบียนไปแล้ว ซึ่งเราคาดว่าจะจำแนกประเภทข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. รพ.สต. ที่จัดกลุ่มร่วมกันและไปทั้งหมด 2. รพ.สต.บางแห่ง ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และยังไม่ขึ้นทะเบียนแล้วก็ไป ในส่วนนี้เองมีประเด็นตามกฏหมายมาตรา 17 คือสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิมีหน้าที่ในการจัดการการขึ้นทะเบียนหน่วยปฐมภูมิ เพราะฉะนั้นคนที่ยื่นแสดงความจำนงขึ้นทะเบียนจำนวน 2893 ทีม คือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ดังนั้นในส่วนที่ถ่ายโอนไปแล้วจะมีวิธีการยกเลิกหรือทำอย่างไร ให้ราบลื่นหรือเมื่อถ่ายโอนไปแล้วเมื่อเปลี่ยนบทบาทไปแล้วหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิใครจะเป็นคนดูแล

ขณะที่ นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีการส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต. ไปยัง อบจ. ทั้งหมด 10 ข้อ นั้น มองว่าควรมีการจัดเวทีเสวนาแบบนี้ก่อนที่จะมีเรื่องส่งหนังสือฉบับนี้ ถึงนายกรัฐมนตรี และควรมีการเรียก รพ.สต. หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปชี้แจงที่กรรมาธิการวุฒิสภา

แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมา มีความเห็นต่างในการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งมีการถ่ายโอนภารกิจตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน 2564 โดยมี รพ.สต. ไป 51 แห่ง และปัจจุบันล่าสุดมีทั้งหมด 84 แห่ง เมื่อถามว่า 84 แห่งมาได้อย่างไร คือมาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้มีความเห็นให้ถ่ายโอน รพ.สต. ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครโดยให้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการถ่ายโอนตามขั้นตอน

ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเกิดการถ่ายโอนก็ยังไม่มีการยับยั้ง แต่ตอนนี้ทำไมมีการยับยั้ง หรือเป็นเพราะตัวเลขมันสูงไปใช่หรือไม่ ตัวเลข 49 อบจ. ที่รับถ่ายโอนมันเยอะเกินไปจนน่าตกใจใช่หรือไม่ รพ.สต. จำนวน 3457 แห่ง บุคลากรกว่า 20,000 คน ระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทำไมจึงสมัครใจถ่ายโอนไปเร็ว มันมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ จึงทำให้เกิดแรงเหวี่ยงอย่างรุนแรง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org