ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงทุกประเทศทั่วโฃลกเป็นความท้าทายระบบสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ เนื่องจากยังไม่มียาแผนปัจจุบันสำหรับรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ หลายประเทศทบทวนภูมิปัญญาความรู้การแพทย์ดั้งเดิมของท้องถิ่นเพื่อหาทางต่อสู่กับโรคระบาดครั้งนี้

ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติครั้งที่ 18 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อประชุมวิชาการหลายเวที เริ่มจากเวทีวาการหัวข้อ "ถอดบทเรียนการเรียนรู้รับมือกัยโรคอุบัตใหม่ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมในต่างประเทศ" ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ผู้นำด้านการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคของประเทศไทย ได้กล่าวว่า การหายาที่มีอยู่เดิมโดยพิจารณากลไกการออกฤทธิ์ที่อาจมีผลในการรักษาโรคมาใช้ที่เรียกว่า Drug Repurposing ถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีความคุ้มค่าทั้งด้านทรัพยากรและเวลา ยาจากสมุนไพรและการรักษาด้วยการแพทย์ดั้งเดิมในหลายๆ ประเทศ ถูกนำมาใช้เพราะทรัพยากรทางด้านสมุนไพรหาได้ในท้องถิ่น มีประสบการณ์การใช้กันอยู่แล้ว แต่ใครใช้ประโยชน์ได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การใช้การแพทย์ดั้งเดิมในภาวะฉุกเฉิน ความพร้อมของระบบสุขภาพ และยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนการใช้ ซึ่งการพัฒนายาใหม่แทบไม่มีความเป็นไปได้เลยกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า สมุนไพรสามารถปรับภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ เมื่อกำลังเผชิญกับเชื้อโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอน ทำอย่างไรที่จะยกระดับให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองได้ ลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลคนไข้ที่จำเป็นจริงๆ จะเกิดการสูญเสียน้อย

"ที่เกาหลีช่วงโควิดก็มีปัญหาในการนำสมุนไพรเข้าไปใช้ในระบบ แต่เขาก็ฉลาด ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายนักวิชาการเยอะมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกาหลีมีเครือข่ายกับต่างประเทศเยอะมาก พยายามเอาเทคโนโลยีเข้ามาให้มีความทันสมัยเพื่อเอาเข้าไปผสมผสานในระบบ หรือเอาไปขายในเชิงพาณิชย์ได้ ในช่วงโควิด เกาหลีใช้ระบบ Telemedicine ใช้รักษาและติดตามผู้ป่วยโควิด ทำงานร่วมกันระหว่างครูหมอกับนักศึกษา มีระบบการส่งยาให้กับผู้ป่วย อันนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจเผื่อว่าโอไมครอนมาแล้วเราจะมีโอกาสใช้ ส่วนอินเดีย ก็มีกระทรวงการแพทย์ดั้งเดิมแยกออกมาจากการะทรวงสาธารณสุขที่เรียกว่า AYUSH สถานการณ์คล้ายกับเรา มีความพยายามให้สมุนไพรบางตำรับเข้าไปที่หน่วยหน้า เราน่าจะเรียนรู้ได้ ทุกประเทศมีความพยายามที่จะอยู่รอดด้วยภูมิปัญญาของตัวเอง" ดร.ภก.ผกากรอง กล่าว

แพทย์จีน เซ็ง จุน ลี คลินิกประกอบโรคศิลปะ สาขาแพทย์แผนจีนหัวเฉียว กล่าวว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ทำอะไรเร็วมาก เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้น มีการระบาด ก็มีการสั่งให้ปิดเมืองทันที ซึ่งช่วงนั้นใกล้กับตรุษจีนที่คนจีนเดินทางไปทั่วโลกเยอะที่สุด รัฐบาลจีนจึงสั่งให้ปิดเมืองอู่ฮั่นทันที

"มกราคม 2020 เมืองอู่ฮั่นมีจำนวนผู้ป่วยเยอะมาก เนื่องจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอจึงต้องระดมแพทย์ทั้งประเทศเข้าไปช่วยเหลือทั้งแพทย์แผนปัจจุบันรวมถึงแผนจีนด้วย มีการเสนอให้ใช้โรงเรียน โรงแรมเป็นที่กักตัว และสร้างโรงพยาบาลสนาม แบ่งกลุ่มคนไข้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่วินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าเป็นคนไข้ปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2.กลุ่มที่มีความสงสัยว่าจะเป็นโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา 3.กลุ่มที่อาการไข้แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด 4.กลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิด ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ต้องต่อสู้กับเวลามาก ยังไม่มีวัคซีน และกำลังอยู่ในกระบวนการค้นหาว่าจะใช้ยาแอนตี้ไวรัสแบบไหน ได้แต่กักตัว และรักษาเพื่อพยุงอาการเท่านั้น จึงใช้แพทย์แผนจีนมาช่วย แพทย์จีนได้ประชุมกันและตัดสินใจว่าลักษณะของโรคครั้งนี้เป็นการระบาดชนิด ซือตู๋อี้ หรือโรคระบาดแบบพิษชื้น"

เซ็ง จุน ลี เล่าว่า จากประวัติโรคระบาดของจีนมีการบันทึกว่าเคยมีโรคระบาดชนิดรุนแรงตั้งแต่อดีตประมาณ 321 ครั้ง แพทย์แผนจีนมีบทบาทในการรักษามาหลายยุคหลายสมัย จึงไปค้นคว้าตำราเดิมในสมัยก่อนว่าแต่ละครั้งรักษาอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการรักษาในครั้งนี้ แพทย์จีนมองว่าอารมณ์กับร่างกายสัมพันธ์กัน ซื้อตู๋อี้ พิษชื้นอุดกั้นปอด อาการทางคลินิกจะพบว่าไข้ไม่สูง แต่อ่อนเพลียชัดเจน อาการไอไม่รุนแรงแต่ปอดอักเสบหนัก หายใจลำบาก ออกซิเจนในเลือดต่ำ แม้อาการแสดงออกทางคลินิกไม่เยอะแต่เชื้อทำลายอวัยวะภายในรุนแรง จึงมีการเสนอให้ใช้สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการขจัดพิษชื้นร่วมในการรักษา เมื่อทำการรักษามาได้ระยะหนึ่งพบว่า ผู้ป่วยมีอาการไม่หนักมากก็กลับสู่ปกติ อาการไอและอ่อนเพลียดีขึ้นอย่างชัดเจน กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ผู้ป่วยที่มีผลบวกเหลือ 30 % ,ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ผู้ป่วยที่มีผลบวกเหลือ 3 %"แพทย์จีน เซ็ง จุน ลี กล่าว

ด้าน ดร.ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ ได้เล่าถึงการใช้สมุนไพรต่อสู่กับโควิด-19 ในประเทศอินเดียว่า อินเดียมีวัฒนธรรมดั้งเดิมแข็งแรง ชาวบ้านแตกตื่นกับยาหยอดตาตำรับพื้นบ้านที่เชื่อกันว่ารักษาโรคโควิดได้ผลใน 10 นาที แต่เจ้าหน้าที่จากแผนกอายุรเวทของรัฐบอกว่ามันไม่ใช่ยาอายุรเวทและยังอ้างว่าใช้ได้ผลไม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นประกาศสนับสนุนการใช้ยานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนคล้ายๆ กับประเทศไทย

“บ้านเราก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้ในบางช่วง ถึงขนาดที่สาธารณสุขไปจับไปยกหม้อยา ผู้ติดเชื้อที่เชียงใหม่ไปล้อมโรงพัก ส่งตัวแทนไปต่อรองจนเรื่องต้องมาถึง กทม. ตอนนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็ให้ใช้กันต่อ ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ต้มกินในวันนั้นก็เป็นที่มาของการวิจัย แล้วก็มาเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในองค์การเภสัชกรรม นั่นคือเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในบ้านเรา ในเรื่องแบบนี้เราก็จะไปดูแคลนชาวบ้านเขาไม่ได้ว่าเชื่ออะไรงมงาย โดยที่อินเดียผู้นำรัฐนี้ใจกล้ามากบอกสนับสนุนให้รักษาด้วยวิธีนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องดังขึ้นมา ซึ่งก็มีการพูดถึงเหมือนกันว่าเรื่องนี้น่าจะนำไปสู่การวิจัย มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ก็จะมีคนที่มองว่าแผนปัจจุบันทำให้เกิดปัญหารักษาแล้วไม่ได้ผล ในบ้านเราก็มีกระแสแบบนี้อยู่เหมือนกัน โจมตีวัคซีนเรื่องยาแผนปัจจุบัน แล้วบอกว่ารักษาด้วยสมุนไพรแล้วจะหายมากกว่า แต่อาจจะไม่ดุเดือดเท่าอินเดีย" ดร.ภก.ยงศักดิ์ กล่าว

หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ ยกตัวอย่าง ยา AYUSH-64 ที่ทางอินเดียสนับสนุนให้ใช้กับโควิดแต่ถูกแพทย์แผนปัจจุบันตีโต้ว่ายังไม่มีงานวิจัยรับรอง

"พอเกิดสถานการณ์วิกฤตแพทย์แผนปัจจุบันมีสิทธิที่จะใช้ยาอะไรก็ได้ที่ตัวเองคิดว่าได้ผล ตัดสินใจใช้กับผู้ป่วยแล้วยอมรับกันได้เพราะถือว่าแพทย์มีความรู้ ที่จะรับผิดชอบผู้ป่วยตัวเอง แต่พอเป็นแพทย์แผนดั้งเดิมคิดจะทำแบบเดียวกันก็โดนต่อว่า ว่าไม่มีงานวิจัย ทั้งๆ ที่วิกฤตแบบเดียวกัน นี่ก็เป็นประเด็นว่าสองมาตรฐานหรือเปล่าวิธีคิดที่จะมากล่าวหากันแบบนี้ ถ้าใช้วิธีคิดเดียวกัน แผนปัจจุบันก็ใช้ ในบ้านเราก็มีหมอส่วนหนึ่งที่พูดประเด็นนี้" ดร.ภก.ยงศักดิ์ กล่าว

จะเห็นได้ว่าหลายประเทศต่างทบทวนความรู้ดั้งเดิมเพื่อหาทางสู้กับโควิด-19 สำหรับประเทศไทย เวทีวิชาการหัวข้อ "บทบาทของแพทย์ไทยในสถานการณ์ COVID-19" นางประพัสสร วรรณทอง แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้แบ่งการดูแลเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การดูแลในคลินิกและโรงพยาบาล 2. การดูแลในชุมชนและ รพ.สต. และ 3. การดูแลในโรงพยาบาลสนาม-ศูนย์พักคอย

"ในโรงพยาบาลเรายังมีการรักษาอยู่แต่แพทย์แผนไทยเราเพิ่มมาตรการขึ้น เคสทุกเคสต้องใส่ถุงมือในการนวด ใส่เฟซชิลด์ แมสก์ หมวกคลุมผม เตียงนอนฉีดแอลกอฮอล์เปลี่ยนผ้าปูทุกครั้ง ส่วนผู้มาใช้บริการเรามีการคัดกรองตามมาตรการ เมื่อนวดเสร็จ รักษาเสร็จต้องได้รับน้ำสมุนไพรเสริมภูมิทุกราย คนละ 100 มิลลิลิตร ในส่วนของชุมชนเราร่วมกันกับฝ่ายปกครองลงไปให้ความรู้เรื่องสมุนไพร น้ำเสริมภูมิ เราให้ รพ.สต.มาเบิก น้ำเสริมภูมิ ส่งรายชื่อคนไข้มา รพ.สต.ต้องไปต้มแล้วส่งให้ผู้ที่มากักตัว 14 วัน ให้เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. ได้ดื่มทั้ง 19 แห่ง ส่วนผู้ที่อยู่ศูนย์พักคอยก็จะได้ดื่มในศูนย์ ซึ่งทางแพทย์แผนไทยได้มีการเตรียมน้ำสมุนไพรเสริมภูมิตรีผลาในตอนเช้า และน่้ำขิงผสมกระเจี๊ยบในตอนบ่ายให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม" นางประพัสสร

น.ส.ฐิติรัตน์ เจษฎาพงศธร แพทย์แผนไทย รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเป็นศูนย์เล็กๆ เน้นเรื่องกัญชาและสมุนไพรทั่วไป จะมีการคัดกรองเบื้องต้นคนไข้ที่เข้ามารักษา ให้ความรู้เบื้องต้นว่าสมุนไพรชนิดใดสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ ช่วงโควิดระบาดหนักมีคนกินฟ้าทะลายโจรทุกวันๆ ละ 3 แคปซูล แล้มาพบหมอบอกว่ามีอาการอ่อนเพลีย แขน มือ ชา ก็ต้องให้ความรู้ว่ากินฟ้าทะลายโจรอย่างไร ไม่ได้กินเพื่อป้องกัน แต่จะใช้เมื่อมีอาการ หรือกรายก็สามารถเสริมภูมิคุ้นกัน แก้ท้องผูก ท้องเฟ้อได้

ขณะที่น.ส.กชมน ฮานาซาวา แพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลการแพทยืแผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ซึ่งเคยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า แพทยฺแผนไทยจะเป็นหน่วยแรกที่ดูแลผู้ป่วยเพื่อลดอัตราความรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต คะดกรองผู้ป่วยที่สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจรหรือสมุนไพรอื่นๆ ได้

“จะมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับฟ้าทะลายโจร และมีแพทย์แผนปัจจุบันสั่งยาแผนไทยด้วย เราก็จะดูว่าผู้ป่วยคนนั้นทานยาสมุนไพรได้มั๊ย”น.ส.กชมนเล่าถึงประสบการที่ใช้การแพทย์แผนไทยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนาม

จากประสบลการณ์จริงในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จากหลายพื้นที่ ฟ้าทะลายโจรดูจะเป็นสมุนไพรหลัก แต่ยังมีการมช้สมุนไพรอื่นๆ อีก ซึ่งเวทีวิชาการหังขเอ"ฟ้าทะลายโจร กระชาย สมุนไพรไทยพลิกวิกฤติ Covid-19" วิทยากรหลายท่านเล่าถึงการใช้สมุนไพรไทยเหล่านี้

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า แรกเริ่มการใช้ฟ้าทะลายโจรให้ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งไม่ขัดกับ CPG ที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด แต่ในโรงพยาบาลสนามยังไม่ถูกใช้ ต่อมามีโรงพยาบาลที่ยอมใช้ 5 แห่ง เพื่อให้เก็บข้อมูล ได้แก่โรงพยาบาลสมุทรสาคร นครปฐม กระทุ่มแบน ราชบุรี และบ้านโป่ง

"มีการบอกว่าฟ้าทะลายโจรทานเยอะๆ แล้วจะทำให้ตับพัง ซึ่งเราใช้เพียง 5 วัน หรือบอกว่าไตวาย ในข้อมูลที่มี 7 พันเคส ไม่มีใครมีปัญหาเรื่องไต ยาสังเคราะห์จากเคมีค่อนข้างอันตรายสูงกว่า สิ่งที่เจอต่อมามียาปลอม ยาขึ้นทะเบียน อย. หรือไม่ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยการใส่เลข 13 หลักเพื่อตรวจสอบได้ และในปัจจุบันฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ได้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง" นพ.เทวัญ กล่าว

นพ.เทวัญ กล่าวอีกว่า โควิดเป็นโรคใหม่ที่เรายังไม่รู้ลึก รู้จริง ยังบอกไม่ได้ว่ายาอะไรดีที่สุด วัคซีนก็ยังไม่ใช่คำตอบ ฟ้าทะลายโจรไม่ใช่บล็อคไวรัสเท่านั้นแต่ยังต้านการอักเสบ โดสขั้นต่ำคือ 40-720 มิลลิกรัม การให้ 180 มิลลิกรัมถือว่าอ่อนมาก ที่บอกว่าตัวฟ้าทะลายโจรกินแล้วจะมีผลต่อตับไตก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 1 กล่าวว่า มีการใช้ฟ้าทะลายโจรมาแล้วกว่า 2 พันปี และได้ศึกษาผลจากฟ้าทะลายโจรไว้มากมาย อินเดียรู้จัก andrographolides มา 70 กว่าปี จีนผลิต injectable andrographolides ส่วนฝรั่งผลิตพืชฟ้าทะลายโจรไม่ได้เพราะเป็นพืชเขตร้อน

"ฟ้าทะลายโจรประกอบด้วยสารออกฤทธิ์หลายชนิด เช่น ลดการอักเสบ ปรับภูมิต้านทาน มีผลต่อจุลชีพหลากหลาย ใช้รักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ผลดี โดยมีงานวิจัยแอนโดรกราโฟไลด์ สารสกัดยับยังการเพิ่มจำนวนของ sar-cov-2 ที่เข้าไปในเซลล์เนื้อเยื่อปอด โดยจับกับเอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการเพิ่มจำนวน ซึ่งฟาวิพิราเวียร์ก็เป็นกระบวนการเดียวกัน" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร กล่าวอีกว่า บทบาทของฟ้าทะลายโจรที่เกี่ยวกับ โควิด-19 ใช้ขนาดยาสูงกว่าที่เคยใช้รักษาอาการ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่ง 3 ครั้งนาน 5 วัน

"งานวิจัยพบว่าการให้สารสกัดฟ้าทะลายโจรอย่างถูกขนาดแก่ผู้ติดเชื้อโควิดภายใน 3-5 วันแรกจำนวน 4 คน จะลดผู้ป่วยปอดอักเสบได้ 1 คน และมีค่าใช้จ่าย 400 บาท/4 คน ในการรักษาโควิดระยะแรกด้วยยาฟ้าทะลายโจร ยาที่ปลอดภัยประสิทธิภาพดี ค่าใช้จ่ายร้อยหาใช้ได้ง่าย พึ่งพาตนเองได้" ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร กล่าว

น.ส.ลัดดาวัลย์ จาดพันธุ์อินทร์ กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาจ่ายยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแสดง กับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง คือไม่มีปอดอักเสพ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ขนาดยาที่ใช้ในการรักษาโดยการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกันนาน 5 วัน มีข้อจำกัดคือ ผู้ป่วยเด็กโต อายุ 12-15 ปี ให้พิจารณาขนาด 3-3.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวันแบ่งวันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารติดต่อกันนาน 5 วัน ส่วนเด็กโตที่น้่ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไปให้ใช้ขนาดยาเท่าผู้ใหญ่

"ข้อห้ามคือผู้แพ้ยาฟ้าทะลายโจรทุกรูปแบบ หญิงตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดการบีบตัวของมดลูกเป็นผลทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดและอาจทำให้ทารกผิดปกติได้ รวมถึงหญิงกำลังให้นมบุตร ข้อควรระวังคือการใช้ร่วมกับยาป้องกันลิ่มเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น warfarin aspirin clopidogrel เพราะยาอาจเสริมฤทธิ์กันได้" น.ส.ลัดดาวัลย์ กล่าว

นี่คือประสบการณ์ของการใช้สมุนไพรไทยช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการพัฒนความรู้เพื่อให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกสร้างรายได้ การศึกษาวิจัย และการลดอาการของโรคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งเหล่านี้คือโอกาสสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย