ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. เผยข้อมูลล่าสุดพบโอไมครอน 514 รายจากต่างประเทศ  พร้อมเปิด "3 ฉากทัศน์" แบบจำลองการระบาดโอไมครอนช่วงหลังปีใหม่  หากไม่ทำอะไรเลย ไร้มาตรการ ไร้ความร่วมมือ ผู้ป่วยอาจพุ่งถึงวันละ 3-4 หมื่นราย เสียชีวิต 170 รายต่อวัน แต่หากมีมาตรการเข้มงวด ฉีดวัคซีนครบ และประชาชนให้ความร่วมมือจะเข้าอยู่ฉากทัศน์ที่ 3 ผู้ป่วยลดเหลือกว่าหมื่นราย เสียชีวิตวันละ 60-70 รายหรือน้อยกว่านั้น ขอทุกฝ่ายร่วมมือสกัดโควิด ย้ำอาการโอไมครอนไม่รุนแรง ขอให้มาฉีดวัคซีนจะยิ่งช่วยป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิตได้

 
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)   นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ฉากทัศน์การแพร่ระบาด และการปฏิบัติตัวของประชาชน  ว่า  ข้อมูลการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 26 ธ.ค. เวลา 18.00 น. ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 102 ล้านโดส  ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกติดแล้วเกือบ 280 ล้านคน อาการหนัก 8.8 หมื่นคน เสียชีวิตประมาณ 5.3 ล้านคน คิดเป็น 1.94% โดยสหรัฐอเมริกาติดเชื้อสูงสุด อย่างเมื่อวานติดกว่า 2.4 แสนราย รวมทั้งภาคพื้นยุโรป ที่อังกฤษติดแสนกว่าราย ฝรั่งเศส  สเปน หลัก 7-8 หมื่นรายต่อวัน ขณะนี้สายพันธุ์ที่ระบาดคือ โอไมครอน  สำหรับอาเซียน ไทยอยู่อันดับที่ 24 มีการติดเชื้อรายใหม่ 2,437 ราย และเสียชีวิต 18 ราย ซึ่งเป็นค่าตัวเลขที่ต่ำที่สุด   แต่ข้อสังเกต คือ  ขณะนี้ประเทศเวียดนามมีการติดเชื้อกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน 

อย่างไรก็ตาม  สถานการณ์โลกตั้งแต่มีการระบาดขณะนี้ เป็นเวฟที่ 4 ใหญ่ๆ ซึ่งกำลังไต่ขึ้น คือ การระบาดของโอไมครอนในภาพรวมของโลก แต่เส้นอัตราเสียชีวิตไม่ได้กระดกขึ้นตามอัตราผู้ติดเชื้อ หมายถึงการระบาดของโอไมครอนไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยขณะนี้มี 106 ประเทศ 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์เผยพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน"  514 ราย มาจาก ตปท. 367 ราย และกลุ่มในประเทศ 147 ราย)

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.เป็นต้นมา สามารถคัดกรองผู้เข้าประเทศ  โดยคิดเป็นโอไมครอนสะสม 514 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม มีบางส่วนที่เล็ดลอดและไปเยี่ยมญาติ อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อก่อนหน้านี้  แต่ต้นเชื้อมีประมาณ 500 กว่าราย  ส่วนอาการของผู้ป่วยประมาณ 90% เป็นอาการน้อยหรือไม่มีอาการ อาการเล็กน้อยอยู่ประมาณ 10 กว่า% และอาการมาก 3-4% ทั้งนี้  ที่ประเทศอังกฤษมีการศึกษาและรายงานว่า โอไมครอนเมื่อเทียบกับเดลตา จะน้อยกว่าประมาณครึ่้งหนึ่งที่จะต้องไปอยู่ รพ. เมื่อติดเชื้อแล้ว ขณะที่แอฟริกาใต้ก็เช่นเดียวกัน และมักพบว่าเชื้อไม่ได้ลงปอด แต่จะอยู่ที่แถวๆ คอ และหลอดลม 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า  สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาอาการของคนไข้สายพันธุ์โอไมครอน 41 รายที่ดูแลในรพ. พบว่า  มีอาการไอ มากที่สุด 54% รองมาได้แก่ เจ็บคอ และไข้ อาการได้กลิ่นลดลงพบเพียง 1 ราย หรือ2%  ซึ่งทุกรายได้รับการรักษาแต่เบื้องต้น และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเมื่อให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมง หลังรับยา และให้จนครบ 5 วัน

"สถานการณ์ของประเทศไทยผู้ป่วยอาการหนักลดลงต่อเนื่อง และนับตั้งแต่มีโอไมครอนเข้ามา ยังอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีการไปพบปะ สัมผัสคนอื่น ระบบสอบสวนโรคเราสามารถติดตามและอยู่ในระบบได้แล้ว โดยรายงานวันนี้เราพบเสียชีวิต 18 ราย ถือว่าต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในกราฟการแสดงอัตราการติดเชื้อ ล่าสุด สธ.ได้จัดทำระดับการเตือนภัยโรคโควิด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 3  โดยเป็นสัญญาณเตือน ว่า มีการติดเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ (27 ธ.ค.) เราพบว่ามาจากต่างประเทศ 92 ราย" ปลัดสธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เปิดประเทศมาเราพบเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน  อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิดภาพรวมของวันที่ 27 ธ.ค. มี 18 ราย เมื่อพิจารณาจะพบว่า ผู้เสียชีวิต 70-80% ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น การรับวัคซีนจะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโอไมครอน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบให้ทางกรมควบคุมโรคจัดทำฉากทัศน์ขึ้นมา ซึ่งพบว่า โอไมครอนระบาดเร็วกว่า ง่ายกว่า แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ซึ่งหลายประเทศ อย่างสิงคโปรก็ออกมาว่า โอไมครอนไม่ได้รุนแรงมาก  แต่เราต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อให้มาก ไม่ให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วเกินไปนัก เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมากๆ จะกระทบต่อระบบการดูแลของสาธารณสุข ทั้งนี้ หากเราสามารถพยากรณ์ว่า ความสามารถของโอไมครอนหากมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีการฉีดวัคซีนพื้นฐานได้จะเป็นอย่างไร   

โดยฉากทัศน์มี 3 แบบ คือ แบบที่ 1 Least favourable  เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เป็น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอไมครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.  แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย  หรือไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมาก  ก็จะอยู่สถานการณ์รุนแรง ทำให้มีปัญหาการควบคุมโรคอย่างมาก  ส่วนแบบที่ 2  ฉากทัศน์ Possible เป็นแบบปานกลาง และ  แบบที่ 3 ฉากทัศน์แบบ most favourable  คือ แบบดีที่สุด  โดยที่ผ่านมาเราพยายามควบคุม ซึ่งแต่ละฉากทัศน์เราคำนึงความสามารถการแพร่กระจายของโรค การฉีดวัคซีน โดยแบบที่ 3 ต้องมีมาตรการค่อนข้างมาก เร่งฉีดวัคซีนทุกกลุ่มได้สูงขึ้นทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และบูสเตอร์ ฉีดมากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ แต่ทั้งหมดเราก็พยายามดูให้สมดุลกับการดำเนินชีวิต 

"ขณะนี้เรามาถึงสถานการณ์จริงตามกราฟเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งถือว่าไทยทำได้ดี  แต่ปัจจุบันเรามาถึงทางแยก เพราะมีการระบาดของโอไมครอน ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการ ไม่ทำอะไรเลยจะเข้ากับเส้นกราฟสีเทา คือ มีการระบาด ควบคุมได้ยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนในการควบคุม อาจมีการติดเชื้อรายวัน อาจถึง 3 หมื่นราย แต่หากเราควบคุมได้ดีตามเส้นสีเขียว จะอยู่ที่หมื่นรายนิดๆ และสามารถควบคุมโรคได้เร็วประมาณ 1-2 เดือนตัวเลขจะลดลงมา  ซึ่งหากทำได้ในระดับปานกลาง ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และค่อยๆทรงตัว และค่อยๆลดลงในที่สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขอยากให้เป็นเส้นสีเขียว จึงต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากล็อกดาวน์ประเทศ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ประกาศเตือนภัย "ระดับ 3"   จำกัดการรวมกลุ่ม เหตุสถานการณ์โอไมครอนแพร่เชื้อเร็ว )

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์ผลจากการป้องกันควบคุมโรคไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบจำนวนผุู้เสียชีวิต คาดการณ์ว่า หากเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นเหมือนเส้นกราฟสีเทา เสียชีวิตสูง 170-180 คนต่อวัน แต่หากทำได้ดีจะมีผู้เสียชีวิตวันละ 60-70 รายแต่จะลดลง ทั้งนี้ การคาดการณ์เส้นกราฟเสียชีวิต เราใช้พื้นฐานของเชื้อที่ว่า ติดเชื้อสูง แต่ความรุนแรงต่ำ อัตราการเสียชีวิตอาจไม่สูงมาก โดยโรคนี้ป่วยได้ แต่ต้องรักษาได้ ไม่ให้เสียชีวิต หรือลดอัตราตายให้มากที่สุด 

ทั้งนี้ สำหรับอัตราการใช้เตียงของประเทศ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ขณะนี้เรามีเตียง 1.7 แสนเตียง จากที่เคยขยายถึง 2 แสนเตียง แต่ปัจจุบันเคสไม่มากจึงเหลือ 1.7 แสนเตียง โดยปัจจุบันเตียงสีแดงเรียกว่า ระดับ 3 เราใช้อยู่ 31.6% มีประมาณ 5 พันเตียง ส่วนเตียงระดับ 2 ใช้ประมาณ 25.6% ส่วนเตียงสีเขียวมีมาก ใช้ประมาณ 6.4% จากเตียงที่มีกว่า  1.1 แสนเตียง  ซึ่งเตียงสีเขียวเราสามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนเรื่องยาเรามียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15 ล้านกว่าเม็ด ซึ่งประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา เรามีการสำรองและองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้

"สรุปสถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศแถบยุโรป เกิดจากโอไมครอน สว่นไทยเรายังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้โอไมครอนเริ่มมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐ อาฟริกา และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบติดเชื้อ และเสียชีวิต แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวป้องกันโรค และขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้  รวมทั้งขอให้มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.จัดระบบการรักษาผู้ป่วยเด็ก "โอไมครอน"  เตรียมชง ครม.ปรับค่าใช้จ่ายฮอสพิเทล

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง