ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอยง" เผยโอไมครอนแพร่เชื้อรวดเร็ว คาด 1-2 เดือนแทนที่เดลตาทั่วโลก รวมทั้งไทย  ย้ำ!  โอไมครอนตอนนี้อยู่ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ขอให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ไม่เช่นนั้นจ่อเวฟ 5 หลังปีใหม่ พร้อมศึกษาวัคซีนแอสตร้าฯ สูตร "ทริปเปิลเอ" ผลเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเตรียมเผยผลศึกษาวัคซีนไขว้( SV+AZ) กระตุ้นด้วยไวรัลแวกเตอร์ และmRNA เดือนหน้า
 
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ธ.ค.2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บรรยายสถานการณ์ โควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน และผลของการกระตุ้นเข็ม 3  ในการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆในประเทศไทย  โดยได้รับการสนันบสนุนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

0 ย้ำ! อีก 1 เดือนโอไมครอนแทนที่เดลตาทั่วโลก รวมทั้งไทย หากไม่ช่วยกัน หลังปีใหม่เสี่ยงเวฟ 5

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแจ้งว่า ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัคซีน ไม่ว่าตัวใด โดยการมาบรรยายต้องการเผยแพร่ความรู้และอัปเดตวัคซีนป้องกันโควิด อย่างไรก็ตาม สำหรับการระบาดโควิดรวมแล้ว 4 ระลอก โดยล่าสุดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เร็วมาก ซึ่งจากข้อมูลของ GSAID พบว่า การเกิดขึ้นของโอไมครอนเพียง 1 เดือนกว่า แต่จำนวนรหัสพันธุ์กรรมของโอไมครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  และในที่สุดโอไมครอน จะแทนที่สายพันธุ์เดลตาภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้  โดยขณะนี้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา มีการวินิจฉัยโอไมครอนเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ประมาณ 40-50 กว่ารายจาก 96 ราย  แสดงว่าจะเริ่มแบ่งพื้นที่ครอบครองในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว  

"แม้จุดกำเนิดจะมาจากจุดเล็กๆ ในแอฟริกาใต้ แต่เมื่อไปแถบยุโรป กลับเป็นแหล่งขยายตัว และพร้อมกระจายไปทั่วโลก ดังนั้น อีก 1-2 เดือน สายพันธุ์นี้จะยึดครองทั่วโลก โดยปัจจุบันโควิดโอไมครอน/B.1.1.529 จะแยกออกเป็น   BA1 ,BA2   และ BA3  แต่ขณะนี้ยังพบมากที่สุด คือ  B. A1  ประเทศไทยก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม   จากการระบาด 4 ระลอกที่ผ่านมา และล่าสุดมีโอไมครอน เราเชื่อว่าหลังปีใหม่ ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งต้องช่วยกัน หากไม่ช่วยกัน อาจเกิดเวฟที่ 5 ได้" ศ.นพ.ยง กล่าว

ทั้งนี้ การตรวจตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ยังพบเดลตามากที่สุด  โดยห้องปฏิบัติการ(แลป) ตรวจพบโอไมครอนรายแรกในวันที่ 11 ธ.ค. หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จนระยะหลังโอไมครอนมีแนวโน้มแซงเดลตาแล้ว อย่างกราฟสีน้ำเงินคือ เดลตา สีแดงคือโอไมครอน เมื่อวานนี้เราตรวจ 96 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นโอไมครอน อีกครึ่งหนึ่งเป็นเดลตา ทั้งนี้ การตรวจพบโอไมครอนเยอะ เนื่องจากตรวจกลุ่มสงสัยที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ตรวจพบโอไมครอนค่อนข้างมาก โดยแลปตรวจพบไปแล้วนับร้อยราย แสดงว่า โอไมครอนตอนนี้อยู่ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน

0 เปิด 3 ข้อสำคัญ "โอไมครอน" 

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า กรณีมาตรการ Test and Go ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสโอไมครอนหลุดได้ ยกตัวอย่าง ครอบครัวมี 3 ราย หญิงเป็นคนไทย สามีเป็นชาวฝรั่งเศส และมีลูก 1 คน มาถึงสนามบินได้มีการตรวจเชื้อ และผลตรวจแรกด้วย RT-PCR เป็นลบในวันที่ 16 ธ.ค. ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. ไปรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนอีก 10 คน  โดยเพื่อนเกือบทุกคนติดหมด และตนได้มีโอกาสตรวจเชื้อ 1 คน และพบว่าเป็นโอไมครอน  ขณะเดียวกันหญิงชายที่กลับจากฝรั่งเศสนี้ยังเดินทางไปจ.เลย โดยเครื่องบิน  จึงมีการแจ้งที่จ.เลย ให้ตรวจเชื้อด้วย RT-PCR ซึ่งตรวจพบเชื้อทั้งหมด ดังนั้น ด้วยกระบวนการเทสต์แอนด์โก จะไม่สามารถป้องกันโอไมครอนได้เลย 

นอกจากนี้  ยังมีตัวอย่างข้าราชการระดับสูงที่ป่วย ซึ่งตนมีโอกาสตรวจเชื้อและพบว่า เป็นโอไมครอน โดยไทม์ไลน์ท่านมีการประชุมหลายแห่งมาก และไปร่วมกิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งไปร่วมรับประทานอาหารกับหน่วยราชการภายนอก ซึ่งแน่นอนว่า สงสัยว่าอาจติดจากการร่วมรับประทานอาหาร แต่กรณีนี้เมื่อมีการเดินทางไปหลายแห่ง ก็อาจมีการสัมผัสกับคนอีกจำนวนมากได้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อนี้ติดง่ายมาก

"ข้อมูลสำคัญของโอไมครอนที่ชัดเจน  3 ประการ โดยประการแรก   ติดต่อง่ายจริงหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่า จริง  เนื่องจากสายพันธุ์นี้ตัวอย่างที่เห็น นั่งเฉลิมฉลอง 11 คน มี 1 คนกลับจากฝรั่งเศส ติดเชื้อไปครบทั้ง 10 คน ประการที่สอง หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนจริงหรือไม่...ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า วัคซีน 2 เข็ม ไม่ว่ายี่ห้อใด ไม่เพียงพอในการป้องกัน จำเป็นต้องอาศัยเข็ม 3 เพื่อลดความรุนแรงของโรค และ ประการที่สาม ความรุนแรงของโรค จากการศึกษาความรุนแรงของโรคลดลง" ศ.นพ.ยง กล่าว

0 ผลศึกษาอิสราเอลพบเข็ม 3 กระตุ้นภูมิฯพอจะป้องกันโอไมครอนได้ 3 เดือนเท่านั้น

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงการกระตุ้นเข็ม 3 ว่า  การกระตุ้นเข็ม 3 เป็นสิ่งจำเป็นมาก เดิมให้รอ 6 เดือนแต่ตอนนี้ต้องเร็วที่สุด โดยบุคลากรการแพทย์หรือด่านหน้าได้เข็ม 3 มาแล้ว มีการศึกษาในอิสราเอลพบว่า  เข็ม 3 จะมีภูมิคุ้มกันสูงพอปกป้องได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งอิสราเอลกำลังพิจารณาเข็ม 4 แล้ว โดยชัดเจนว่าภูมิฯต้องสูงเท่านั้น จึงจะต่อต้านโอไมครอนได้  ทั้งนี้  จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญฯ จุฬา ที่ตีพิมพ์ในวารสารวัคซีน โดยการให้วัคซีนเข็ม 3 หลังจากรับวัคซีนเชื้อตายหรือซิโนแวค  2 เข็มด้วยแอสตร้าฯ จะมีภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก 

0 ส่วนอาการข้างเคียงแอสตร้าเข็มแรกมากสุด ส่วนmRNA เข็มสองมีอาการมากกว่า

เมื่อมีการเปรียบเทียบการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในแต่ละชนิด ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารวัคซีนฯพบว่า หากฉีดเชื้อตายมาก่อนและกระตุ้นด้วยเชื้อตาย หรือกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ผลเป็นอย่างไร โดยกรณีผลข้างเคียงจะพบว่า เชื้อตายอาการข้างเคียงต่ำสุด และแอสตร้าฯ เข็มแรกอาการข้างเคียงมากที่สุด มากกว่าเข็มที่สอง ส่วนmRNa ส่วนใหญ่เข็มแรกจะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข็มที่ 2 ดังนั้น การฉีด mRNA เข็มสองจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าเข็มแรก

ส่วนเรื่องภูมิต้านทาน หากเป็นเชื้อตายกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยเชื้อตายกันเอง ภูมิฯจะขึ้นประมาณ 10 เท่า แต่หากใช้แอสตร้าฯ เป็นตัวกระตุ้น ภูมิฯจะขึ้นเกือบ 100 เท่า แต่ถ้าเป็น mRNA ภูมิฯจะขึ้นสูงเกือบ 200 เท่า  ดังนั้น  ไม่ว่าวัคซีนไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA จะป้องกันโอไมครอนได้  ส่วนการลดลงของภูมิต้านทาน ในไวรัลแวกเตอร์ เปรียบเทียบ mRNA จะพบว่า mRNA จะลดลงเร็วกว่าไวรัลแวกเตอร์
0 ชี้ระยะห่างเข็ม 3 ต่อจากเข็ม 2 ต้องพอเหมาะ ประมาณ 3 เดือนต้องกระตุ้น

สำหรับระยะห่างของวัคซีนเข็ม 3 เราพบว่า ระยะห่างยิ่งห่างยิ่งดี แต่ห่างเกินไปก็เสี่ยงติดเชื้อระหว่างที่รอ เดิมเราจะให้ 6 เดือน แต่ขณะนี้โอไมครอนแพร่เร็ว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้กระตุ้นเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3 เดือน   อย่างไรก็ตาม ชนิดและโดสที่จะให้ในการกระตุ้นเข็ม 3 มีความสำคัญอย่างไร ถ้าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม เปรียบเทียบกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ภูมิฯจะขึ้นประมาณ 10 แต่หากกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ จะกระตุ้นภูมิฯเกือบ 80 เท่าหรือเกือบ 100 เท่า แต่ถ้ากระตุ้นด้วยไฟเซอร์หรือ mRNA ไม่ว่าจะเต็มหรือครึ่งโดส จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมากไปอีก แต่ภูมิฯไหนยิ่งขึ้นสูงก็จะลงเร็ว โดยทั่วไปไม่ว่าภูมิจะสูงแค่ไหนจะมีจุดตัดที่ 3-4 เดือน แต่ mRNA จะลงเร็วกว่า

0 เตรียมศึกษาวัคซีนทริปเปิลเอ ของแอสตร้าฯ 

"ดังนั้น คนที่ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มและบูสด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ภูมิจะขึ้นดีมาก ขณะนี้เรากำลังรอและจะศึกษากลุ่มทริปเปิลเอ คือ แอสตร้า 3 เข็ม เพื่อให้เห็นว่า ผลเป็นอย่างไร  ขณะนี้กำลังรอคณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบอยู่" ศ.นพ.ยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้วัคซีนทริปเปิลเอ หรือ AZ+AZ+Az สามารถให้ได้หรือไม่ ส่วนตัวว่าได้ แต่ระยะห่างการฉีดต้องเหมาะสม ใกล้มากไม่ดี แต่ห่างมากก็เสี่ยงติดเชื้อแทรกตรงกลางได้ โดยเข็ม 1 ของแอสตร้าฯกับเข็ม 2 พบว่า หากให้ห่างเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ภูมิจะสูงขึ้น แต่หากยิ่งห่างไป 12 สัปดาห์ก็จะยิ่งดี เพียงแต่เรากลัวการติดเชื้อระหว่างรอ ส่วนการฉีด 3 เข็ม มีข้อมูลว่า หากฉีด 3 เข็มของแอสตร้า พบว่า เข็มแรกจะมีอาการข้างเคียงมากที่สุด ส่วนเข็ม 2 และ 3 อาการข้างเคียงมีแนวโน้มลดลง โดยเข็ม 2 และ 3 แตกต่างไม่ชัดเจน แต่โดยหลักการอาการข้างเคียงจะลดลงเรื่อยๆ 

"ทำนองเดียวกันหากมาดูไฟเซอร์ฉีด 3 เข็มก็ไม่ได้กระตุ้นสูงกับการสลับวัคซีน  อย่างไรก็ตาม เรากำลังศึกษากลุ่มฉีดวัคซีนสลับ คือ ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็มสอง โดยจะศึกษาการกระตุ้นด้วยแอสตร้า กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และกระตุ้นด้วยโมเดอร์นา ว่าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร  คาดว่าเดือนหน้าผลจะออกมาและวิเคราะห์ได้ทั้งหมด" ศ.นพ.ยง กล่าว  

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan