ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จับมือ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ร่วมกันเฝ้าระวังการได้รับรังสีในระหว่างฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาจากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตนักรังสีเทคนิคในประเทศไทย

วันนี้ (29 ธันวาคม 2564) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จัดพิธีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย เพื่อให้มีความร่วมมือในการศึกษาวิจัย การฝึกอบรมด้านรังสีวิทยา และเฝ้าระวังการได้รับรังสีของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรรังสีเทคนิค ที่ฝึกปฏิบัติงานด้านรังสี ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ที่เปิดสอนหลักสูตรรังสีเทคนิค เนื่องจากมีความเสี่ยง  ที่จะได้รับค่าปริมาณรังสีสูงเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ในระหว่างการฝึกปฏิบัติงานด้านรังสี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นจึงได้มีความร่วมมือกันทั้งทางด้านวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2569 เพื่อเฝ้าระวังการได้รับรังสีของนักศึกษา โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นหน่วยบริการในการจัดเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์วัดรังสีบุคคลของนักศึกษา จำนวน 4 ครั้งต่อ 1 ปีการศึกษา รายงานผลเป็นรายเดือน และจัดทำสรุปผลประเมินความเสี่ยงการได้รับรังสีของนักศึกษา  ในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้หากพบว่านักศึกษาได้รับค่าปริมาณรังสีสูงเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์             

“นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนของนักศึกษาร่วมกัน การพัฒนาและแลกเปลี่ยนบุคลากรในด้านการศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอันตรายจากรังสี อีกทั้งทางสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จะให้มีการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ หรือมอบทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกแก่บุคลากร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย ซึ่งความสำเร็จของการร่วมมือกันครั้งนี้จะส่งผลดีในการผลิตบัณฑิตนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ ซึ่งพบว่ายังมีความขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัย       

จึงต้องการนักรังสีเทคนิคในการควบคุมการใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วย ตลอดทั้งได้รับผลการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ เกิดประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว