ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำสายพันธุ์ระบาดในไทยตอนนี้ยังเป็นเดลตา ส่วน ATK  ใช้ตรวจหาเชื้อโควิดได้หมด ไม่มีจำเพาะโอมิครอน ย้ำวิธีมาตรฐานโฮมยูสใช้ปั่นจมูก 2 ข้าง ยังไม่จำเป็นต้องแยงจุดอื่น อย่าแยงคอหรือต่อมทอนซิล หวังเพิ่มโอกาสเจอเชื้อ แต่อันตราย ขอปชช.อย่าแพนิค ทุกสายพันธุ์ป้องกัน รักษาแบบเดียวกัน  

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ด้วยชุดตรวจ ATK ว่า ชุดตรวจที่ผ่านการประเมินการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้นมีการกำหนดมาตรฐานความไวอยู่ที่ 90 % และความจำเพาะ 98% ดังนั้นถึงไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์บ้างแต่ยังสามารถตรวจเจอเชื้อได้ ทั้งอัลฟา เดลตา และโอมิครอน ทั้งนี้วิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานของ ATK ชนิดที่ประชาชนใช้เอง หรือ Home Use นั้น คือการแยงจมูกราว ๆ 2-3 เซนติเมตร ปั่นข้างละ 5-6 รอบ แล้วตรวจด้วยน้ำยาที่มากับชุดตรวจ นี่คือวิธีมาตรฐานที่ปฏิบัติ ยังไม่มีที่ไหนนำไปตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ใครที่จะทำพิสดารนอกเหนือจากนั้นคงแล้วแต่ แต่ถ้าวิธีมาตรฐานคือแยงจมูก  

เมื่อถามว่ามีคนออกมาแนะนำว่าให้นำ ATK ชนิดแยงจมูกมาแยงต่อมทอนซิลก่อนแยงจมูกจะเพิ่มโอกาสในการเจอเชื้อมากกว่า นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยหลักการช่องคอ กับโพรงจมูก เป็นช่องเดียวกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนี้กับชุดตรวจโฮมยูส เพราะเสี่ยงเป็นอันตรายอย่างอื่นได้ การเอามาแยงคอ แยงต่อมท่อนซิลต้องคิดให้มาก 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ถ้าพูดถึงสัดส่วนของเชื้อที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังบอกได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันเรามีการตรวจสายพันธุ์ในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศราย ทำให้เจอสายพันธุ์โอมิครอนเยอะ แต่การติดเชื้อในประเทศไม่ได้มีการตรวจสายพันธุ์มากนัก หลักๆ  ตอนนี้โอมิครอนเจออยู่ประมาณ 3 พันราย ดังนั้น สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศไทยตอนนี้สายพันธุ์หลักยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตามากกว่าโอมิครอน แต่แนวโน้มโอมิครอนเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่ต้องไปแยกว่าเป็นสายพันธุ์ไหน เพราะการป้องกัน การรักษายังเหมือนกันทุกสายพันธุ์ ไม่ใช่ว่าถ้าติดโอมิครอนแล้วไม่รุนแรง แล้วสบายใจ 

“ไม่อยากให้คนแพนิค แต่อยากให้เข้าใจมาตรการจัดการแบบใหม่ เข้าใจว่าคนที่ติดเชื้อก็อยากจะเข้ารพ. แต่หากเป็นเช่นนั้น คนที่ไม่มีอาการหรือไม่จำเป็นจะกลายไปแย่งตียงของคนที่มีอาการจำเป็นต้องรักษาในรพ.ได้ ดังนั้นวันนี้ คนที่ไม่มีอาการก็ให้รักษาที่บ้าน หรือชุมชน (HI/CI) แต่ต้องมีคนติดตามอาการต่อเนื่อง หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้ขึ้นสูง ก็ต้องหาหมอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว 
 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org