ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มคึกคักขึ้นได้เพียง 2 เดือน ภูเก็ตก็กลับมามีชื่อติดหนึ่งใน 10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดของประเทศพร้อมทำสถิตินิวไฮอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะพุ่งไม่หยุดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 5 ที่มาพร้อมกับสายพันธุ์โอมิครอนและต้องเจอกับความท้าทายสำคัญในการรองรับผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

ข้อมูลณ วันที่ 7 ม.ค. 2564 ภูเก็ตมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 537 แยกเป็นในประเทศ 385 คน โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 70 คน และ Test&Go อีก 82 คน โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสมในช่วง 15 ธ.ค.-7 ม.ค. ทั้งหมด 234 คน ขณะอัตราการครองเตียงล่าสุดอยู่ที่เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์จริงขณะนี้ปริมาณเตียงถือว่าไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงกว่าเมื่อ 2-3 เดือนก่อนอีกเท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ระบบการดูแลรักษาของจังหวัดจะแยกระหว่างคนไทยกับต่างชาติอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีของนักท่องเที่ยวถ้าเป็นผู้ป่วยคือกลุ่มที่มีอาการจะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลักและเอกชน ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะเข้ารักษาตัวใน Hospitel หรือ Hotel Isolation (โรงแรมกักตัว) แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากปริมาณห้องของสถานที่ทั้งสองประเภทไม่เหมือนเดิมและหายากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็เริ่มเต็ม ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่ตรวจพบเชื้อบางส่วนไม่สามารถย้ายไปรักษาตัว ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 วันได้

“ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยอะขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนทำให้อัตราการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา แต่สถานที่ที่จะใช้เป็น Hospitel หรือ Hotel Isolation มีน้อยลงเนื่องจากโรงแรมต่างเริ่มกลับมาเปิดบริการปกติ แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมมือช่วยกันจัดหาเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้มีอยู่ในมือประมาณ 600 ห้อง แต่ก็ยังไม่สามารถขยายได้เต็มจำนวนในทีเดียว เพราะต้องปรับสภาพภายในให้เหมาะสมตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และยังคงขยายเพิ่มเรื่อยๆ”

(นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล)

นอกจากนี้ก็ยังมีการแก้ปัญหาอีกหนึ่งแนวทางด้วยการใช้ห้องพักเดิมในโรงแรมเป็นสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อต่อได้เลย หรือ Hotel Room Isolation บนเงื่อนของสาธารณสุข เช่น ห้องพักผู้ป่วยต้องเป็นห้องปรับอากาศแยกส่วนหรือไม่เป็นระบบท่อส่งลมเย็นร่วม มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน มีระบบจัดการขยะ มีโรงพยาบาลคู่สัญญาไปดูแล เป็นต้น เหมือนกับ Hotel Isolation เพียงแต่กลุ่มนี้จะรับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่เป็นแขกของโรงแรมอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มีโรงแรงที่ยื่นสมัครเข้ามาแล้วกว่า 100 โรงแรม

แนวทางที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้อธิบาย ทำให้เห็นว่าขฯนี้ตอนนี้นอกจากโรงพยาบาลหลักและเอกชนแล้ว ภูเก็ตมีอีก 3 ระบบ คือ Hospitel, Hotel Isolation และ Hotel Room ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ เนื่องจากช่วงนี้มีอัตราผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยว 80-100 คนต่อวัน ต้องใช้เวลารักษา 10 วันต้องใช้ห้อง 800-1000 ห้อง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ปัญหาในช่วงนี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังมีความหนาแน่นทำให้การขยับขยายยังไม่เพียงพอ แต่หลังจากระงับ Test&Go แล้ว ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาหลังวันที่ 15 ม.ค.นี้ก็มีแนวโน้มลดลงบวกกับการขยายห้องพักรักษาของทั้ง 3 ระบบที่รองรับนักท่องเที่ยวติดเชื้อก็สามารถรองรับได้เพียงพอและไม่เกิดสถานการณ์วิกฤตจนรับไม่ไหว” สสจ.ภูเก็ตชี้แจง

ส่วนผู้ติดเชื้อคนไทยที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่านั้น นพ.กู้ศักดิ์ เผยว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการเช่นกัน จึงเน้นการรักษาในระบบ HI อย่างไรก็ตามยังมีบางส่วนที่อยากรักษาตัวในโรงพยาบาลและแจ้งว่ามีอาการแต่เมื่อไปตรวจจริงกลับพบว่าไม่มีอาการ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของระบบประกันที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลถึงจะเบิกได้ ซึ่งจะเป็นการแย่งสิทธิ์การครองเตียงกับผู้มีอาการ

“เมื่อโทรไปโรงพยาบาลตอนนี้อาจจะได้คำตอบว่าเตียงเต็ม ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องกันเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ หรือผู้ป่วยที่ดูแลอยู่ที่บ้านและอาจมีอาการขึ้นมา รวมไปถึงต้องสำรองไว้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด ดังนั้นกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียวจะเน้นการรักษาที่บ้านเป็นหลักในตอนนี้”

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของบางครอบครัวไม่เหมาะกับการทำเป็น HI จึงต้องเข้า Community Isolation (CI) หรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งนพ.กู้ศักดิ์ ยอมรับว่ายังมีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากสถานที่เดิมได้ปิดไปแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมจากการมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นที่เคยช่วยจัดหา CI ให้เริ่มขยับขยายลำบากในแง่ของโรงแรมที่เคยใช้กลับมาเปิดบริการ แม้จะมีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าหลังปีใหม่ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นแน่นอนและมีการเตรียมความพร้อมไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

ล่าสุด ภูเก็ตกลับมาเปิดคลินิกอุ่นใจเพื่อให้ประชาชนเข้ามาปรึกษาประสานงานหากตรวจ ATK เป็นบวกพร้อมขยายโรงพยาบาลสนามที่ 2 แล้วโดยสามารถรับได้ 200 กว่าเตียงและเพิ่งรับไป 60 กว่า แต่ก็ไม่ได้รับผู้ที่มีผลเป็นบวกทั้งหมด เนื่องจากแนวทางตอนนี้หากตรวจ ATK เจอแล้วไม่มีอาการจะให้รักษาอยู่บ้านให้ยากินเป็นหลัก ไม่ต้อง RT-PCR แต่ถ้ามีอาการสามารถติดต่อประสานงาน เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามหรือ CI ต่อไป

นพ.กู้ศักดิ์ ยืนยันว่าภาคประชาชนยังรับมือได้อยู่ แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่อยากให้ทำความเข้าในในการใช้ระบบรักษาตัวที่บ้าน (HI) สำหรับกลุ่มสีเขียว หลังจากการเข้ามาของโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายรวดเร็วแต่ไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งอนาคตก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยพ้นเวฟนี้น่าจะเห็นภาพในระดับหนึ่งแล้ว