ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.สั่งกรมควบคุมโรคปรับนิยามกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ เหตุบางกรณีกักตัวนานกว่าคนติดเชื้อ พร้อมลดปัญหาสูญเสียกำลังบุคลากรสาธารณสุขกรณีสัมผัสผู้ป่วย ไม่ติดเชื้อ แต่ต้องหยุดนาน  อาจลดจำนวนวันกักตัวลง  และเพิ่มมาตรการเข้มขึ้น ขณะที่อธิบดีคร. เผยบุคลากรติดเชื้อวันละ 30-40 คน บางรพ.ปิดแผนก สูญเสียกำลังคน ขอทุกรพ. และบุคลากรเคร่งครัดสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต่างคนต่างกินข้าว อย่าทานร่วมกัน ชี้พบว่าที่ผ่านมาพบการติดเชื้อในบุคลากรมาจากเรื่องเดิม คือ ทานอาหารร่วมกัน

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงข้อกังวลในการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ได้กำชับมาตรการป้องกันโรคโควิดเพิ่มเติมในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อเพิ่ม บุคลากรก็จะเป็นด่านหน้าที่ต้องระมัดระวัง เพราะหากป่วยมากขึ้นนอกจากตัวเองที่ป่วยต้องหยุดปฏิบัติงานแล้ว กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำก็จะต้องมีมาตรการรองรับ ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงมีการกักตัวนานกว่าคนป่วยเสียอีก ซึ่งตรงนี้ต้องมีคำนิยามเรื่องกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ต้องให้ชัดเจนขึ้น โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการเรื่องนี้  อย่างกลุ่มเสี่ยงอาจให้มีการกักตัวสั้นลงอาจะเป็น 7 วัน แต่ต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อลดการเสียกำลังในบุคลากรสาธารณสุข เพราะบุคลากรเป็นกลุ่มสำคัญในการดูแลรักษาประชาชนที่ติดเชื้อ จึงต้องเตรียมพร้อมให้ดี

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า หากเทียบการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสูงสุดกว่า 100 คน ในขณะที่เดือน ม.ค. 2565 มีการระบาดของโอมิครอนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดวันละ 30-40 ราย ถือว่ามากพอควร ซึ่งเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คือ มีการติดเชื้อจากที่บ้านมีกิจกรรมร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน จากนั้นก็มาแพร่เชื้อต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีการกินอาหารร่วมกัน และไม่ใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น จึงขอย้ำมาตรการในหน่วยงานเคร่งครัดมากขึ้น คือ ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารร่วมกัน ให้ต่างคนต่างกิน และตรวจ ATK เป็นระยะอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือตรวจเมื่อมีอาการ รวมทั้งหากมีอาการเป็นไข้หวัดก็ไม่ต้องมา พร้อมทั้งที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนเข็ม 4 โดยบุคลากรที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไปแล้ว 3 เดือนให้มาฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

“ขณะนี้มีโรงพยาบาลบางแห่งปิดบางแผนก ซึ่งเราไม่ได้อยากให้ปิด จึงขอให้เคร่งครัดมาตรการ เพื่อจะได้ให้บริการแก่ประชาชน และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เรามีมาตรการต่างๆ รองรับ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org