ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อัปเดตสถานการณ์โอมิครอนตรวจพบในไทย 2 เดือนกว่า 5.3 พันราย ครอบคุลม 71 จ. มีเพียง 6 จ.ยังไม่มีรายงาน พร้อมเปิด 10 จังหวัดพบเกิน 100 ราย ย้ำ! ชุดตรวจ ATK พบเชื้อได้หมด ไม่จำเพาะแค่ Omicron ส่วนกรณี “เดลตาครอน” จากข้อมูลไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน ว่า สำหรับการติดตามโอมิครอนมาเกือบ 2 เดือน ขณะนี้พบเชื้อโอมิครอน 5,397 ราย ในวันก่อนหน้าพบอีก 715 รายครบทุกเขตสุขภาพ ครอบคลุมใน 71 จังหวัด มีเพียง 6 จังหวัดที่ ไม่มีรายงาน คือน่าน ตาก ชัยนาท อ่างทอง พังงาและนราธิวาส ส่วน 10 จังหวัดที่พบโอมิครอนเกิน 100 ราย คือ กทม.1,820 ราย ติดในประเทศ 270 ราย ชลบุรี 521 ราย ติดในประเทศ 295ราย ภูเก็ต 288 รายติดในประเทศ 17 ราย กาฬสินธุ์ 249 ราย ติดในประเทศ 247 ราย ร้อยเอ็ด 237 ราย ติดในประเทศ 237 ราย สมุทรปราการ 222 รายติดในประเทศ 27ราย สุราษฎร์านี 199 ราย ติดในประเทศ 19 ราย มหาสารคาม 163 รายติดในประเทศ 163ราย อุดรธานี 149 รายติดในประเทศ 149 ราย และขอนแก่น 136 ราย ติดในประเทศ 136 ราย

“ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศแล้วตรวจพบเชื้อนั้น 90 % เป็นโอมิครอน ส่วนที่ติดในประเทศราว 58% นั้นเป็นการตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจสูงเกินจริง จึงได้มอบหมายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ ปรับการตรวจด้วยการสุ่มตรวจสายพันธุ์สัปดาห์ละ 140 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้สัดส่วนสถานการณ์โอมิครอนจริง ทั้งนี้ การตรวจสายพันธุ์ผู้ติดเชื้ออาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสายพันธุ์ไหนเพราะไม่ว่าพันธุ์ก็รักษาเหมือนกัน แต่การตรวจพันธุ์เพื่อให้รู้สถานการณ์ และวันนึงที่โอมิครอนครอบคลุม 80-90 % อาจจะลดการตรวจสายพันธุ์ลง” นพ.ศุภกิจกล่าว

00 ชุด ATK ตรวจได้ทุกสายพันธุ์

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า กรณีชุดตรวจATK กรมได้ดำเนินการสุ่มทดสอบความใช้ได้ของชุดตรวจATKสำหรับตรวจโอมิครอน พบว่าทั้งหมดสามารถตรวจจับเชื้อโอมิครอนได้ และไม่มีชุดตรวจATKที่สามารถตรวจโอมิครอนได้เฉพาะ ถ้าตลาดมีการโฆษณาว่าตรวจโอมิครอนได้ก็เป็นของเก๊

00 เดลตาครอน ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีมีรายงานเรื่องเดลตาครอน อยากจะทำความเข้าใจว่า กรมได้หารือกับGSAID มีรายงาน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ไซปรัส ส่งข้อมูลไปที่จีเสส (GISAID) โดยเป็นข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบว่าใน 24 ตัวอย่างว่ามีการกลายพันธุ์ทั้งในส่วนที่เป็นเดลตา และโอมิครอนอยู่ด้วยกัน แต่จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ว่าส่วนที่เป็น เดลตามีความแตกต่างกันไป

“ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ จะต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกันไม่ใช่ตรวจ แล้วมีแค่ฟากเดียวที่มีความแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่ไซปรัส สรุปว่า GISAID ยังจัดชั้นการค้นพบ 24 รายนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด”นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นโอกาสที่จะเกิดได้มากที่สุดคือเป็นเรื่องของการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจ คือติดเชื้อเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน อีกหนึ่งอย่างที่อาจจะเป็นไปได้แต่ไม่มากคือการติด 2 สายพันธุ์ในคนเเดียวซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะ 24 ตัวอย่างที่มาพร้อมกันจะเป็นการติดต่อ 2 สายพันธุ์นั้นเป็นไปได้น้อย แทบจะไม่มีโอกาสได้เลย ถ้าซื้อหวยก็ฟันธงได้เลยว่าที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสมเป็น Hybrid นั้นโอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแรคเตอร์ที่เจอ แต่กรมวิทยฯ ก็จะติดตามข้อมูลต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org