ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

30 บาทรักษาทุกที่ ควรก้าวไปสู่....ทุกคนบนพื้นแผ่นดินไทยมีข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันทุกที่ 

นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน์ กล่าวว่า จากนโยบายการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกุล ที่มุ่งมั่นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น สู่โครงการบัตรทองรักษาทุกที่อันประกอบด้วยการปรับบริการ 4 ประเภท ดังนี้ 1.การไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 2. บริการผู้ป่วยในไม่ต้องมีใบส่งตัว 3. การไปรักษามะเร็งที่รพ.ไหนก็ได้ที่พร้อม และ 4. การเปลี่ยนหน่วยบริการได้รับสิทธิ์ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน ซึ่งจากการประเมินผลเบื้องต้นได้รับความพึงพอใจจากประชาชนอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตามการไปรักษาที่ไหนก็ได้ มีสิ่งที่จะต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ทางสุขภาพได้ดีขึ้น คือ 1. การมีข้อมูลที่ใช้ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ 2. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัวที่เข้มแข็ง ดังนี้ (ตามภาพประกอบ)

การมีระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานกลาง (Standard data set) ที่กำหนดมาใช้ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องหลักทั้ง 4 ฝ่าย ( 4 P : Provider ,Policy maker ,Payer People or Patient) ดังนี้ 1. ผู้จัดบริการ (Provider) หรือเรียกง่ายๆว่าข้อมูลที่ใช้ระหว่างแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพของแต่ละรพ. ทั้งภาครัฐต่างสังกัด หรือเอกชนที่มีโครงสร้างข้อมูลที่ใช้เชื่อมโยงกันในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ 2.ผู้กำหนด และบริหารนโยบาย (Policy Maker)

ใช้เพื่อติดตามประเมินผลด้านต่างๆ และตัดสินใจเชิงนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีมาตรฐาน และทันเหตุการณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน 3.ผู้จ่าย (Payer or Purchaser) ของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพที่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน สามารถตรวจสอบ มีการบริหารการจ่ายได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ 4.ประชาชน ผู้ป่วย และชุมชน (People ,Patients and Community) ได้รับการคืน

ข้อมูลด้วยรูปแบบที่เหมาะสม เข้าใจได้ง่ายตามกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นระบบเดิม หรือระบบดิจิทัลในกลุ่มที่มีความพร้อม เช่น สามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smart phone) หรืออุปกรณ์พกพาติดตัวผู้ป่วยหรือที่เรียกว่า (Wearable device) ที่ใช้บันทึกข้อมูลสุขภาพ และเชื่อมโยงกับแพทย์ได้อย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลการออกกำลังกาย ความดันโลหิต ชีพจร ระดับน้ำตาลในเลือด ทีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมแล้วในประเทศไต้หวัน และสิงคโปร์ เป็นต้น

ซึ่งจะเป็นการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ให้ประชาชน หรือผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการวางแผนดูแลสุขภาพ (Share care plan) ของตนเอง และสมาชิกของครอบครัว และเป็นการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Practical Health Literacy) ภาคปฏิบัติอีกด้วยโดยเฉพาะยิ่งในการปรับพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวันที่มีผลต่อการดูแลโรคเรื้อรังด้วยตนเอง (Self-management) นอกจากนี้การคืนข้อมูลสู่ชุมชน หรือท้องถิ่นก็สามารถสร้างการเรียนรู้ความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพ (Social Determinants of Health : SDOH) เช่น สิ่งแวดล้อมทางน้ำ อากาศ อาชีวอนามัย ระบบกฎหมาย เป็นต้น

จากนิยาม ของพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 มาตรา 3 บริการสุขภาพปฐมภูมิ ” หมายความว่า บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มุ่งหมาย ดูแลสุขภาพของบุคคลในเขตพื้นที่รับผิดชอบในลักษณะองค์รวม ตั้งแต่แรก ต่อเนื่อง และผสมผสาน ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ

โดยหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งเชื่อมโยงกับครอบครัว ชุมชน และบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ” แต่อย่างไรก็ตามด้วยบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปทำให้มีประชาชนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม และบริการ ร่วมไปถึงผู้ที่ทำงานภาคเกษตรที่มารับจ้างในเขตเมืองในช่วงนอกฤดูทำการเกษตร

จึงทำให้มีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ เกิดข้อจำกัดในการไปใช้บริการประจำได้ ซึ่งนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่จึงเป็นการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ควรมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือนโยบาย 3 หมอที่จะเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมระหว่างแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ กับตัวผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมทุกกลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ป่วยที่มารักษาประจำ 2. กลุ่มที่ถูกส่งตัวไปรักษาต่อหน่วยบริการอื่น 3 กลุ่มที่ข้ามหน่วยบริการของตนไปรักษาที่อื่นเอง ตามเหตุสมควรต่างๆ เพื่อใช้วางแผนการดูแลที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หรือ ตามเส้นทางของผู้ป่วย (Patient centered care or Patient journey) ได้ดีขึ้น ร่วมไปถึงการเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ ทางสังคม ชุมชนของผู้ป่วย เช่น การปรับสภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย การสงเคราะห์ด้านต่างๆ ทีมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เป็นต้น

ดังนั้นการต่อยอดระบบหลักประกันสุขภาพไทยที่ควรเร่งรัดตามแผนระดับต่างๆของประเทศและการผลักดันเชิงนโยบายจำเป็นต้องพัฒนาระบบข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้ร่วมกันทุกฝ่าย และการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็งเพื่อหลักประกันสุขภาพที่ดี และยั่งยืนมีไว้ให้ประชาชน   

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข. (2557). การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข [Internet] . 1 [cited 2021Dec31]. Available from: https://spo.moph.go.th/web/dict/images/content_web/develpe_data57.pdf.

Healthfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ . Available from : https://www.hfocus.org/content/2021/12/23992

National Health Insurance in Taiwan. (2020). Digitalization of Medical Information [Internet] . 1 [cited 2021Dec31]. Available from: https://www.nhi.gov.tw/English/Content_List.aspx?n=F083F4F3605179D1

Govinsider.asia. Available from: https://govinsider.asia/citizen-centric/how-singapore-is-using-wearables-to-design-health-campaigns-hpb/