ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบจัดซื้ออุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 30 ชุด วงเงินไม่เกิน 18 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษ แทนการจ่ายเป็นเงินให้โรงพยาบาล สาเหตุเพราะโรงพยาบาลจัดซื้อครั้งละชุด จึงไม่สามารถทำราคาให้ต่ำกว่าวงเงินที่ สปสช. กำหนดไว้ได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 6 ม.ค.2565 ที่มี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์การจ่ายรายการอุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 จากการจ่ายเป็นเงิน เป็นการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษ

และยังเห็นชอบให้เพิ่มเติมการจัดหารายการชุดประสาทหูเทียม เป็นรายการตามแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2565จำนวน 30 ชุด วงเงินไม่เกิน 18 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ สปสช. จะแจ้งไปยังเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียมต่อไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่มาของการมีมติปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากในปี 2563 บอร์ด สปสช. เคยมีมติเห็นชอบให้อุปกรณ์ประสาทหูเทียม ชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดราคาจ่ายชุดละ 300,000 บาท โดยประมาณการจำนวนการใช้ตามโครงการคัดกรองในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยงอาจถึง 1,000 คน

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือขอให้ สปสช.พิจารณาการจัดหาและราคาชุด ประสาทหูเทียม เพราะหน่วยบริการไม่สามารถจัดหาในราคาดังกล่าวได้ เนื่องจากการจัดซื้อครั้งละชุดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อเดือน พ.ย. 2564 เพื่อเพิ่มเติมการจัดหารายการชุดประสาทหูเทียม ให้เป็นรายการที่กำหนดอยู่ในแผนและวงเงินการจัดหาตามโครงการพิเศษ โดยอ้างอิงราคาจากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ค่าอุปกรณ์ประสาทหูเทียมไม่เกิน 600,000 บาทต่อชุด

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนอุปกรณ์ที่จัดซื้อ 30 ชุด คำนวนจากจำนวนเด็กเกิดมีชีพจากฐานปี 2562 เพิ่มด้วยอัตราเกิด 1.04% ซึ่งในปี 2565 จะอยู่ที่ 602,942 คน และคาดว่าจะพบเด็กหูตึง+หูหนวก 0.03% ของกลุ่มเสี่ยง หรือ 923 คน และคาดว่าจะพบเด็กหูหนวกที่ต้องได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมประมาณ 33 คน รวมต้นทุนค่าอุปกรณ์ประสาทหูเทียม 19.8 ล้านบาท แต่เนื่องจากขณะนี้ผ่านช่วงต้นปีงบประมาณมาระยะหนึ่งจึงปรับลดจำนวนที่จะจัดซื้อเหลือ 30 ชุดในวงเงินไม่เกิน 18 ล้านบาท