ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เห็นชอบปรับพื้นที่สีสถานการณ์โควิด เดิมสีส้มทั้งหมด ปรับลดระดับเหลือ 44 จังหวัด สีเหลือง 25 จังหวัด พื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด ส่วนมาตรการอนุญาตดื่มเหล้าในร้านอาหารปรับจาก 3 ทุ่ม เป็น 5 ทุ่ม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.) กล่าวภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ที่ประชุมรับทราบและเห็นชอบการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 นอกจากนี้มีการเสนอปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยเดิมเป็นพื้นที่ควบคุมหรือสีส้มทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น จึงมีการปรับพื้นทีสีส้ม 69 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือสีเหลือง เดิมไม่มี ปรับเป็น 25 จังหวัด มีกำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ ปัตตานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ยะลา ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ส่วนพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว ยังเป็น 8 จังหวัด คือ กรุงเทพ กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต

สำหรับมาตรการรองรับการปรับสีในพื้นที่ต่างๆ อย่างพื้นที่สีส้ม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 500 คน พื้นที่สีเหลืองให้มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมมากกว่า 1,000 คน ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จัดกิจกรรมรวมกลุ่มตามความเหมาะสม ขณะที่การใช้อาคารสถานที่ในพื้นที่สีส้มและสีเหลือง ให้ใช้ได้เพื่อจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติภายใต้มาตรการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเสนอแนะว่า 3 หมื่นกว่าโรงเรียน เปิดไปแล้วเกือบ 1.8 หมื่นโรงเรียน ยังมีอีกกว่าหมื่นโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนใหญ่ นักเรียนเป็นหลักพันยังไม่สามารถเปิดได้ จากการเว้นระยะห่างของนักเรียนในชั้น จึงเป็นข้อจำกัด เพราะพื้นที่มีจำกัด ผอ.ศบค.จึงให้ไปหารือมาตรการเพื่อให้นักเรียนกลับมาเปิดเรียนได้เหมือนเดิม ซึ่งการใช้ชุดตรวจ ATK ในบางช่วงเวลาโดยไม่เป็นภาระเกินไปก็อาจช่วยได้

ส่วนร้านอาหารทั้งในและนอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด(สีเหลือง) บริโภคในร้านได้ตามกำหนดเวลา ส่วนศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม การจัดงานต่างๆ หากเป็นพื้นที่สีส้มจัดได้ไม่เกิน 1,000 คน ส่วนสีเหลืองตามความเหมาะสม ขณะที่การปรับมาตรการเรื่อง WFH เดิมให้ถึง 31 ม.ค. แต่ปัจจุบันไม่มีการขยายเวลา ให้เป็นไปตามความเหมาะสม

“ ส่วนมาตรการการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร เดิมให้ดื่มได้ถึง 21.00น. แต่มีการร้องขอจากผู้ประกอบการขอขยายเวลา โดยมีการพิจารณาขยายไม่เกิน 23.00น. ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว และว่า ที่สำคัญยังต้องมีการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting หากไม่ปฏิบัติต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับมาตรการสถานประกอบการ ที่เป็นสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ต้องการปรับเป็นร้านอาหาร ได้มีการปรับมาตรการโดยให้ขออนุญาตจากคระกรีรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. ได้เมื่อมีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา จากเดิมต้องขออนุญาตก่อนวันที่ 15 ม.ค.2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยปัจจุบันให้คำนิยาม ดังนี้ ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ PPE ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัส และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เข้าข่ายหรือยืนยันในวันเริ่มป่วย หรือก่อนมีอาการ 2-3 วัน หรืออยู่ใกล้และมีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้เข้าข่ายในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามจากผู้ป่วย นอกจากนี้ อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

“ส่วนเรื่องการกักตัวผู้เสี่ยงสูงขณะนี้ให้กักตัวเหลือ 7 วัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 วันที่ 5 และ 6 หลังสัมผัสใกล้ชิดให้ตรวจอีกครั้ง จากนั้นสามารถออกไปดำเนินชีวิตปกติได้ แต่ต้องสังเกตอาการ จากนั้น 3 วันให้ตรวจหาเชื้ออีกครั้ง”  นพ.ทวีศิลป์ กล่าว