ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณี คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เตรียมเสนอความ คืบหน้าในการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ ซึ่งเลื่อนการพิจารณาจากวันที่ 19 ม.ค. 2565 มาเป็นบ่ายวันนี้ (20 ม.ค. 2565) นั้น

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยในโครงการวิจัยสังเคราะห์ และทบทวนเพื่อพัฒนามาตรการ นำสารสกัดกัญชาใช้ทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ให้ สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า การตัดกัญชาออกจาก รายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง อย่างยิ่ง ด้วยเหตุผล 5 ประการ คือ

1. การอ้างเหตุผลว่าไม่มีคำว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติด กัญชาจึงไม่ใช่ยาเสพติด แล้วจะ ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดตัดชื่อกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษ เป็นการตรรกะที่ไม่ถูกต้อง

การที่ตัวประมวลกฎหมายยาเสพติดระบุตัวอย่างสารเสพติดในประเภทนั้น ๆ ได้เพียงบางชนิด เพราะจำนวน สารเสพติดมีมากมาย เช่น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 มีถึง 75 ชนิด แต่ประมวลกฎหมาย ยาเสพติดได้ระบุเพียง เฮโรอิน เพียงตัวอย่างเดียวในตัวกฎหมาย  

หากใช้ตรรกะเดียวกันว่า “ถ้าไม่ได้ระบุคำ ว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติด แสดงว่ากัญชาไม่เป็นยาเสพติด” จะหมายถึงว่าขณะนี้ ยาบ้า (Methamphetamine) หรือ เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งไม่ได้ระบุในประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน ก็ไม่ใช่ยาเสพติดในประเทศไทยแล้วกระนั้นหรือ

2. กัญชายังเป็นยาเสพติด และเป็นประตูสู่การเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า กัญชาก่อให้เกิดการเสพติดและ การเจ็บป่วยจากการเสพติดที่ชัดเจน แม้จะมีสารบางส่วนของกัญชาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์  

การสนับสนุน ให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ โดยยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดเป็นทางออกสายกลาง ที่ดีที่สุด ในระหว่างสองทางเลือกสุดโต่ง คือ การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดโดยไม่ใช้ประโยชน์ทางการ แพทย์เลย หรือการกำหนดให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดเลย

3. กระทรวงสาธารณสุขต้องการกำหนดให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด หรือ ช่อดอกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่กำหนดให้สารสกัดกัญชาเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด โดยยกเว้นสารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2

โดยน้ำหนักเท่านั้นที่ไม่เป็นยาเสพติด เป็นตรรกะที่ผิดและการควบคุมกระทำได้ยากในทางปฏิบัติ เช่น หากเยาวชนนำช่อดอกซึ่งระบุว่าไม่ใช่ยาเสพติดไปสูบจะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะช่อดอกกัญชาไม่ใช่ ยาเสพติด หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้สารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่เป็นยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้นั้น ยังคงสามารกำหนดให้กัญชาเป็นสาร เสพติดได้ แต่ยกเว้นสารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักไม่เป็นยาเสพติดได้ ทำเพียงแค่นี้ ประชาชนก็จะเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้มากแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปลดกัญชาออกจากการเป็นสารเสพติด 

4. การกำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเป็นยาเสพติด จะมีความยากมากในทางปฏิบัติที่จะควบคุม เพราะเป็นการยากที่จะตรวจสอบว่า ยาหรืออาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มี อยู่ในท้องตลาดหรือตามบ้าน จะมีระดับ THC ไม่เกินปริมาณดังกล่าว  

หากเยาวชนนำช่อดอกไปต้มดื่มใครจะ ทราบว่ามีปริมาณ THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักหรือไม่   หากร้านอาหารผสมช่อดอกในอาหารให้ รับประทาน ใครจะไปตามตรวจสอบอาหารทุกจานว่ามีปริมาณเกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักหรือไม่

5. กัญชาก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ครอบครัวและสังคมวงกว้าง ดังที่เห็นเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น

  • “หลอน!! ลูกพี้กัญชาจนผวาเกรงคน มาฆ่าแทงพ่อแม่เจ็บ”
  • “สลด! พ่อบังคับลูกวัย 13 ให้คนข่มขืนแลกกัญชา”
  • “พ่อทาสกัญชาประสาทหลอน ฆ่าลูก ในไส้ 1 ขวบ”

หากในอนาคตประชาชนและเด็กและเยาวชนเสพใช้กัญชา โดยเข้าใจว่ากัญชาไม่ใช่ ยาเสพติดสังคมไทยจะหายนะขนาดไหน

“ทางออกสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันจากเหตุผล 5 ประการในข้างต้น  ที่ประจักษ์ชัดว่าต้อง พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบครอบ ทั้งผลประโยชน์ด้านบวกที่ต้องการ เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางเศรษฐกิจ และความนิยมทางการเมือง และผลกระทบด้านลบที่จะตามมา เช่น การเสพติดและผลกระทบต่อเยาวชน ครอบครัวและสังคม ตลอดจนต้องมองในมิติของการควบคุมในทางปฏิบัติด้วย เช่น จะควบคุมการใช้ผิด วัตถุประสงค์ได้อย่างไร

จึงควรชะลอการกำหนดว่าจะตัดคำว่ากัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ก่อน โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฝ่ายการแพทย์และจิตแพทย์ ฝ่ายครอบครัวของเด็กและ เยาวชน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายศาสนา ฝ่ายตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ และอื่น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใน นโยบายซึ่งจะชี้อนาคตระยะยาวของประเทศไทย ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องเร่งรัดกระบวนการตัดสินใจนี้” นพ.บัณฑิต กล่าว

หลังจากมีมติจากที่ประชุมในวันนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ส. ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 29 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป

ข้อเท็จจริง แม้กัญชาสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ แต่กัญชายังเป็นยาเสพติด

ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นิยามคำว่า “ยาเสพติดให้โทษ” ให้มีความหมายว่า “สารเคมี พืช หรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพแล้วทำให้เกิดผล ต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง”

ซึ่งกัญชาเป็นพืชที่ก่อผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะดังกล่าวข้างต้นชัดเจน โดยก่อให้เกิดการ เจ็บป่วยทางจิตใจในกลุ่มผู้ใช้กัญชา ทั้งในประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก และสมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้กำหนดให้มีโรคทางจิตเวชและการเสพติดที่เรียกว่า “กลุ่มความผิดปกติที่ เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา (cannabis related disorders)” ครอบคลุมตั้งแต่การเมากัญชา ไปจนถึงการเกิด อาการวิกลจริตจากการใช้กัญชา การใช้กัญชาเกินขนาด และการเสพติดกัญชา

อีกทั้งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลกเกี่ยวกับยาเสพติด ที่มีชื่อว่า Single Convention on Narcotic Drugs เพื่อควบคุมปัญหายาเสพติดระดับโลก ข้อตกลงนี้กำหนดให้กัญชาเป็นหนึ่งในยาเสพติด ที่ต้องถูกควบคุมทั่วโลก และประเทศไทยได้ลงนามร่วมในข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว กัญชาในประเทศไทยจึงยังเป็น ยาเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   

ต่อมามีการค้นพบว่าสารบางชนิดในกัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น สารที่เราคุ้นเคย คือ CBD เป็นต้น จึงได้รับการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ให้ประเทศไทยสามารถใช้กัญชาเพื่อการรักษาและการวิจัยได้ แม้กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดก็ตาม

ต่อมามีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด ให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวล กฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

ในประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้กำหนดประเภทยาเสพติดเป็นหมวด ใหญ่ ๆ ไว้ 5 ประเภท และมีการยกตัวอย่างชื่อยาเสพติดบางชนิด ในยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ไว้ในตัวประมวล กฎหมายยาเสพติด (ทั้งนี้ไม่สามารถระบุชื่อยาเสพติดทุกประเภทได้ทั้งหมดเพราะมีจำนวนมาก) และกำหนด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส.) ประกาศกำหนด รายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทต่าง ๆ ต่อไป