ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ เผย โอมิครอนครอบคลุมทุกจังหวัดในไทยแล้ว 85% เฉพาะคนเดินทางมาจากต่างประเทศติดโอมิครอน 97% พบคนติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอน คาดสิ้นม.ค.นี้แทนเดลตา

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ที่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่เจอเชื้อโอมิครอน พบแล้วทุกพื้นที่ สะสม 17,021 ราย จังหวัดที่สูงสุดคือ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการเพิ่มขึ้น เชียงใหม่เพิ่มขึ้น 200 กว่าราย และเป็นการติดเชื้อในพื้นที่ 100 กว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ 97% เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ดังนั้นคนที่ตรวจพบผลบวกก็เชื่อได้เลยว่าเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด 

ส่วนกลุ่มในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา จะตรวจโดยตรวจกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดินทางผ่านชายแดนเข้ามาทุกราย ด้วยวิธี RT-PCR และจำนวนหนึ่งจะส่งมาถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว โดยสุ่ม 140 ตัวอย่างต่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ และครึ่งหนึ่งจะถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่นการสุ่มในภาพรวมจากผลบวกในแต่ละวัน คลัสเตอร์การระบาด กลุ่มที่ได้วัคซีนแล้ว และกลุ่มที่มีอาการเสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น 

“ข้อมูลในช่วง 11-17 ม.ค. ภาพรวมประมาณ 87% แต่เฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 97% จาก 1,437 ตัวอย่าง ขณะที่ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน 80% เดลตา 20 % เป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับการตรวจสายพันธุ์ย่อยในไทย ในกลุ่มคนทั่วไป วันนี้สัดส่วนที่เจอโอมิครอน 85% เดลตา 15 % แต่มีเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตาแน่นอน 

ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร บุคลากรการแพทย์ 25% เป็นเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 รายที่มีการติดเชื้อซ้ำ พบว่าติดเป็นโอมิครอน 100% จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดิมเป็นเดลตาจะมีภูมิสูง จะไม่ติดเดลตา แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำป็นโอมิครอนได้ สะท้อนว่าภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมป้องกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้ 

ในเชิงพื้นที่ตามเขตสุขภาพต่างๆ หลายเขตขึ้นไป 70-80% ที่เพิ่มเยอะคือเขตฯ 4,6,7 ขึ้นไปเกือบ 90% และเขตฯ 13 กทม. 86% ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน ที่เหลือลดลง แต่ที่น่าสังเกตคือเขตฯ 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า ดังนั้นพื้นที่นี้มีบลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่นไม่มีสานบันเทิง และไม่มีการรั่วมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมายทำให้ครึ่งหนึ่งเป็นเดลตา แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยโอมิครอนอยู่ดี 

จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปว่าโอมิครอนมีการระบาดเร็ว คนที่มาจากต่างประเท 97% เป็นโอมิครอน ดังนั้นจากนี้อาจจะไม่ต้องตรวจสายพันธุ์แล้ว แต่ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นโอมิครอน ส่วนในประเทศโอมิครอน 80% เดลตา 20% ส่วนผู้เสียชีวิต ยังเกิดจากเดลตาเกินค่าเฉลี่ย ดังนั้นอย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อตอนนี้เป็นโอมิครอนแล้วอาการไม่รุนแรง แต่แท้จริงอาจจะเป็นเดลตาแทนก็ได้ กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำเกิดจากโอมิครอน

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข้อมูลออกมาเรื่อย ๆ ดูข่าวนักการเมืองใหญ่บอกว่าฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อแล้วยังเป็นโอมิครอนซ้ำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโอมิครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็มอาจจะไม่เพียงพอกันการติดเชื้อ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้ภายในประเทศจะเป็นโอมิครอนเท่ากับคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดลตาจะหายไปทั้งหมด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้การตรวจพันธุ์กรรมก็อาจจะลดลง แต่ยังทำอยู่เพื่อดูว่าโอมิครอนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ อาจจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม รวมถึงเฝ้าระวังคนเดินทางมาจากต่างประเทศด้วย และแม้แต่เดลตาเดิม เราก็พบเดลต้าที่มีปัญหามากขึ้นเช่นกันจึงต้องเฝ้าระวังต่อไป ดังนั้นเรายังต้องอยู่กับโอมิครอนถ้าเขาไม่มีคามรุนแรงมากนัก ทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้นในการดำเนินการ และยังสนับสนุนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าสูตรไหนลดการระบาดของโอมิครอน ลดอาการหนักและเสียชีวิตได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org