ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. ไขข้อสงสัยการบริหารจัดการงบ  " PP fee schedule"  หลังกรณีปี 62 พบทุจริตคลินิก หน่วยบริการในกทม. ล่าสุดปรับระบบป้องกันทุตจริตในอนาคต พร้อมตรวจสอบย้อนหลังไป 10 ปี หน่วยบริการไหนไม่ทำตามข้อสัญญา ยืนยัน งบ PP ค้างจ่ายคลินิกตั้งแต่ ต.ค.ราว 30 ล้านบาท กำลังดำเนินการ เหตุต้องตรวจสอบการใช้จริงอย่างถี่ถ้วน คาด 1-2 เดือนได้ 

 

นับตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตรวจสอบพบความผิดปกติของการเบิกจ่ายเงินในหน่วยบริการ คลินิก รพ. กรณีงบบัตรทอง รวมแล้วกว่า 200 แห่งตั้งแต่ปี 2562 จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อช่วง1-2 ปีที่ผ่านมานั้น ขณะนี้เกิดคำถามว่า การดำเนินการมีความคืบหน้าถึงไหน และกรณีที่มีคลินิกในโครงการบัตรทองส่วนหนึ่งออกมาร้องว่า งบที่สปสช.ต้องให้ โดยเฉพาะงบ PP  ยังไม่ได้รับตั้งแต่ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา งบตรงนี้เป็นอย่างไร 

ผู้สื่อข่าว Hfocus  ได้มีโอกาสสัมภาษณ์  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 21  มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นั่งพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบ P&P  

 

 

คำถาม :  งบประมาณ P&P คืออะไร และมีการจัดสรรงบอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาการเบิกจ่ายไม่ตรงของหน่วยบริการ จากที่ผ่านมาพบปัญหาทุจริตปี 2562  

ตอบ :   งบ P&P  เป็นงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ หรือ National priority program and central procurement    ปัจจุบันเราได้จัดสรรให้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม ข้าราชการ มีสิทธิทุกคน   โดยหลักๆ จะเป็นงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ อย่างกลุ่มวัคซีน คือ 1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza: Flu) สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ 2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (Human Papillomavirus: HPV) และ 3. วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วง) รวมถึงอีกส่วนคือ การคัดกรองเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯ เป็นต้น สุดท้ายจะเป็นเรื่องของการบริการให้คำแนะนำเรื่องความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น  

"สำหรับปัญหาคลินิกในกทม. ที่เคยตรวจสอบพบความผิดปกตินั้นพบว่า เมื่อมีการเบิกจ่ายไปแล้ว  แต่พบว่า ไม่ได้ให้บริการตามจริง โดยมีการตรวจสอบและพบว่า ตรวจสุขภาพตามนี้และนำมาขอเบิก แต่เมื่อสอบถามทางประชาชนกลับพบว่า ไม่มีการตรวจจริง จึงเป็นที่มาของประเด็นข่าวในปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเราก็มีการตรวจสอบจนพบความผิดปกติขึ้น และขณะนี้เราก็ดำเนินการตามคดี ตามขั้นตอนอยู่" 

 

คำถาม :   หลังจากประเด็นก่อนหน้านี้ที่ตรวจสอบพบคลินิกส่วนหนึ่งทุจริตงบฯในกทม.ปัจจุบันพบเพิ่มหรือไม่ และตจว.ปริมณฑลเป็นอย่างไร

ตอบ  :     ตั้งแต่ปี 2562   เกิดปัญหาในกทม. พบคลินิกเอกชนว่ามีการเบิกจ่ายที่ผิดปกติ จึงนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีทุจริตของคลินิกรวม 189 แห่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเรียกความเสียหายคืนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการที่เบิกผิดไป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ซึ่งส่วนมากพบในพื้นที่กทม. แต่จริงๆแล้วไม่ใช่แค่คลินิก เพราะมีทั้ง โรงพยาบาลด้วย 22 แห่ง และ คลินิกทันตกรรมอีก 77 แห่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดีความ แต่ไม่ใช่แค่นี้ เพราะขณะนี้ทางสปสช.กำลังตรวจสอบย้อนหลังไปไกลกว่านั้นเป็น 10 ปี ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ เนื่องจากต้องมีบุคลากรมาช่วยดำเนินการ มีพยาบาลเข้ามาช่วย ในปี 2562 เราต้องให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่มาช่วยร่วม 200 คน แต่ด้วยติดสถานการณ์โควิดจึงทำไม่ได้ แต่ขณะนี้จะเริ่มทยอยทำ ร่วมกับใช้ระบบ AI มาช่วยอีกทาง

ซึ่งสิ่งที่เราทำตอนนี้ เป็นการทำตามข้อสั่งการของบอร์ด สปสช. โดยให้เราย้อนไปตรวจสอบตั้งแต่วันแรกที่มีการเบิกจ่ายการบริการแบบเป็นรายการ จึงจำเป็นต้องมีการจ้างพยาบาลเข้ามาช่วยตรวจสอบ ในช่วงปี 62 นั้น ข้อมูลมีประมาณแสนกว่าฉบับ เพราะฉะนั้นการทำงานอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่เรามั่นใจว่าถ้าหากมีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ว่าถูกต้อง ปลอดภัย เราจะสามารถเบิกจ่ายได้ทันที เพราะถ้าเกิดจ่ายผิดพลาดอีกปัญหาก็อยู่ที่ สปสช. ไม่ใช่คลินิก

 

คำถาม :  ระบบในการป้องกันทุจริตเป็นอย่างไร

ตอบ   :    ปัจจุบันตอนนี้เราเปลี่ยนวิธีเบิกจ่าย คือ การนำเอาผลงานหรือหลักฐานมาอ้างอิงก่อน เราจึงจะทำการตรวจสอบก่อนเบิกจ่าย ซึ่งในอดีตเราใช้ระบบแมนนวล แต่ปัจจุบัน เรานำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย อาทิเช่น ในกทม. เราได้นำแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่เรียกว่ากระเป๋าสุขภาพ โดยประชาชนที่รับบริการต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและระบบจะส่งข้อมูลมาให้ สปสช. ตรวจสอบอีกที  ซึ่งระบบตรงนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ขอย้ำว่าเราจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนจ่าย ถ้าเกิดพบว่า เมื่อคุณให้บริการแล้วแต่ประชาชนยังไม่ได้รับบริการเราจะไม่จ่าย  ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นขั้นตอน อาจทำให้ไม่สะดวกในช่วงแรกๆ 

ซึ่งตอนนี้เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หน่วยบริการ บอร์ดสปสช. เพื่อจะสามารถทำงานและดำเนินการต่อไปได้ และตอนนี้มีคลินิก โรงพยาบาลในหลายๆ แห่ง.ต้องการเข้ามาในระบบเราแต่ก็ไม่สามารถทำสัญญาได้ เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด

 

คำถาม :  ขณะนี้มีคลินิกบางส่วนร้องว่า สปสช.ยังไม่จ่ายงบ PP ตั้งแต่เดือน ต.ค. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขั้นตอนการจ่ายเงินบริหารอย่างไร

ตอบ  :    กรณีที่มีข้อร้องเรียนว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม เรายังไม่ได้จ่ายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของเทคโนโลยี เนื่องจากเราให้ทุกคนใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นและอีกส่วนหนึ่งเป็นขั้นตอนการตรวจสอบที่ยังไม่เรียบร้อย ซึ่งเราต้องชี้แจงกับหน่วยบริการให้ชัดเจนต่อไป แต่ทั้งนี้ เราคิดว่าภายใน 1-2 เดือนระบบจะเริ่มรันได้คงตัว และจะจ่ายได้ครบ ซึ่งตอนนี้เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายในเดือนตุลาคม 2564 มีประมาณ 30-40 ล้านบาท แต่ถ้ารวมทั้งปีน่าจะประมาณ 100 ล้าน เราขอยำ้ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะชอลอเงินส่วนนี้แต่อย่างใด ถ้าเงินมาเราต้องรีบจ่ายแน่นอน อย่างไรก็ตามถ้าหากมีปัญหาที่เกิดจากสปสช. เรายินดีจะแก้ไขต่อไป แต่หากต้องการให้เราจ่ายไปก่อนนั้นยังยืนว่าไม่สามารถทำได้ ต้องทำไปตามข้อกำหนดนโยบายของบอร์ด สปสช.

ส่วนการตรวจสอบการเบิกจ่ายย้อนไปหลังปี 2562 กำลังดำเนินการ ถ้าหากมีการตรวจสอบเสร็จเราต้องมีการจัดแถลงข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งต้องบอกก่อนว่าขั้นตอนนี้ไม่ได้ง่ายเลย ซึ่งในอดีตการจ่ายเงินนั้นเมื่อท่านส่งข้อมูลมา อย่างน้อยจะใช้เวลา 1-2 เดือน ถึงได้รับเงิน แต่ตอนนี้พยายามจะแก้ไขให้การจ่ายเงินรวดเร็วขึ้น โดยเป้าหมายอย่างน้อย คือ 1-2 สัปดาห์ ต้องได้เงิน หรือในอนาคตเราจะพัฒนาระบบให้สามารถเบิกจ่ายได้วัน/วัน ซึ่งตอนนี้พยายามเร่งให้เสร็จเร็วที่สุด

 

คำถาม :  ได้มีการสื่อสารกับทางคลินิกหรือไม่ว่าถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้น เพราะเหตุใด....

ตอบ :   สำหรับกรณีนี้เราได้มีการพูดคุยกัน   โดยเฉพาะเรื่องของการเบิกจ่าย ทั้งนี้ เรายังยืนยันว่า จากที่มีการทุจริตเกิดขึ้นมานั้นเราจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนเบิกจ่ายอย่างเข้มงวด   เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบใหม่  ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินก่อน  ซึ่งตอนนี้ล่าสุดเราได้มีการพัฒนาโปรแกรม ที่เรียกว่า AI Audit ที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่าย ข้อมูลระบบบัญชีและการเงิน  คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนระบบน่าจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งขั้นตอนตรงนี้อาจทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากระบบ AI Audit ที่ว่านี้จะทำการตรวจสอบข้อมูลและดูเงื่อนไขต่างๆ พร้อมทั้งระบบจะเรียนรู้ไปด้วยว่า บุคคลที่มีการเบิกจ่ายผิดพลาดเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนนี้เราต้องนำข้อมูลมาจากแหล่งบริการอื่นๆ มาประกอบ เพื่อทำการประเมินผลต่อไป

 

คำถาม :   แสดงว่า งบประมาณที่ค้างจ่าย ณ ตอนนี้เหลืองบ PP เนื่องจากงบรักษาผู้ป่วยโควิดที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว

ตอบ :  กรณีเรื่องบริหารเงินโควิดเกิดจากการที่เราขอเงินกู้ แล้วเงินมาล่าช้า ไม่ได้เป็นปัญหาที่การประมวลผล ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว  ส่วนเรื่องของ PP fee schedule เป็นเรื่องปัญหาของระบบ ที่ต้องมีการตรวจสอบการประมวลผล ประมวลข้อมูล ไม่ได้เป็นปัญหาที่เงิน แต่ก็มีบางส่วนที่เบิกจ่ายไปแล้ว

 

คำถาม : มีการแบ่งจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) อย่างไร

ตอบ : เราพยายามทำให้เป็น Single system หมายความว่า ในรายการเดียวกัน ไม่ว่าจะไปอยู่กลุ่มบริการไหนก็ต้องจ่ายในราคาเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรามี  Fee schedule ทั้งองค์กร นั้นจะช่วยให้ง่ายขึ้นสำหรับการกรอกข้อมูล  ซึ่งในทุกๆเดือน เจ้าหน้าที่จะต้องทำการส่งข้อมูลมายังสปสช. อีกครั้ง แต่ตอนนี้เรากำลังพัฒนาโปรแกรมที่จะทำให้ข้อมูลนั้นเชื่อมกับข้อมูลของท่านเพื่อจะส่งมายังสปสช.อัตโนมัติ ซึ่งเราเรียกว่า API ทั้งนี้โรงพยาบาลต้องอนุญาติให้เราสามารถทำการลิงค์ข้อมูลได้ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่โรงพยาบาลไม่อนุญาต อาจเนื่องจากเกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหล

อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังมี รพ.หลายแห่งที่มีการเสนอเข้ามาเพื่อจะทำนำร่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรามองว่าการทำตรงนี้จะทำให้สามารถบริหารระบบการทำเบิกจ่ายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย

 

นพ.จเด็จ" เลขาฯสปสช. ตอบข้อสงสัย “การบริหารจัดการงบ PP" ป้องกันทุจริตในอนาคต (คลิป)

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :  

- สปสช.ขอเวลา 2 เดือนปรับรูปแบบรับบริการคลินิกบัตรทองใหม่ หลังพบทุจริตแล้วเกือบ 50%

สปสช.แจงยิบทุกข้อเท็จจริงพบคลินิกทุจริตบัตรทอง 188 แห่ง เสียหาย 195 ล้าน

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org