ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้ารับการรักษาในระยะประมาณ 14 วัน ซึ่งระยะเวลาที่รับการรักษาอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยในแต่ละคน เมื่อหายป่วยแล้วโดยส่วนใหญ่มักจะไม่หลงเหลืออาการของโรค แต่ในผู้ป่วยหลายรายแม้จะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน

ซึ่งอาการดังกล่าวทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “Post Covid Syndrome” หรือ “ภาวะลอง โควิด” (Long COVID) เป็นอาการหลงเหลือของเชื้อโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ 30-50% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนผู้ป่วยกลุ่มป่วยรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องยาวนาน 3-6 เดือน กว่าที่ร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ เพราะมีปัจจัยเรื่องความ เครียดสะสม มาตั้งแต่ช่วงที่ป่วย ซึ่งจะมีอาการที่แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

อาการทางกาย เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

อาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะลอง โควิด ที่พบบ่อย คือ รู้สึกเหมือนมีไข้ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆหน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดตามข้อตามรู้สึกจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัวหรือปลายมือปลายเท้า มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส (ข้อมูลวันที่ 4 ตุลาคม 2564 จากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ )

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เพจเฟสบุ๊ก กรมการแพทย์ เผยผลการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ที่ตรวจพบในไทยนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน เกิดขึ้นได้หลายระบบ อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง พบ 44.38%
  • ระบบทางจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า พบ 32.1%
  • ระบบประสาท เช่น อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีระษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ พบ 27.33%
  • ระบบทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ พบ 23.4%
  • ระบบผิวหนัง เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้ พบ 22.8%
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น พบ 22.86%

นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า อาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยอื่น อย่างไรก็ดีอาการดังกล่าวจะไม่ส่งผลในระยะยาวต่อร่างกายและสามารถกลับมาเป็นปกติกได้เกือบ 100% หากดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรง

สำหรับวิธีการดูแลและแนวทางการปฏิบัติตนเองเมื่อมีอาการ Long Covid สามารถทำได้ดังนี้

  1. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ติดขัด หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและทำการรักษา
  2. ผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยควรออกกำลังกายเบาๆไม่หนักเกินไป และควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆฟื้นตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง และเน้นท่าที่บริหารปอดเพื่อฟื้นฟูส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรงและถุงลมในส่วนต่างๆของปอด ถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนก๊าซได้เต็มที่
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวล ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  4. ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5
  5. ควรรักษาสุขอนามัยของตนเองโดยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ทุกครั้งที่สัมผัส และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร

ดังนั้น ผู้ป่วยควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมีความเชื่อมั่นว่าร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมาดีขึ้น และช่วยให้กลุ่มอาการ Long Covid ที่เป็นอยู่หายไป

แต่ถ้าหากอาการลอง โควิดรบกวนจิตใจจนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากเกินกว่าผู้ป่วยจะรับมือไหว แนะนำให้พบและปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด ซึ่งอาจจะต้องมีการตรวจและวินิจจัยเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังจนรุนแรง มันส่งผลเสียต่อสุขภาพที่มากขึ้นและอาจสูญเสียโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้