ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ.เผยคืบหน้าค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด และงบฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานที่ยังเหลือของเดือน ต.ค. พ.ย.และธ.ค. 2564 อยู่ระหว่างขอสำนักงบประมาณ เหตุต้องปฏิบัติงานก่อนจึงจะทำเรื่องเบิกได้ พร้อมแนะช่องทางหากบุคลากรคนไหนไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้ค่าเสี่ยงภัย หากมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนยื่นเรื่องร้องเรียนไปทาง นพ.สสจ. ทันที ด้านนักรังสีร้องประสบปัญหาค่าตอบแทน

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบรรจุข้าราชการตั้งใหม่ การให้เงินเพิ่มพิเศษโควิด 7 เดือน การให้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด หรือจะเป็นเงินค่าบริการฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานพยาบาล ฯลฯ ปรากฎว่า มีบุคลากรบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบปัญหายังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด รวมไปถึงเงินค่าฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานพยาบาล และขอให้กระทรวงฯ เร่งช่วยเหลือนั้น

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ ว่า เรื่องค่าตอบแทนให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิดจะมีทั้งในส่วนเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือนให้แก่บุคลากร ซึ่งกรณีนี้จะเป็นท่านนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ. เป็นผู้ดูแล ส่วนกรณีเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิดจะเป็นเงินเพิ่มให้กับคนที่ปฏิบัติงานโควิด โดยจะแบ่งตามกลุ่ม อย่างแพทย์ และสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิดได้ 1,500 บาท และพยาบาล รวมทั้งกลุ่มอื่นๆที่กำหนดได้ 1,000 บาท โดยกรณีนี้จะกำหนดการจ่ายไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจ่ายเงินส่วนนี้ไปแล้ว แต่ยังขาดในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงฯ กำลังยื่นเรื่องขอทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ส่วนที่มีบางกลุ่มออกมาร้องว่า ยังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัยส่วนนี้ หากเป็นกรณีของเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 กำลังดำเนินการอยู่ แต่หากเป็นเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมอื่นๆ ซึ่งอาจมาจากคำนิยามการตีความของแต่ละโรงพยาบาลในช่วงปี 2563 หรือกรณีอื่นใดก็ตาม หากมีข้อมูล หลักฐานคำสั่งให้ปฏิบัติงานโควิดชัดเจน สามารถยื่นร้องต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ในพื้นที่ของตนได้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานพยาบาล หลายคนยังไม่ได้รับ นพ.ธงชัย กล่าวว่า มีการเบิกจ่ายไปแล้ว แต่ยังขาดในเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาเช่นเดียวกับเงินตอบแทนเสี่ยงภัยข้างต้น ซึ่งทางกระทรวงฯ กำลังดำเนินการขอทางสำนักงบประมาณเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวที่เพิ่งมาทำเบิก เนื่องจากต้องปฏิบัติงานก่อนจึงจะสามารถเบิกงบประมาณส่วนนี้ได้

เมื่อถามว่ากรณีเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดปรากฎว่า หลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้องว่า ยังไม่ได้รับ หรือได้รับแบบมาหารเฉลี่ย นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรณีนี้ต้องดูรายละเอียดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ขอให้นำข้อมูล หลักฐานทั้งหมดร้องไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องบางรพ.ได้รับ บางรพ.ไม่ได้รับ ส่วนหนึ่งมาจากข้อสั่งการของทางโรงพยาบาลนั้นๆว่า เป็นการปฏิบัติงานโควิดหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อสั่งการชัดเจนว่า มอบหมายให้ทำงานช่วยโควิด ตรงนี้ต้องเบิกได้

ด้าน น.ส.กมลวรรณ แสงสุวรรณ นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ คณะกรรมการและเลขานุการฝ่ายกิจกรรมและวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้นักรังสีหลายคนยังไม่ได้รับเงินตอบแทนเสี่ยงภัย รวมทั้งยังเกิดกรณีการตีความจำนวนเวลาของการจ่ายไม่เหมือนกัน อย่างนักรังสีจะได้ค่าตอบแทน 1,000 บาท แต่ก็จะตีความได้ไม่ถึง เพราะมองว่าทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมง เพราะนักรังสีจะไม่ได้อยู่ในห้องเอกซเรย์ตลอดทั้งวัน แต่จะอยู่ตอนมีคนไข้มา เช่น คนไข้มา 5 คน คิดเป็นรับค่าเสี่ยงภัย 2 ชั่วโมง ทั้งๆที่เรามาทำงานทั้งวัน เป็นต้น

“เราพบปัญหาทางภาคใต้ มีนักรังสีทำงานทั้งวัน แต่เป็นช่วงๆ ไม่ได้อยู่ในห้องเอกซเรย์ตลอด 8 ชั่วโมง แต่จะแบบเข้าไปตอนคนไข้มา ซึ่งไม่ครบเวลา 8 ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้มีปัญหาเรื่องการตีความ กลายเป็นว่า นักรังสีได้รับค่าเสี่ยงภัยที่ไม่ได้เท่ากับวิชาชีพอื่น เราคงไม่ได้ไปเคลื่อนไหวอะไร แต่พวกเราแค่ขอความเป็นธรรมจากผู้บริหารเรื่องนี้” น.ส.กมลวรรณ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org