ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ยกร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เปิดช่องทำ sandbox ให้นันทนาการ เร่งทำประชาพิจารณ์ ก.พ.นี้ ด้านเลขาฯ ย้ำ! เดินหน้ากัญชา เพราะเห็นถึงประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ไม่ได้สนองการเมือง

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ยส.5) เพื่อให้มีการนำกัญชา กัญชง ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ....ควบคู่กันไป เน้นการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงอย่างเต็มที่ การเอาไปใช้โดยไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มี 52 มาตรา 10 หมวด ประเด็นสำคัญคือมองกัญชา กัญชง 1. เป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเชิงการแพทย์ ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย 2. พืชที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยสามารถนำต้นพืช และสารสกัดไปใช้ประโยชย์ ทั้งยา สมุนไพร เครื่องสำอาง กัญชงทำเสื้อเกราะ และส่วนประกอบหลายอย่าง  

“ทั้งนี้ มีการห้ามใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่เป็นพื้นที่กำหนดซึ่งต้องได้รับการอนุญาตก่อน พูดง่ายๆ คือเหมือนพื้นที่ Sandbox ไม่มีการใช้ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หากป่วยผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายได้” นพ.ไพศาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูว่าต้นทาง กลางทาง ปลายทาง นั้นจะดำเนินการอย่างไร โดยต้นทางคือการปลูก มี 2 ประเภท 1.กรณีใช้ในครัวเรือนที่ดูแลสุขภาพ กรณีแพทย์แผนไทยจะใช้ปรุงยาจะต้องมีการจดแจ้ง ง่ายกว่าขออนุญาต 2.หากเอามาในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจากเลขาธิการอย. โดยใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี จากเดิม 1 ปี ส่วนกลางทางคือเรื่องแปรรูป สารสกัดต่างๆ ต้องมีการขออนุญาตจากเลขาฯ อย.หรือผู้ได้รับมอบหมาย ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ขณะที่ปลายทางคือผู้ใช้ หากทำอาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาแม้ยังเป็นยาเสพติด อย.อนุมัติเครื่องสำอาง 456 รายการ สมุนไพร 31  รายการ อาหาร 14 รายการ คาดว่าปี 2565 -2570 มีมูลค่าจาก 600 ล้านบาท เป็น 15,770 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 126%  

เมื่อถามถึงการพิจารณาพื้นที่แซนบ็อกซ์สำหรับกัญชานันทนาการ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในร่างประกาศพื้นที่นั้น ในรายละเอียดหากเป็นพื้นที่เฉพาะจะทำได้ง่าย ส่วนเรื่องการควบคุมก็จะมีการจำกัดอายุ จริงๆ กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการออกกฎกระทรวงขึ้นมา บางส่วนเรารู้ว่ามีประโยชน์อยู่ในแง่ของการดูแลสุขภาพ ย้ำว่าไม่ผิดอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพราะในส่วนของการควบคุมที่มีอยู่ในร่างพ.ร.บ. แต่อันนี้จะชัดเจนด้วยซ้ำที่มีหน่วยงานดูแล คือ อย.และยังประสานกับหน่วยงานอื่นด้วย
 
ส่วนกรณีที่กำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยเอามาจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายบุหรี่ กระท่อม อายุ 20 ปี คือบรรลุนิติภาวะ ที่มีการตัดสินใจได้ ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการทำประชาพิจารณา ส่งเข้ากระทรวงสาธารณสุข           หากรมว.สธ.เห็นชอบก็ส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เราอยากให้เร่งในส่วนนี้ โดยการทำประชาพิจารณาก็น่าจะเป็นเดือน ก.พ.

เมื่อถามต่อถึงคุณลักษณ์ของพื้นที่ที่จะเป็น Sandbox ได้ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตัวนี้จริงๆ แล้วอยู่ในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ด้วย ก็ดูว่าพื้นที่ไหนที่ใช้เพื่อการดูแลสุขภาพ อย่างไรก้ตามเรื่องนี้ในรายละเอียดยังต้องคุยกันพอสมควร แต่ต้องชัดเจนเรื่องกำหนดอายุคนเข้าไปใช้ และมีมาตรการควบคุม แต่พื้นที่สาธารณะนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว  

เมื่อถามย้ำว่าจะเปิดเป็นร้าน หรือคาเฟ่ หรือพื้นที่เฉพาะเพื่อใช้นันทนาการเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่านี่เป็นข้อเสนอ แต่ไม่ได้เอาวัฒนธรรมต่างประเทศมากำหนดในประเทศไทย เรื่องนี้ยังต้องคุยกันในกฎกระทรวง อาจจะปรับได้ แต่คงไม่ใช่มาทำเป็นคาเฟ่ต์

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีรูปแบบในใจแล้วหรือไม่ เพราะร่างกฎหมายออกมาเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกินจากที่มีการระบุมาตลอดว่า กัญชาอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ร่างพ.ร.บ.นี้เปิดกว่างให้นันทนาการด้วย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า เราบอกว่าห้ามนันทนาการ ยกเว้นพื้นที่เฉพาะ จริงๆ อาจจะไม่ใช้มาตรานี้ก็ได้ แต่เราเปิดไว้ให้ อยู่ที่ว่าจะไปถึงหรือไม่  ส่วนการปลูกที่บ้านแล้วคงดูลำบากว่าจะเอาไปใช้เพื่อสันทนาการหรือไม่ แต่ก่อนปลูกก็ต้องมีการจดแจ้งก่อน ทั้งนี้ตัวอย่างการกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. เช่น ปลูกโดยไม่ได้จดแจ้งในจังหวัด มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ การผลิต จำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต กำหนดโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำและปรับ  ซึ่งเป็นโทษหนักสุดในพ.ร.บ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหากร่างประกาศกระทรวงถอดคำว่ากัญชาออกจาก ยส. 5 ที่จะเข้าป.ป.ส.ในวันที่ 25 มี.ค.นี้จะทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตกไปหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน พ.ร.บ.ตัวนี้ยกร่างนานแล้ว  เมื่อถามย้ำว่ากังวลหรือไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสนองการเมืองเนื่องจากมีบางพรรคการเมืองขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า เราชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ให้ลืมเรื่องการเมืองไปเลย เรามีข้อมูลชี้ชัด  

ด้านภญ. ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด กล่าวว่า การกำหนดแซนด์บ็อกซ์ ขอให้ย้อนกลับไปที่หลัก พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าห้ามใช้เพื่อนันทนาการ แต่การที่เราเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นทำนองเดียวกันที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งมีแซนด์บ็อกซ์ เช่นเดียวกับประมวลยาเสพติดฯ เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับในอนาคต คือหลายๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป

“ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำหนดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้ ก็เพื่อใช้สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด แต่เลิกไม่ได้ จำเป็นต้องใช้อะไรมาแทนยาเสพติดตัวนั้นเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหายาเสพติด จึงเอาหลักการนี้มาวางแซนด์บ็อกซ์ไว้ก่อน ซึ่งเราต้องศึกษาจากโมเดลหลายประเทศมาปรับให้เข้ากับบ้านเรา ส่วนการจะกำหนดในรูปแบบกฎกระทรวงฯ จะต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อน”ภญ. ขนิษฐา กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” เคลียร์ปมเปิดแซนด์บ็อกซ์ “กัญชานันทนาการ” ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ไม่ได้เน้นปุ๊น เน้นการแพทย์)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org