ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ผลักดันสถานประกอบการเป็นองค์กรสุขภาพ ติดตามอาการ สุขภาวะลูกจ้างแบบครบวงจร พร้อมพิจารณาใครร่วมมืออาจมีมาตรการลดหย่อนภาษีร่วมด้วย

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 24 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกรด โรจนเสถียร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือสนับสนุนนโยบายองค์กรเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคไม่ติดต่อตามแนวทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ เบื้องต้นมี 500 บริษัทร่วมมือในการเป็นองค์การสุขภาพแล้ว

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลสุขภาพของประชาชน ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปรับระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย ได้มาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีช่วยให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น ลดการนอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการปฏิรูปฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคี ทั้งรัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเน้นให้องค์กรภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะของคนในองค์กรแบบองค์รวม

“วันนี้เราจะมาพูดถึงว่า จะทำอย่างไรให้ภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน ผู้ประกอบการ นายจ้าง ร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพ สร้างบรรยากาศในการทำงาน ทำให้คนมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดัน มะเร็ง ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น หากร่วมมือกันให้องค์ความรู้ มีการรณรงค์ โดยกลุ่มคนต่างๆ บริษัทห้างร้านก็ทำให้คนแข็งแรงขึ้น และยังป้องกันโรคติดต่ออื่นๆได้ด้วย ไม่ใช่แค่เอ็นซีดี ซึ่งทางภาคเอกชน เสนอมาว่า หากเขาทำได้ ทางภาครัฐจะมีแรงจูงใจอะไรให้เขาบ้าง เช่น การลดหย่อนภาษี ผมก็ได้ขอให้ภาคเอกชนลองเสนอมา ซึ่งก็น่าจะผลักดันได้ เพราะเรื่องนี้รัฐไม่ได้สูญเสีย เพราะแม้ภาษีจะลดลงไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียเท่ากับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ” นายอนุทิน กล่าว

 

ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง และส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิผล จึงได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ล่าสุด คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เสนอให้มีการดำเนินการสถานประกอบการด้านสุขภาพแบบครบวงจร โดยการดำเนินงานต้องการให้เกิดการบูรณาการในการการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมความรอบรู้ และการป้องกันโรคเข้าในระบบ/กลไกสถานประกอบการ เพื่อให้บุคลากรเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับพนักงาน รวมถึงสร้างผู้นำในการดูแลสุขภาพหลัก ที่เรียกว่า Chief Health Officer ขององค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนวัยทำงานเกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“จากการที่คุยกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สภาธนาคาร ฯลฯ ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดีอยากให้เกิดตรงนี้ โดยจะช่วยผลักดันให้องค์กรทั้งหลาย กลายเป็นองค์กรแห่งการรอบรู้ด้านสุขภาพ มีการติดตามโรคของลูกจ้างอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะโรคไม่ติดต่อ 50% มาจากพฤติกรรม ดังนั้น วันนี้(24 ม.ค.) จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันเรื่องนี้ ที่สำคัญเราต้องการให้การดูแลสุขภาพครั้งนี้บูรณาการทุกหน่วยงาน และทุกสิทธิสุขภาพอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเรื่องกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะสารต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น น้ำตาล โซเดียม สารภาคเกษตรกรรมต่างๆ ซึ่งกำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ต่อไป” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว และว่า หลายคนไม่เข้าใจว่า มีประกันสังคมแล้ว แต่จริงๆ เราต้องการให้หัวหน้าองค์กรมีระบบติดตามลูกจ้าง บุคลากรว่า มีโรคอะไร มีการดูแลสุขภาพอย่างไร เพื่อป้องกันโรคเอ็นซีดี การเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตในอนาคต

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า แม้อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ในช่วงอายุ 30-70 ปี มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 14.8 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 12.7 ในปี 2561 และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ร้อยละ 11 ในปี 2568 แต่พบว่าความชุกของโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ยังคงเพิ่มขึ้น

ดังนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปีฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมี “นโยบายเร่งรัดการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน (Together fight NCDs)” เน้นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีเป้าหมายให้บรรลุผลในปี 2568 ได้แก่ การบริโภคน้ำตาล และโซเดียมของประชากรไทยลดลงร้อยละ 30, ร้อยละ 70 ของประชาชน รู้ตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและทราบระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs, สัดส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค) ลดลงครึ่งหนึ่ง และผู้ป่วยที่เข้ารับบริการสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้เกินครึ่งหนึ่ง โดยมีตัวชี้วัดคือการติดตามกลุ่มสงสัยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งองค์กร/ที่ทำงานต่างๆ จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้คนที่เริ่มป่วยรู้สถานะความเสี่ยงและได้รับการวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่ระบบบริการได้แต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ตาม จากการนำร่องใช้สถานีสุขภาพดิจิทัล ในเขตปฏิรูปสุขภาพที่1, 4, 9 และ 12 โดยผู้ดูแลสถานีส่งข้อมูลระดับน้ำตาลและระดับความดันโลหิตผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยหรือให้คำแนะนำ พบว่าได้ผลดี หากภาคเอกชนนำไปขยายผลในสถานที่ทำงาน ก็จะทำให้พนักงานได้รับการคัดกรองโรคไม่ติดต่อได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง