ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประกาศปลดล็อกระบบ Test & Go ของศบค. เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาถือเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หวังจะค่อยๆ ฟื้นเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหลังมีการเติบโตของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอย่างเห็นได้ชัดช่วงเปิดใช้ระบบนี้ แต่ในอีกทางหนึ่ง 6 จังหวัดอันดามัน กำลังเดินหน้าฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยแผนพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ Medical and Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากการเสนอตัวจัด Specialized Expo 2028 ในชื่อ “EXPO 2028 - Phuket, Thailand” ภายใต้แนวคิด “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” ด้วยกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ซึ่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการยื่นหนังสือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพไปเรียบร้อยแล้ว กลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันยังมีข้อเสนอจัดตั้งเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หรือ AWC เพื่อสอดรับกับเทรนด์โลกเรื่อง Wellness

ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสากรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialized Expo 2028 มีธีมเป็น Medical and Wellness แปลว่าหลักชัยของกลุ่มอันดามันหลังจากนี้จะใช้เรื่องนี้ไปยาวๆ ในแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม สปา โรงพยาบาล กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

>> AWC คืออะไร

AWC ย่อมาจาก Andaman Wellness Economic Corridor คือโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง และสตูล คล้ายกับโครงการ EEC ของทางตะวันออก และ BCG ของกระบี่

นี่เป็นยุทธศาสตร์จากข้อเสนอเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวอันดามันที่ผ่านการเห็นชอบในหลักการในการประชุมครม.สัญจรที่กระบี่เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้านการเยียวยา ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และด้านการท่องเที่ยว

 

>> บทบาทของ AWC

การขอตั้งโซนเศรษฐกิจพิเศษนี้มุ่งหวังจะยกระดับและส่งเสริมเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา โรงพยาบาล หรือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งหมด รวมไปถึงการพัฒนาตั้งแต่บุคคลากร โดยมีเป้าหมายกลายเป็น Wellness hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“จริงๆ แล้วเมืองไทยมีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านความงาม ศัลยกรรม การรักษาโรคเฉพาะทางก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร รวมไปถึงการผ่าตัดแปลงเพศก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ก็มีศูนย์ความงาม และได้คุณกับคุณหมอหลายท่านทราบว่า มีลูกค้าดีขึ้นเยอะมาก ไม่เฉพาะตลาดต่างประเทศ ตลาดไทยเองก็หันมาให้ความสนใจมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีการก้าวหน้ามากขึ้นอีก เช่น เรื่องของสเต็มเซลล์ ขณะที่โรงแรมต่างๆ ก็เริ่มไปเรียนเป็นเมดิคัลแอนด์คลินิกและอาจเปิดเป็นสหคลินิก” ธเนศ กล่าว

(ธเนศ ตันติพิริยะกิจ)

นอกจากนี้ยังสอดรับกับการอนุมัติวีซ่าใหม่ Medical Treatment Visa หรือวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล มีอายุ 1 ปี เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเข้าประเทศ ตามนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569

ทั้งนี้คณะทำงาน AWC มีการกำหนดแผนการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก กลางและระยะยาว โดยในระยะแรกตัวสถานที่ท่องเที่ยวกับเกี่ยวเวลเนสทั้งหมดจะต้องถูกดึงขึ้นมาบูรณะ เช่น บ่อน้ำพุร้อนจังหวัดพังงาและกระบี่ ตัวแลนด์มาร์กของแต่ละจังหวัด รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงของแต่ละจังหวัดในกลุ่มอันดามัน พร้อมจัดทำหลักสูตรที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ สำหรับการอบรมพนักงานในโรงแรม เพิ่มเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการขยายตัวโรงแรมเพื่อสุขภาพ

 

>> รถไฟรางเบาเชื่อม 6 จังหวัด

หนึ่งในแผนพัฒนาหลักๆด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ การยื่นขอรถไฟรางเบาที่จะเชื่อมต่อกลุ่มอันดามัน เพื่อยกระดับระบบขนส่งมวลชนให้มีความเชื่อมโยงและสะดวกสำหรับการเดินทางมากขึ้น

“ถ้านักท่องเที่ยวบินมาลงสนามบินนานาชาติภูเก็ตหรือกระบี่ก็สามารถเดินทางต่อไปได้ทั้ง 6 จังหวัดเลย นอกจากนี้ยังมีแผนผลักดันสนามบินพังงาและตั้งใจจะปั้นสตาร์ตอัพ 1 สตาร์ตอัพให้กลายเป็นยูนิคอร์นจาก AWC เราอยากทำตัวแพล็ตฟอร์มเหมือน Agoda หรือ Booking.com แต่เป็นของคนไทยเอง ปัจจุบันเรามีตัว phang-nga.org ที่รวมทั้งเรื่องโรงแรม รถโดยสาร เรือนำเที่ยว ร้านอาหาร ทั้งหมดขยายผลออกมาให้เป็น 6 จังหวัด เพื่อขยายเป็น andaman.org” พงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าว

จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิดสรุปจังหวัดในประเทศไทยที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดพบว่า 3 จังหวัดในกลุ่มอันดามันอยู่ในอันดับท็อป 10 ได้แก่ ภูเก็ต (อันดับ 2) 313,186 ล้านบาท กระบี่ (4) 78,653 ล้านบาท และ พังงา (8) 35,410 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะประสบความสำเร็จคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้นในอีก 3 จังหวัดที่เหลือ

 

>> ระดมทุนด้วยอันดามันเวลเนสคอยน์

พงศกร เผยด้วยว่าการจะทำให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต้องใช้เงินประมาณ 4-5 พันล้านสำหรับการพัฒนาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว ขณะที่แต่ละโรงแรม หน่วยงาน วิสาหกิจชุมชน ก็จำเป็นต้องใช้เงินในการยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จึงได้เสนอให้ทำเป็นอันดามันเวลเนสคอยน์ หรือเงินดิจิตัล

“สมมุติถ้าออกเหรียญนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินมาก่อน เราสามารถระดมทุนจากการขายเหรียญล่วงหน้าให้กับทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งถ้าททท.มีโครงการสนับสนุนก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนได้โดยกสนใส่เข้ามาในกระเป๋าตังเหมือนเราเที่ยวด้วยกัน ถามว่าตอนนี้โรงแรม 5 ดาวใหญ่ๆราคาปกติจะอยู่ที่หลัก 2-3 หมื่นบาท ตอนนี้ 3-4 พันก็ขายแล้ว นั่นหมายความว่า ณ วันนี้เราซื้อห้องหนึ่งมูลค่า 3000 บาทแต่ถ้าผ่านไปอีก 1-2 ปี ตลาดท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น ราคาห้องจะกลับมาอยู่ที่ 2-3 หมื่นเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าเหรียญที่ถือไว้จะเพิ่มขึ้นไป เพราะฉะนั้นมันจะเป็นทั้งการลงทุนของคนทั้งประเทศและทั่วโลก และจะเป็นการระดมทุนของกิจการสำหรับการพัฒนาก่อนได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกำหนดแผนเสนอต่อคณะกรรมการ Medical Hub เพื่อการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุดมีการประชุม ณ ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าหากได้รับการอนุมัติจะก่อให้เกิดการลงทุนและสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล

 

ขอบคุณภาพ – สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา/สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่