ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อีก 1 ในอาการที่หลงเหลือหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่พบเจอบ่อยมากที่สุดคือ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการลดลงของสมรรถภาพทางร่างกายหรือจิตใจ มักพบอาการดังกล่าวในผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป (นับจากวันตรวจพบเชื้อ) และมีอาการต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค. 2565) กรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูล อาการที่อาจเกิดร่วมกับอ่อนเพลียหลังติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่

  • มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ
  • มีอาการเจ็บขณะกลืน
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้โต กดเจ็บ
  • ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยเกิน 1 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • นอนหลับไม่สนิท
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดตามข้อโดยไม่มีการอักเสบ

ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกำลังเผชิญกับภาวะลอง โควิด (Long Covid) ที่แสดงอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจควบคู่กัน และหากมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับอาการข้างต้นนานกว่า 7 วัน ทางกรมฯ แนะนะว่า ควรพบแพทย์

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะประสบกับอาการข้างต้นนี้ คือ

  • เพศหญิง
  • มีประวัติโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า
  • มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง
  • มีความรุนแรงในระยะติดเชื้อเฉียบพลันมาก

เพราะอะไร เพศหญิงถึงเป็น 1 ใน ปัจจัยเสี่ยงสูง?

มีรายงานจากสถาบันวิจัยและสถานพยาบาลในหลายประเทศของยุโรประบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่มีอาการจากภาวะลอง โควิด คือประมาณ 40 ปี โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากถึงเกือบ 70% ของผู้ที่มีอาการลองโควิดทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ตั้งสมมติฐานว่า ปัจจัยที่ทำให้พบในเพศหญิงมากกว่า ที่พอจะสามารถอธิบายได้คือ แนวคิดที่เรียกว่า Pregnancy Compensation Hypothesis หรือ ภาวะชดเชยการตั้งครรภ์ เป็นพันธุกรรมของสตรีที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการอุ้มท้องมีบุตร มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน และอาการป่วยเรื้อรังแม้หายจากการติดเชื้อแล้วได้

ข้อมูลจากศาสตราจารย์ อะกิโกะ อิวาซากิ จากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ระบุว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T- cell) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันร่างกายในผู้หญิงจะทำงานได้ดีกว่าของผู้ชาย เมื่อเกิดการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ระยะแรก เพราะผู้หญิงมีโครโมโซม X สองชุด ยีนหลายตัวที่กำกับควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอยู่บนโครโมโซม X ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้หญิงจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมสูงกว่าผู้ชายเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของสตรีมีวิวัฒนาการมาเพื่อปกป้องตัวอ่อนในครรภ์ที่บอบบางด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง แต่มันก็อ่อนไหวและสามารถตอบสนองต่อเชื้อโรคได้เร็ว ทำให้หลังรักษาหายจากโรคโควิด-19 แล้วพวกซากชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสที่ยังตกค้างอยู่ตามแหล่งกักเก็บในอวัยวะต่าง ๆ กลายเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ใหม่

นอกจากสมมติฐานเรื่อง ภาวะชดเชยการตั้งครรภ์ ที่ทำให้ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ตื่นตัวอย่างสูง จนอาจกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการจากภาวะลองโควิดแล้ว ยีนของผู้หญิงบางตัวและฮอร์โมนเอสโตรเจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานตอบสนองมากเกินไป จนเกิดโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (autoimmune disease) ขึ้นมาได้

ด้านนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ลองโควิดเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ซึ่งพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายเช่นกัน 

คำแนะนำสำหรับอาการอ่อนเพลีย

  • เพิ่มกิจกรรมประจำวันทีละน้อยไม่ถึงจุดอ่อนเพลีย
  • มีช่วงเวลาพักสม่ำเสมอ 
  • ถ้ามีอาการอ่อนเพลียหรือล้าให้หยุดพัก

คำแนะนำสำหรับการเริ่มออกกำลังกาย

  • ควรเริ่มระดับเบาก่อน 
  • สังเกตระดับความเหนื่อย หรือชีพจร
  • ปรับเพิ่มความหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  02 965 9186

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BBC News ไทย https://www.bbc.com/thai/international-57466013