ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เยี่ยมชม อบต.นาแสง จังหวัดบึงกาฬ เปิดตัวโครงการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคผู้สูงอายุ ด้วยการกวาดถนนหน้าบ้านทุกเช้าก่อนทำบุญใส่บาตร สร้างถนนปลอดฝุ่น เพื่อผู้สูงอายุสุขภาพกายแข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดี

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นนาแสง (กปท.) โดยมี ดร.นิรันดร์ เนาวนิต นายกอบต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ ต้อนรับคณะและสรุปภาพรวมกองทุนฯพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผู้สูงอายุ และยังร่วมรับชมการออกกำลังกายด้วยไม้พลองประกอบเสียงเพลงผู้สูงอายุ ,การกวาดถนนหน้าบ้านด้วยไม้กวาดดอกหญ้าอีกด้วย

ดร.นิรันดร์ เนาวนิต นายก อบต.นาแสง เปิดเผยว่า โครงการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคผู้สูงอายุตำบลนาแสงที่ดำเนินการนี้ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุตำบลนาแสง จัดว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมกิจกรรมใหม่ๆ นอกเหนือกิจกรรมรำไม้พลองซึ่งทำกันเป็นประจำอยู่เดิมแล้ว โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกบ้านมีกิจกรรมออกกำลังกายทุกเช้าร่วมกัน โดยใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวทำความสะอาดถนนหน้าบ้านของตนเองให้ปลอดฝุ่น นอกจากจะทำให้ถนนสะอาด ปลอดฝุ่นแล้ว อากาศในชุมชนก็สดใส ไร้ฝุ่นละอองอีกด้วย พระภิกษุและสามเณร ก็สามารถเดินเท้าเปล่าบิณฑบาตบนถนนที่สะอาด ผู้สูงอายุยังได้บุญกุศลจากการกวาดถนนและทำบุญตักบาตรด้วยอาหารพื้นบ้านส่งเสริมสุขภาพ ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มควบคู่ไปด้วย

“ก่อนที่จะมาทำงานเป็นนายกอบต.นาแสง นั้น ตนได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาถึง 36 ปีที่วัดโพธิ์ชัยศรี เห็นสุขภาพผู้สูงอายุที่เข้ามาวัดมีสุขภาพไม่ค่อยดี และเกิดมีความคิดว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อให้คนในชุมชนมีสุจภาพที่ดี เพราะตอนนั้นจะทำอะไรก็ไม่คล่องหากยังเป็นพระ ตนจึงตัดสินใจสึกออกมาเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพคนในชุมชนให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน "

ดร.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า อบต.นาแสงมีแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในผู้สูงอายุตามกลุ่มความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน คือ กลุ่มติดสังคม (คะแนน ADL 12-20 คะแนน) ส่งเสริมให้ (1) มีการออกกำลังกายเป็นนิจ เดิมใช้รำไม่พองประกอบเสียงเพลง (2) ทำจิตให้แจ่มใส ไม่เครียด (3) ส่งเสริมให้บริโภคอาหารพื้นบ้านที่ปลอดภัย ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม (4) ส่งเสริมให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยการปัดกวาดฝุ่นละอองตามถนนหนทางและปลูกผักพื้นบ้านเป็นไม้ยืนต้น

นอกจากนี้มีการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง คะแนน ADLตั้งแต่ 0-11 คะแนน) ตามโครงการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (LTC) ในชุมชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุและกลุ่มบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิง มีการจัดบริการดูแลและส่งเสริมสุขภาพภายใต้กองทุนดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (กองทุน LTC) ร่วมกับ รพ.สต.นาแสง และ รพ.สต.บ้านนาคำแคน ซึ่งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในเครือข่าย อบต.นาแสง

การดำเนินการเริ่มด้วย (1) การสำรวจและประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีความจำเป็นที่ต้องดูแลระยะยาว โดยผู้ที่มีการคะแนน ADL ตั้งแต่ 0–11 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 20คะแนน) ดำเนินการสำรวจโดย อสม./ผู้ช่วยผู้ดูแล (care giver : CG) /อสบ.(อาสาบริบาลท้องถิ่น)  (2) ผู้จัดการการดูแลผู้ป่วย (Care Manager: CM) ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพซึ่งการผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมอนามัยทำการตรวจประเมินภาวะร่างกายและจิตใจ (TAI : Typology of Aged with Illustration) อีกชั้นหนึ่ง (3) CM จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan : CP) ตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย

(4) มีการเสนอแผนการดูแลรายบุคคล (Care plan)ต่อคณะอนุกรรมการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (LTC) ที่ อบต.นาแสง พิจารณาอนุมัติงบประมาณกองทุน LTC ตามแผนการดูแลรายบุคคล โดยโอนงบไปที่ รพ.สต. และมอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ดูแล (Care giver: CG) ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 70 ชั่วโมงของกรมอนามัย เข้าไปให้การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก รวมถึงการประสานงานเพื่อจัดหากายอุปกรณ์และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ และจะได้รับการประเมินซ้ำหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลครบ 9 เดือน เพื่อวางแผนการดูแลให้เกิดความต่อเนื่องในชุมชน

ดร.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า พื้นที่ อบต.นาแสงดูแลทั้งหมด 9 หมู่บ้านได้งบกองทุนสนับสนุน ปีละ 1-2 แสนบาทดูเรื่องสุขภาพ และในอนาคตจะทำการส่งเสริมป้องกันเรื่องสุขภาพให้ครบทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยจังหวัดบึงกาฬมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 57 แห่ง เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (LTC) ครบทั้ง 57แห่ง คิดเป็น 100% จำนวนผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 4,479 ราย อบต.นาแสง เข้าร่วมโครงการ LTC ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (Long Term Care) เข้าร่วมโครงการ LTC สะสม 47 ราย งบประมาณสะสมจำนวน 257,000 บาท

ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จำนวน 7,740 แห่ง โดยเข้าร่วมโครงการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงแล้วจำนวน 6,884 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 88.9 ปีงบประมาณ 2564 มีผู้ป่วยได้รับการดูแลในโครงการจำนวน 455,703 ราย เป็นสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 87.2 สิทธิข้าราชการ ร้อยละ 9.6 และสิทธิประกันสังคม ร้อยละ 0.6 และสิทธิอื่นๆ ร้อยละ 2.6 โดยแยกผู้ป่วยตามการดูแล ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เคลื่อนไหวได้บ้างและอาจมีปัญหาการกินหรือขับถ่าย แต่ไม่มีภาวะสับสนทางสมอง ร้อยละ 57.8 กลุ่มที่ 2 เคลื่อนไหวได้บ้างและอาจมีปัญหาการกินหรือขับถ่าย แต่มีภาวะสับสนทางสมอง ร้อยละ 18.6, กลุ่มที่ 3 เคลื่อนไหวเองไม่ได้และอาจมีปัญหาการกินหรือขับถ่าย หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ร้อยละ 16 กลุ่มที่ 4 เคลื่อนไหวเองไม่ได้และอาจมีปัญหาการกินหรือขับถ่าย หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรืออยู่ใน  ระยะท้ายของชีวิต ร้อยละ 7.8

ทั้งนี้ การจัดบริการและวางแผนดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข  (Care Plan)  ทางด้านสิทธิประโยชน์เป็นการดำเนินงานโดยบุคลากรสาธารณสุข/ทีมหมอครอบครัว เป็นการจัดบริการดูแลที่บ้านหรือชุมชนและให้คำแนะนำญาติของผู้ป่วยโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย (Care giver) หรือเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ หรือ อาสาสมัคร จิตอาสา และ มีการจัดการอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น

ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่รับผิดชอบ สปสช เขต 8 อุดรธานี 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และบึงกาฬ มีจำนวน อปท. ทั้งหมด 714 แห่ง เข้าร่วมโครงการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 712 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99 มีจำนวนผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 48,515 ราย จำแนกผู้เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มที่ 1 ร้อยละ 62.2, กลุ่มที่ 2 ร้อยละ 19.1, กลุ่มที่ 3 ร้อยละ 13.3 และกลุ่มที่ 4 ร้อยละ 5.4 แบ่งตามสิทธิการรักษา สิทธิบัตรทอง ร้อยละ 89.7 สิทธิข้าราชการ ร้อยละ 7.4 สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 0.6 และสิทธิอื่น ร้อยละ 1.4.

นอกจากนี้ สปสช.ยังมีการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้าโครงการ LTC ผู้ป่วยชื่อ นางบรรทม บุญวัน อายุ 71 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 30 ม.8 ซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 ซึ่งตอนนี้ยังไม่เคยได้รับการฟอกไตเลย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org