ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ปกครองเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี หลังวัคซีนล็อตแรกถึงไทยเรียบร้อยแล้วและเตรียมฉีดกลุ่มแรกในเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และจะทยอยฉีดแก่เด็กทั่วไปตามมาตรการ แต่ส่วนใหญ่ยังสมัครใจให้ลูกรับวัคซีนเพื่อโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนตามปกติ

สำหรับพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูงเช่นเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต จากข้อมูลจากสำนึกงานศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ตพบว่า มีความสมัครใจให้เด้กอายุ 5-11 ปี รับวัคซีนกว่า 73 % จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 39,677 คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยการลงทะเบียนผ่าน www ภูเก็ตต้องชนะ com ส่วนจังหวัดพังงาอยู่ที่ 77.22 % จากทั้งหมด 24,039 คน โดยสำรวจผ่านทางสถาบันการศึกษา

“จริงๆ ก็ยังมีความกังวลอยู่บ้างแต่จากประสบการณ์ที่ดูจากวัคซีนผู้ใหญ่และเด็กโตทำให้เห็นว่าหากมีความแตกต่างจะเกิดปัญหา เช่น ในการฉีดวัคซีนเด็กโตก่อนหน้านี้ใครที่ยังไม่ฉีดจะถูกแจ้งให้อยู่บ้านไม่ให้ไปโรงเรียนก่อน จึงตัดสินใจลงชื่อไปก่อนเพราะคิดว่าการไปโรงเรียนยังจำเป็นสำหรับเด็กๆ ที่ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์” รวีวรรณ ศรอินทร์ คุณแม่ซึ่งมีลูกอยู่ในวัยมัธยมและประถมศึกษา กล่าวถึงการตัดสินใจ

รวีวรรณเสริมว่า ในส่วนของเด็กเล็กไม่ควรเร่งรีบเกินไปเพราะเด็กโตและผู้ใหญ่ฉีดไปแล้ว ประกอบกับไม่สามารถฟันธงเรื่องความปลอดภัยได้ 100 % เพราะนี่คือเรื่องใหม่สำหรับทุกคน แต่ควรให้เวลาปรับตัวทั้งผู้คนและโรคและรอดูผลวิจัยที่ให้ความชัดเจนมากขึ้น เพราะผลกระทบอาจจะเกิดในอีก 5-10 ปีก็เป็นไปได้

เช่นเดียวกับ อินทิรา พสุธาดล ซึ่งมีลูกอยู่ในกลุ่ม 5-11 ปีสองคนที่ยอมรับว่า รู้สึกเครียดพอสมควรเนื่องจากมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนในระยะยาวจะมีผลต่อสุขภาพของเด็กๆ หรือไม่ แต่หากไม่ฉีดก็ห่วงเรื่องความปลอดภัยในการไปโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กวัยนี้ในการดูแลป้องกันตัวเองตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ ธวัชชัย พฤกษ์รังษี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กวัยนี้ เพราะมองว่าสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดในตอนนี้ไม่ได้มีอาการรุนแรงมากนัก และเด็กๆ ก็มีความแข็งแรงอยู่แล้วยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบฉีดในตอนนี้ แม้จะมีข้อมูลการวิจัยจากต่างประเทศออกมาบ้างแล้วแต่ก็ยังถือว่าน้อยอยู่

ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่นำร่องอย่างภูเก็ตและพังงาจะเริ่มฉีดให้กลุ่มแรกในเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 โรคตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเป็นกลุ่มประถมศึกษาปีที่ 6 และทยอยฉีดตามแผนซึ่งน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนก.พ.นี้ โดยนายพรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา ย้ำความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเด็กแม้ยังไม่มีการเชื่อมโยงคลัสเตอร์ในโรงเรียนภายในจังหวัด

“ปัจจุบันยังพบการการระบาดในวงกว้างแต่อาการไม่รุนแรง เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนของจังหวัดพังงาเองก็ได้รับวัคซีนไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีความเสี่ยงคือกลุ่มไม่ได้รับวัคซีนและจากข้อมูลในสหรัฐพบว่าเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสัดส่วนค่อนข้างเยอะ รวมถึงหากดูตามสัดส่วนของกลุ่มเด็กอายุ 5-18 ปีพบว่ามีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะฉะนั้นเด็กๆ ควรได้รับวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยง”

ด้าน นพดล อุณหศิริกุล ครูโรงเรียนมัธยมตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จังหวัดพังงา ยอมรับว่ามีตัวเลขนักเรียนติดเชื้อทุกวันแต่ส่วนใหญ่เป็นการติดมาจากครอบครัวและคนภายนอก ซึ่งข้อดีของการได้รับวัคซีนแล้วคือแทบไม่มีอาการรุนแรงเลยแต่ขณะเดียวกันก็อยากเห็นการปรับมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่านี้ด้วย

“นอกจากเรื่องวัคซีนแล้ว ในส่วนของแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในโรงเรียนก็ควรกำหนดแนวทางให้เหมาะสมด้วย เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการเรียนการสอนที่ต้องรวมกลุ่มกัน ก็เป็นไปได้ยาก หากยังมีการเรียนการสอนแบบปกติ ยังมีการวัดผลแบบเดิม ประเมินการเรียนการสอนแบบเดิมอยู่เช่นนี้ แทนที่จะตัดกลุ่มวิชาที่ไม่มีความจำเป็นออกไปบ้าง เพื่อลดเวลาในการรวมตัวให้น้อยลง อาจจะเลิกเรียนเร็วขึ้น เป็นต้น เช่นเดียวกับอุปกรณ์สำหรับการป้องกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แอลกอฮอล์ หรือ ATK ก็ควรมีการสนับสนุนให้เพียงพอ”

ภาพจาก : https://www.paho.org/en/news/21-1-2022-who-strategic-advisory-group-experts-immunization-updates-recommendations-boosters