ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โควิดคงตัว มีการฉีดวัคซีนสูง แต่ยังพบผู้ติดเชื้อเหตุสัมผัสใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกัน พร้อมให้ข้อมูลคำนิยาม "ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง" และ 10 ข้อปฏิบัติดูแลตัวเองหากเข้าข่าย 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 ม.ค.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)   นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิดประจำวัน ว่า   สำหรับสถานการณ์โควิด ณ วันที่ 31 ม.ค.2565 ของทั่วโลกพบวันนี้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 2.1 ล้านคน สะสม 375 ล้านคน ตัวเลขเสียชีวิตวันนี้  5,786 ราย โดยสัดส่วนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยเริ่มลดลงเรื่อยๆ หมายความว่าการติดเชื้อแม้จะมีจำนวนมาก แต่ทั่วโลกฉีดวัคซีนเยอะมาก ประกอบกับสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเดลตา ทำให้การเสียชีวิตลดลงเหลือสัดส่วน 1.51% อย่างไรก็ตาม แต่หลายประเทศตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตยังเยอะ อย่างสหรัฐ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมัน อิตาลี ส่วนเอเชียยังพบอินเดียติดเชื้อสูง

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย นอกเหนืออินเดีย ยังพบอินโดนีเซียติดเชื้อค่อนข้างมาก รวมทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนามยังติดเชื้อหลักหมื่น ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีติดเชื้อรายใหม่กว่า 8 หมื่นราย แต่เสียชีวิตไม่มาก สำหรับประเทศไทยติดเชื้อรายใหม่ 8,008 ราย เสียชีวิต 16 ราย ค่าเฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตอยู่ 18 ราย สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 500 เศษๆ และเสียชีวิตยังคงตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดยังต้องติดตามใกล้ชิด เพราะสัปดาห์นี้จะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่ม อย่างเทสต์แอนด์โก 

 
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ยังพบสถานการณ์คงตัว ยกเว้นกรุงเทพ และสมุทรปราการ โดยกรุงเทพฯ ปริมณฑ,จะพบการติดเชื้อในสถานประกอบการ โรงงาน ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาก่อน หมายความว่าทำงานด้วยกันอาจติดเชื้อไม่มาก แต่ถ้ามีกิจกรรมร่วมกัน  โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ใกล้ชิดกันเป็นเวลานานในสถานที่ปิด จึงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้พบการระบาดในกลุ่มจังหวัดนี้ รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว

"สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในเกณฑ์คงตัว ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิต ถือเป็นความมุ่งหมายที่ดีที่พวกเราช่วยกัน ป้องกันทั้งตัวเอง ครอบครัวและบุคคลอื่นๆ" นพ.จักรรัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขออธิบายคำว่า ผู้สัมผัสเพิ่มเติม โดยประเภทผู้สัมผัส แบ่งประเภทหลายแบบ โดยสวนแรกต้องดูก่อนว่า เป็นคนแพร่ หรือผู้สัมผัสที่อาจรับเชื้อจากผู้ป่วย หากกลุ่มหลังต้องพิจารณาว่า เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด หรือผู้สัมผัสที่ไม่ถือว่าใกล้ชิด  หากใกล้ชิดก็จะแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำ โดยเสี่ยงต่ำก็ไม่เข้าตามเกณฑ์เสี่ยงสูง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. สัมผัสเสี่ยงสูงในครัวเรือน คนในบ้าน 2.ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสถานพยาบาล 3.ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในยานพาหนะ และ 4. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงเรียน ที่ทำงาน และในชุมชน  

"ความหมายจริงๆของผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ชุด PPE กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยก็จะรวมทั้งไม่ใส่ และใส่ไม่ถูกต้อง โดยการใกล้ชิดจะแบ่งเป็น 1.อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรือเข้าข่ายติดเชื้อ หรือตั้งแต่วันเริ่มป่วยหรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการป่วย 2.คนที่อยู่ใกล้กันพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จามใส่  และ3. อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก โดยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที ทั้งหมดคือ กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง" นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับแนวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง เรียกว่า 7+3  โดยกักตัวที่บ้าน 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน จากของเดิมช่วงโควิดระบาด 2 ปีแรกจะให้กักตัว 14 วัน แต่ตอนนี้กรณีโอมิครอน มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น จึงลดระยะเวลาลง ทั้งนี้ เรามี 10 ขั้นตอนการดูแลตนเอง หากเข้าข่ายผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ดังนี้

1.ตรวจสอบอาการตนเองหรือเช็คประวัติการสัมผัสใกล้ชิด หากเกิน 10 วันถือว่าจบ แต่หากอยู่ในช่วง 10 วัน อาจมีการสัมผัสมาได้ ต้องมาเช็กว่าใกล้ชิดอย่างไร ไม่สวมหน้ากากอนามัย พูดคุยกันหรือไม่ ฯลฯ 
2.เมื่อเข้านิยามสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เน้นย้ำการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100%
3.ให้กักตัวเองที่บ้าน (แยกเครื่องใช้ส่วนตัว สำรับอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด งดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และแจ้งทุกคนที่บ้านทราบด้วย) หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้เว้นพื้นที่ให้มีระยะห่างเพียงพอ เน้นแยกห่างจากกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
4.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 1 ตรวจวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย โดยอาจไปซื้อชุดตรวจจากร้านขายยา หรือลงทะเบียนรับชุดตรวจจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน
5.หากตรวจ ATK ครั้งที่ 1 เป็นลบ ให้กักตัวเองที่บ้านจนครบ 7 วันและเริ่มขั้นตอนการสังเกตอาการตนเอง(นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย) 

6.เฝ้าระวังสังเกตอาการ 3 วันหลังจาก 7 วันแรกไปแล้ว แต่เน้นเลี่ยงออกนอกบ้าน กรณีจำเป็นต้องไปทำงาน หรือไปภารกิจนอกบ้าน ขอให้เลี่ยงการใช้สถานที่สาธารณะ และขนส่งสาธารณะหนาแน่น แออัด งดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนจำนวนมาก
7.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือกลับจากสถานที่เสี่ยง
8.หากเป็นลบ ก็จบการกักตัว
9.หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีไม่มีอาการป่วยหรือป่วยเล้กน้อยให้โทร 1330 สปสช. ก็จะมีการปรับให้เป็นการแยกกักที่บ้านรับเครื่องตรวจวัดออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์ ผู้ประสานโทรติดตามอาการป่วย
10.หากผลตรวจ ATK เป็นบวกกรณีมีอาการป่วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกมาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้โทรประสานผู้ติดตามอาการ หรือประสานพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

"สิ่งสำคัญขอให้ป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะดีที่สุด" นพ.จักรรัฐ กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง