ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯสปสช.ย้ำตรวจ ATK เป็นบวกติดต่อ 1330 ได้ทุกสิทธิ จะนำเข้าสู่กระบวนการรักษา HI หรือ CI พร้อมย้ำ! หากตรวจ RT-PCR มีราคาจ่ายหน่วยบริการ 1,200 บาท แต่เอกชนบางแห่งคิดเกินต้องเป็น สบส. ดูแล เหตุไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขณะที่ปชช.หลายท่านไม่สะดวกรักษา HI ยังมี CI ให้บริการ

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีจะมีการปรับเปลี่ยนการบริการรักษาผู้ป่วยโควิด จากเดิมอยู่ในโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) สามารถเข้ารักษาในกลุ่มฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล ปรับมาเป็นต้องอาการฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาได้ ส่วนอาการไม่ฉุกเฉิน แต่มีอาการเข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคน ส่วนคนไม่มีอาการให้รักษาระบบที่บ้าน คือ Home Issolation (HI) และรักษาในชุมชน คือ Commutity Issolation (CI ) ปรากฎว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีประชาชนขอตรวจ RT-PCR รพ.กันจำนวนมาก และหลายรายไม่สามารถติดต่อเข้ารักษาระบบ HI นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ย้ำโควิดรักษาฟรีตามสิทธิ! หากเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตยังใช้ได้ พร้อมเผยเกณฑ์ 6 ข้อของยูเซป)

 

ล่าสุดวันที่ 17 ก.พ.2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ ว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดยังรักษาฟรีเช่นเดิม โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 1. หากประชาชนตรวจเชื้อที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาล และผลเป็นบวก ทางหน่วยบริการนั้นๆจะเป็นผู้นำท่านสู่การรักษา ซึ่งก็จะสอบถามว่า สะดวกรักษาผ่าน HI หรือไม่อย่างไร และ2.กรณีประชาชนตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองผ่าน ATK และผลเป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วนสปสช. 1330 ซึ่งจะติดต่อหน่วยบริการหรือรพ.เพื่อดึงท่านเข้าสู่ระบบ HI นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านแอดไลน์ สปสช. @nhso และเว็บไซต์สปสช. https://www.nhso.go.th/

“เมื่อท่านติดต่อมา ทางเจ้าหน้าที่สปสช.จะมีการประเมินอาการเบื้องต้น หากไม่มีอาการก็จะสอบถามว่า สะดวกเข้าระบบ HI หรือไม่ หากไม่สะดวกก็จะมีระบบ CI ซึ่งเมื่อท่านติดต่อมา ทางหน่วยบริการจะติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง และหากหน่วยบริการไม่ติดต่อกลับมา ขอให้ท่านแจ้งมายัง สปสช. ผ่านแอดไลน์ @nhso “ นพ.จเด็จ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีผู้ป่วยประสานติดต่อสปสช.ไม่ได้ และรพ.ก็ไม่รับเข้าระบบการรักษา แม้แต่การตรวจ RT-PCR ก็มีปัญหา นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ยอมรับว่า เริ่มมีคนโทรมาประมาณวันละ 2 หมื่นสาย อย่างเมื่อวาน(16 ก.พ.) โทรมาราว 2 หมื่นสาย ได้เข้าระบบ HI ประมาณครึ่งหนึ่ง เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องการเข้าฮอสพิเทล ทำให้ต้องรอ และจัดระบบ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า หากไม่มีอาการและสะดวกรักษาที่บ้าน ขอให้เข้า HI แต่หากไม่สะดวกจะมีการจัดบริการการรักษาในชุมชน หรือ CI รองรับ ซึ่งทั้งหมดระบบจะดำเนินการให้

เมื่อถามว่า ขณะนี้คนกำลังกังวลว่า หากแยกตามสิทธิ การติดต่อเพื่อเข้ารักษา HI หรือ CI ต้องไปตามสิทธิของตนหรืออย่างไร เลขาฯสปสช. กล่าวว่า จริงๆสามารถติดต่อได้โดยบัตรทอง 1330 หรือประกันสังคมโทร 1506 แต่ขณะนี้หากโทรมาที่สปสช. 1330 ได้ ซึ่งเราก็ดำเนินการให้ทั้งหมด

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาเรื่องการตรวจ RT-PCR ต้องขอย้ำว่า หากตรวจ ATK เองแล้วผลเป็นบวกก็สามารถรักษาผ่าน HI และ CI ได้ ซึ่งหากท่านไม่มีอาการใดๆ และท่านต้องการไปตรวจ RT-PCR เดิมก็สามารถตรวจได้หมด เพราะเราจะตามจ่ายให้ เพียงแต่หากไม่ได้กำหนดว่าอยู่ในยูเซปแล้ว หากไม่มีอาการฉุกเฉิน และต้องการตรวจ RT-PCR ก็ขอไปรพ.ตามสิทธิ หรือรพ.รัฐ ทางเราจะตามจ่าย

“ขณะนี้เราจ่ายค่าตรวจ RT-PCR อยู่ที่ 1,200 บาท แต่ปัญหาที่พบคือ รพ.เอกชนบางแห่ง มีการคิดค่าตรวจตรงนี้เกิน อย่างบางราย 3-4 พันที่มีการร้องเข้ามา ซึ่งเราก็ไปเจรจาและตามจ่ายในราคากลางที่กำหนด ซึ่งจุดนี้เมื่อมีการคิดเกินราคา ในส่วน สปสช. ไม่มีอำนาจในเรื่องกฎระเบียบกฎหมาย ต้องเป็นส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เลขาฯ สปสช. กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  "สาธิต" ลั่นยังไม่สรุปโควิดพ้นยูเซป เริ่ม 1 มี.ค. หรือเลื่อน 1 เม.ย.นี้ ขอหารือเพิ่มเติม)

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org