ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ย้ำไม่ได้ยกเลิกโควิดพ้นโครงการยูเซปทั้งหมด หากมีอาการฉุกเฉินยังเหมือนเดิมรักษาได้ทุกที่ ด้านกระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดทำ “ยูเซปพลัส” รองรับคนติดโควิดและมีโรคร่วม ปลัดสธ. มอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หารือร่วมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พิจารณาเกณฑ์เข้าข่ายรักษาแบบUCEP พลัส

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ศูนย์การแพทย์บางรัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีพบสัดส่วนการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากขึ้น ว่า ระบบการเฝ้าระวังนั้นเป็นการเฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ ป้องกันตัวเองสูงสุดก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิดได้เป็นอันมาก ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเราก็พยายามควบคุมทุกอย่าง ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และเป็นการติดเชื้อในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังถือว่าโอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นขอให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุดก็จะช่วยประคับประคองได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ วันนี้ผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตยังอยู่ในสถานการณ์ควบคุมได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามกรณีที่เชียงใหม่มีการติดเชื้อและประสานงานเข้าสู่ระบบยากนั้นจะให้นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปติดตาม และพัฒนาระบบ แต่ตอนนี้เรามีเกณฑ์อยู่ว่าสิ่งที่ทำให้ระบบรองรับโควิดได้เพราะประชาชนให้ความร่วมมือรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) มีการรักษาตามอาการ ดังนั้นขอขอบประชาชนทุกคน ซึ่งส่งผลต่อการมีเตียงรองรับผู้มีอาการ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่าสำหรับเรื่องโครงการยูเซปหรือ UCEP นั้นไม่ได้ปรับออกจาก UCEP แต่มีการปรับปรุงวิธีการให้บริการตามอาการของผู้ที่ป่วยโควิด เพราะตอนนี้เราอยู่กับโรคมา 2 ปีกว่า ๆ แล้ว พยายามจัดระบบบริการเพื่อรองรับได้ เพราะยังมีโรคอื่นๆ อีกมากที่รอใช้บริการทางการแพทย์ รอการรักษาในรพ. ถ้าไปเน้นว่าโควิดฉุกเฉิน ต้องแซงคิว มีอภิสิทธิ์เหนือโรคอื่นๆ ทุกอย่างจะทำให้ระบบสาธารณสุขรวน ดังนั้น ต้องปรับระบบการให้บริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคในประเทศไทย

“2 ปีกว่าแล้ว เราต้องทำให้ระบบพื้นฐานไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้ยกเลิกยูเซ็ปต์เด็ดขาด คนที่พูดว่ายกเลิกนั้นต้องขอให้ปรับความเข้าใจใหม่ หากมีอาการฉุกเฉินจริงๆ เช่น หายใจไม่ได้ เหนื่อยหอบ มีอาการไอรุนแรง ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดอยู่นั้นสามารถเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ขณะนี้ปัดสธ.ประชุมหารือกำหนดยูเซ็ปต์พลัส โดยกลุ่มเสีเขียว ไม่มีอาการก็ทำ HI เหมือนเดิม ส่วนสีเหลือง สีแดงก็จะมีการให้การดูแล” นายอนุทิน กล่าว

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า โรคโควิด19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ส่วนที่ผ่านมาต้องกำหนดเป็นโรคฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นโรคใหม่และกังวลจะไม่มีที่รักษาพยาบาลและทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการก็เหมือนโรคหวัดทั่วไป ที่มีคนป่วยหลายแสนรายต่อวันก็ไม่มีปัญหา เช่นเดียวกัน ตอนนี้คนติดโควิดที่จำเป็นต้องนอนรพ.มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป

ในส่วนของเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาทุกที่หรือ UCEP ปัจจุบันมี 2 ส่วน คือ UCEP ทั่วไป และUCEP โควิด 19 ซึ่งสามารถไปรักษาที่รพ.เอกชนตอนไหน เวลาไหนก็ได้หากพบว่าติดโควิด19 เพราะเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การติดโควิด19ต้องไม่นำแล้ว แต่UCEP ยังมีอยู่ โดยหากคนไข้โควิด19ถ้ามีอาการรุนแรงถึงขนาด เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด19 แม้ว่าโควิด19ไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง ก็จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็น UCEP โควิด19 เพื่อให้ได้รับการดูแลเพราะการดุแลไม่ใช่ดูแลแบบโรคไต แต่เป็นการดูแลแบบโควิด19 เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ก็ต้องเข้าอยู่ในขอบข่ายของโควิด19 แม้โรคโควิดจะไม่ได้รุนแรง

“จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำUCEP พลัส ก็คือรองรับคนติดโควิด19และมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิด19จะไม่รุนแรง ซึ่งในวันที่ 17 ก.พ.2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จะมีการหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบUCEP พลัส แต่ในหลักการคือ คนที่ติดโควิด19และมีโรคร่วมเดิม จากนี้จะกำหนดนิยามของผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ที่โรคร่วมเดิมอะไรบ้างอยู่ที่ข้อสรุปของการหารือ”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด19 จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่รพ.เอกชนใดก็ได้ ก็ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีสิทธิ์รักษาที่รพ.ราชวิถี ก็ไปใช้สิทธิรพ.ราชวิถี ถ้าอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ รพ.ก็จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้านหรือHI แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ่านได้ ก็จะมีระบบดูแลที่โรงแรม(Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสปิเทล