ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยอยู่ในจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจากนี้ไปสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น การดูแลให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่มี มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงเป็นความจำเป็นเพื่อมิให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผิดชอบมากเกินไป

ในการประชุมวิชาการ “ภาคีวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 4 ภาค” ซึ่งศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์ยาในผู้สูงอายุ และนวัตกรรมการแก้ไข ซึ่งมีงานวิจัยที่นำมาเสนอหลายชิ้น อาทิงานวิจัยศึกษาความชุกของการใช้ยาที่มีความเสี่ยงในผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงของผู้สูงอายุด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ยา โดยอ.ภญ.ดร.กมลวรรณ ตันติพิวัฒนสกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุทั้งหมด 100 คน เป็นเพศหญิงร้อยละ 62 อยู่ในช่วงอายุ 60-65 ปี ร้อยละ 52 มีจำนวนรายการยา 671 รายการ ซึ่งยาที่มีเกณฑ์ความเสี่ยงรวม 149 รายการ ความชุกของรายการที่มีความเสี่ยงแต่ละรายการที่สำรวจได้ในผู้สูงอายุ 5 อันดับแรก ได้แก่ Dimenhydrinate ,Tramadol ,Amitriptyline ,Lorazepam และ Trihexyphenidyl

"สิ่งที่คณะวิจัยได้เรียนรู้คือความเข้าใจการใช้ยาในผู้สูงอายุ อาจจะไม่สามารถเป็นภาพแทนผู้สูงอายุทั้งประเทศได้แต่ก็ได้ภาพกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ทางกลุ่มยังมีความคาดหวังที่จะทำให้ต่อเนื่องแล้วเอาไปใช้จริง แม้ว่าจะเน้นที่ผู้ดูแลแต่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ใช้ยานั้นสำคัญ โดยอย่าลืมว่าผู้สูงอายุนั้นมีปัญหาสายตา ปัญหาสุขภาพ พฤติกรรมและปัญหาการได้ยิน" อ.ภญ. ดร.กมลวรรณ กล่าว

คณะผู้วิจัยมีข้อแนะนำสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไปว่าควรคึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับยาที่มีความเสี่ยง และเพื่อให้สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด หากมีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้ออุบัติใหม่อีกควรเตรียมหารูปแบบการเก็บข้อมูลวิจัยแบบอื่นที่ไม่ต้องพบกับผู้สูงอายุโดยตรง โดยผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบันที่หลากหลาย รวมทั้งควรศึกษาการนำนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ที่มีความสามารถช่วยดูแลการใช้ยาของผู้สูงอายุเพิ่มเติม หรือพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สามารถดูแลยาในผู้สูงอายุได้มีประสิทธิภาพ

ภญ.อารีวรรณ ทองขุนดำ รองประธานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวนร้อยละ 20 จากการศึกษาสถานการณ์ยาในผู้สูงอายุที่มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและนวัตกรรม ในสถานพยาบาล 4 แห่ง เริ่มจากที่ศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ โรวพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งพฤติกรรมการใช้ยา พบว่าความร่วมมือในการใช้ยาเหมาะสม 185 ราย มีเพียง 20 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังพบการใช้ยาร่วมกับสมุนไพรหรืออาหารเสริมที่ไม่เหมาะสม 10 ราย ในการศึกษาเชิงคุณภาพ 7 ราย ในผู้ป่วยที่มีความร่วมมือในการใช้ยาไม่เหมาะสมเกิดจากวิธีการใช้ยาไม่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เคยเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา หรือมีทัศนคติเชิงลบต่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

การศึกษาจากเขตคลินิกชุมชนวัดใหม่ทุ่งคา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้ทำการศึกษาผู้สูงอายุที่มีโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง 100 คน พบมีการใช้ยาแผนโบราณ สมุนไพร อาหารเสริม ร่วมกับยาที่รักษาประจำ 23 คน จากการสั่งซื้อทางออนไลน์ และขายตรง ในขณะที่การศึกษาใน รพ.สต.บ้านบือราเป๊ะ อ.เมือง จ.นราธิวาส ร้อยละ 3.03 ปฏิเสธการใช้ยาโดยเลือกที่จะใช้สมุนไพรและลูกกลอนเท่านั้น พบยาเหลือใช้จำนวนมากร้อยละ 24.24 และปัญหาที่พบจากการใช้ยาร้อยละ 15.15 คือ ผู้ป่วยหยุดยาเอง ส่วนที่สุดท้าย รพ.สต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง สำรวจด้วยการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ได้ จำนวน 12 ราย พบปัญหายาเหลือใช้ ยาขยะ ใช้ยาไม่ถูกเนื่องจากอ่านฉลากไม่เห็น

"ด้านนวัตกรรมการแก้ไขทีมงาน อ.รัตภูมิ มีการทำกระเป๋าใส่ยาที่มีการให้ความรู้ มีการก่อตั้งกลุ่มไลน์แจ้งเตือนภัยยาและอาหารเสริม ที่รพ.สต.บ้านบือราเป๊ะ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ร้องเพลงภาษาไทยและยาวีลงยูทูป ส่วน รพ.สต.ปันแต ทำฉลากเสริมรูปภาพจากพรินท์เตอร์เคลื่อนที่เชื่อมต่อกับแอปบนสมาร์ทโฟน" รองประธานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาภาคใต้

ทั้งนี้ ภญ.อารีวรรณ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้โปรแกรมพิมพ์ฉลากยาที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ หรือใช้ใน รพ.สต. ต้องพัฒนาการพิมพ์ฉลากยาให้เป็นทั้งตัวอักษรและรูปภาพ เพื่อรอรับกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทบทวนการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่คุ้มครองผู้บริโภคกำหนดขนาดตัวอักษร ตำแหน่งที่เหมาะสมอ่านได้ทันที

"อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและควบคุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย ช่องทางออนไลน์อย่างเคร่งครัด ควรมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในสถานพยาบาลหรือชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรทางสาธารณสุขทุกวิชาชีพ สร้างเครือข่ายภาคประชาชนรวมถึงเยาวชนให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ในแบบองค์รวม และปลูกจิตสำนึกของความกตัญญูให้แก่เยาวชนตามบริบทของพื้นที่" ภญ.อารีวรรณ สรุป

ด้าน ผศ. ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปในชุมชน ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีปัญหาเรื่องยาเหลือใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงผู้สูงอายุ จึงได้ลงไปศึกษาข้อมูลในพื้นที่ รพ.สต.บ้านเขาทอง เมื่อปี 2564 โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,479 คน ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 92.36 โรคเบาหวาน ร้อยละ 45.91 และโรคไขมันในเลือดสูง มีปริมาณยาที่รับไป 2 เดือนต่อครั้งเป็นจำนวนที่สูงมาก สิ่งที่พบคือผู้สูงอายุเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันมากประมาณร้อยละ 80 ส่วนใหญ่มีปัญหาสายตา รวมทั้งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่สามารถอ่านฉลากยาได้ เกิดปัญหากินยาไม่ตรงเวลา ในวันพบแพทย์บางส่วนเอายาที่เหลือใช้กลับมาคืน จึงคิดพัฒนานวัตกรรม 2 แบบ ให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุเข้าถึงได้ง่าย ใกล้ชิดติดบ้านกับผู้สูงอายุ รวมถึงกระตุ้นให้นำยากลับมาคืนรพ.สต.

"ตัวแรกคือกระเป๋ายาโดยใช้คำว่า กระเป๋าบอกเวลาคืนยาช่วยชาติ อีกส่วนหนึ่งคือโฆษณาวิทยุและบทวิทยุเกี่ยวกับยา ใช้สถานีวิทยุชุมชน ต.เขาทอง เป็นแหล่งช่วยเปิดตัวสนับสนุนสปอตวิทยุ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วย NCDs โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ จำนวนรวม 1,000 คน มีการผลิตกระเป๋าบอกเวลาคืนยาช่วยชาติ 1,000 ใบ กระจายให้กับผู้สูงอายุที่รับบริการ รพ.สต.บ้านเขาทอง มีเอกสารแนะนำการใช้งานกระเป๋าสอดไว้ในกระเป๋าทุกใบ คีย์เวิร์ดคือเราต้องสังเกตกระเป๋าที่แขวนในบ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อทำให้ผู้ป่วยเตือนตัวเองว่าถึงเวลากินยาให้ตรง และถ้ายาเหลือให้เอากลับไปคืนที่ รพ.สต. หรือสถานีอนามัย" นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

สิ่งที่นำเสนอในเวทีวิชาการครั้งนี้คือส่วนหนึ่งของปัญหาสถานการณ์ยาที่เกิดขึ้นรับสังคมสูงวัย ซึ่งต้องหาทางแก้ไขจัดการเพื่อมิให้ส่งผลในระยะยาวซึ่งจะกระทบต่อระบบสุขภาพ ในภาวะที่สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง