ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาพยาบาลตนเองในเบื้องต้นเมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในชุมชน คือการซื้อยาจากร้านขายยา การไปคลินิกแพทย์ คลินิกพยาบาลเพื่อตรวจอาการ ซึ่งแม้จะดูว่าเป็นการรักษาพยาบาลจากผู้ประกอบวิชาสชีพที่ย่าเชื่อถือ แต่ยังมีรายละเอียดบางด่านที่อาจมีการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมโดยเฉพาะการจ่ายยาให้กับคนไข้ ซึ่งเวทีประชุมวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 4 ภาค ซึ่งจัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ นำเสนอผลการศึกษาสะท้อนปัญหาที่พบในแต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ

ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยผลการศึกษาในพื้นที่ 6 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ,อ.ปทุมราชวงศา อ.อำนาจเจริญ ,อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ ,อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ,อ.โนนคูน จ.ศรีสะเกษ และ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งดำเนินกิจกรรมการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านยา 6 กิจกรรม พบข้อมูลที่น่าสนใจในผลสำรวจชื่อยาบนซองยา โดยสถานพยาบาลทั้งคลินิกแพทย์ คลินิกพยาบาล และร้านขายยา มีข้อมูลชื่อยาบนซองให้ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 18.3 เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุในการทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยได้ เช่น อาจเกิดการแพ้ยาซ้ำ การได้รับยาเกินขนาด ขาดทรัพย์จ่าย ไม่มีข้อมูลรักษาต่อเนื่อง และเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและสิทธิผู้ป่วย

"การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลในชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่มีพลังเข้มแข็งเพื่อทำให้ชุมชนนั้นสามารถสร้างกลไกในการเฝ้าระวังร่วมกันตรวจสอบกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่สมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลางซึ่งในแต่ละพื้นที่มีการดำเนินการสร้างเครือข่ายพัฒนาศักยภาพเครือข่าย" ภญ.สุภาวดี สรุป

ภก.สันติ โฉมยงค์ สำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ประเด็นเรื่องของยาชุดซึ่งพบมากในโซนภาคกลาง ได้แก่ จ.สิงห์บุรี ชัยนาท พื้นที่ห่างไกลอย่าง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบว่าสามารถสั่งซื้อยาชุดผ่านทางออนไลน์ได้ด้วย ในขณะที่การใช้กัญชาพบการใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือระยะประคับประคองที่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุบางส่วนที่มีการใช้กัญชามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังไม่ผิดกฏหมาย นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนเกิดความสับสนนโยบายและข้อกฎหมาย

"นอกจากนี้เป็นประเด็นการใช้ยาในวัยรุ่น polydrug เอายาแก้ไอไปใช้กับสี่คูณร้อยเป็นน้ำต้มใบกระท่อมซึ่งเรามีการข้อมูลใน จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.ลพบุรี เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ประเด็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโควิดตั้งแต่มีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด เป็นการใช้งบประมาณจาก สปสช.ไปใช้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่นหน้ากากอนามัย พบว่าในภาครัฐเองยังไม่มีมาตราการควบคุมหรือกำกับที่น่าเชื่อถือ หรือแอลกอฮอล์เจลที่กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้ผู้ปฏิบัติการเองหรือประชาชนเกิดความสับสน

"ประเด็นสุดท้ายที่เราเป็นห่วงคือผลิตภัณฑ์ยาในผู้ป่วยที่กักตัว HI หรือ CI เราพบว่ามีการใช้งบประมาณของ สปสช.ในการจัดซื้อสมุนไพรซึ่งไม่มีข้อมูลหรือข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน ที่ จ.สิงห์บุรี พบว่ามีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปตั้้งบูธจำหน่ายที่วัดซึ่งเป็นสถานที่กักตัวโดยมีบริษัที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปออกอีเวนท์ตรวจสุขภาพ หรือมีเครื่องมือทางการแพทย์ไปให้การตรวจกับญาติที่ไปทำบุญหรือไปเยี่ยมผู้ป่วยในสถานที่กักตัว" ภก.สันติ กล่าว

สำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวสรุปว่า หน่วยงานรัฐเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันกับเหตุการณ์ เช่น พรบ.ยา หรือ พรบ.สมุนไพร ข้อเสนอจากการเฝ้าระวังคืออยากให้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารซึ่งฟังก์ชั่นและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที

ด้าน ภญ.อรพินท์ พุ่มภัทรชาติ โรงพยาบาลสันกำแพง จ.เชียงใหม่ รายงานผลการจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยในชุมชนโดยเครือข่ายเฝ้าระวัง คบส. และ กพย. ภาคเหนือตอนบน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และ พะเยา ว่า ตั้งแต่มกราคม 2561- กันยายน 2562 มีเรื่องร้องเรียน 246 เรื่อง เกี่ยวกับอาหารมากที่สุด รองลงมาคือยา และเครื่องสำอาง

"ปัญหาเรื่องอาหารที่พบคือโฆษณาสรรพคุณเกินจริง และผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย เลขอย.ไม่ถูกต้อง เรื่องยาที่พบมากที่สุดคือไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่วนสถานการณ์ยาที่พบใน จ.เชียงใหม่ จากข้อมูลเมื่อปี 2564 เรื่องอาหารเยอะที่สุด โดยปัญหามาจากสมุนไพร" เภสัชกรจากโรงพยาบาลสันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าว

นอกจากนี้ ภญ.อรพินท์ ยังเปิดเผยว่า จากการทบทวนสถานการณ์และสรุปปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จาก 4 จังหวัด ปัญหามีอยู่ 5 ประเด็น ได้แก่

1.การจำหน่ายยาชุด ยาอันตราย (NSAIDs,Antibiotics) ยาไม่มีทะเบียนและเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลาก รวมถึงผลิตภัณฑ์หมดอายุในร้านชำ

2.พบผลิตภัณฑ์อาหารและยามีการปลอมปนสเตียรอยด์ในพื้นที่ มีการหาบเร่มาขายในชุมชน

3.การจำหน่ายยาแผนโบราณ ยาชุด ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

4.การจำหน่ายเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัยในตลาดนัด

5.การโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงของอาหารเสริมและสมุนไพร

ในขณะที่ พวงทอง ว่องไว เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ซึ่งทำงานร่วมกับ สสจ.ในพื้นที่ กล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายใหม่ของสภาคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน มีการเชื่อมโยงกับแกนนำในพื้นที่ร่วมกับสาสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้ง รพ.สต. ทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

"ข้อเสนอต่อการจัดการยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ 1.สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาชนเพื่อเฝ้าระวังและเชื่อมโยงข้อมูลในการจัดการปัญหาเรื่องยาไม่จำกัดแค่เภสัชกร 2.อยากให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลปัญหาการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับประเทศและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ 3.สร้างการตระหนักรู้และเท่าทันปัญหากับประชาชนในการบริโภคยาและผลิตภุณฑ์สุขภาพ เช่น การเตือนภัย สร้างการเรียนรู้ 4.พัฒนากระบวนการสร้างนักศึกษาเภสัชกรที่เข้าใจและทำงานชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาตามบริบท อยากเสนอส่วนกลางว่าจะผลิตนิสิตอย่างไรให้จัดการปัญหาชุมชนได้" พวงทอง กล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ยังมีข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วยดังนี้

1.ให้มีการระบุชื่อยาบนซองยา ที่มาจากร้านยา คลินิก ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งชื่อสามัญทางยา ความแรง สรรพคุณ

2.กำหนดประเภทยาอันตราย อาทิ แอสไพริน 650 มิลลิกรัม แบบ powder บรรจุในซองกระดาษ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย หรือ ยา NSAIDs มีจำหน่ายในร้านขายของชำแต่ไม่มีใช้ในบัญชียาโรงพยาบาล เช่น Piroxicam 20 มิลลิกรัม ต้องทบทวนรูปภาพบนกล่องยาที่มีภาพของกระดูกเป็นการเชิญชวนผู้บริโภคให้ใช้ยานี้

3.รัฐต้องดำเนินการลงโทษอย่างจริงจังกับผู้ประกอบการ เมื่อกระทำผิดแล้วต้องเท่าทัน เช่น หากมีกำไรจากการประกอบกิจการ 1 ล้านบาท ก็ต้องปรับ 1 ล้านบาท เป็นต้น