ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ขณะนี้ มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่ยังทุ่มงบประมาณกับการตรวจแบบปูพรมไม่ให้เหลือสักคนเดียว นั่นคือประเทศที่ใช้แนวทาง Zero-covid เช่นจีนและพื้นที่ในการบริหารปกครองของจีน เช่น ฮ่องกง ซึ่งมีรายงานข่าวว่าฮ่องกงประกาศตรวจพลเมืองทุกคน หลังจากเกิดการระบาดหนักอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนสั่นคลอนแนวทาง Zero-covid ซึ่งดูเหมือนว่าฮ่องกงจะใช้วิธีการกำจัดเชื้อไม่ให้มีอยู่เลยในดินแดนของตน จึงเลือกที่จะทุ่มการตรวจแบบถ้วนหน้า

ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้แนวทาง Living with Covid ซึ่งตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

1. คือกลุ่มที่ "อยู่กับโควิดแบบครึ่งท่อน" นั่นคืออยู่กับมันแต่ต้องรู้ว่ามันอยู่จุดไหนและกับใคร นั่นคือการตรวจประชาชนก่อนจะเข้าร่วมพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน เมื่อพบเชื้อแล้วจะทำการกันผู้ที่ติดเชื้ออกไป แต่ผู้ที่ใกล้ติดผู้ติดเชื้อและไม่พบเชื้อให้ดำเนินชีวิตตามปกติ ประเทศที่ใช้แนวทางนี้ก็เช่นสหราชอาณาจักร

2. คือกลุ่มที่ "อยู่กับโควิดแบบเต็มตัว" นั่นคือไม่ทำการตรวจ ไม่สั่งให้ตรวจโดยบังคับ ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพปกติ ผุ้ที่เจ็บป่วยก็ให้รับการรักษาเหมือนกับเป็นโรคประจำถิ่น ประเทศที่ใช้แนวนี้ เช่น สวีเดน

สำหรับประเทศกลุ่มที่ 2 มีข้ออ้างเรื่องไม่อยากแบกรับต้นทุนการตรวจโควิดที่สูงอีกต่อไป ดังนั้น เราจึงควรมาพิจารณากลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มใหญ่ว่าจะมีศักยภาพแบกรับต้นทุนการตรวจเชื้อได้นานแค่ไหน และมีตัวเลือกอยางไรบ้างหากจะดำเนินตามสูตรนี้ต่อไป

ก่อนอื่น เราลองมาดูกันก่อนว่าต้นทุนค่าตรวจเชื้อโควิด-19 ในประเทศต่างๆ นั้นสูงต่ำต่างกันแค่ไหน และแอบแฝงปัญหาและความน่ากังวลอะไรเอาไว้บ้าง

• ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมกราคม หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้แสดงความกังวลว่าการทดสอบแอนติเจนแบบเร็ว (Rapid Antigen Test) มักมีราคาระหว่าง A$20 ถึง A$30 (ประมาณ 463 - 965 บาท) ต่อการทดสอบหนึ่งครั้ง และบางครั้งอาจมากกว่า A$70 (ประมาณ 1,622 บาท) ที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีราคาขายส่งตั้งแต่ A$3.95 ถึง A$11.45 (ประมาณ 91.5 - 265 บาท) ความกังวลของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับราคาที่ค่อนข้างแพงนี้ สะท้อนถึงปัญหาที่รออยู่ตรงหน้าออสเตรเลีย ถ้าใช้วิธีการตรวจแบบปูพรมแบบวันต่อวัน หรือแม้แต่การส่งเสริมให้มีการตรวจเชื้อเป็นประจำ (1)

• ประเทศฝรั่งเศส การตรวจเชื้อด้วยตัวเองมีราคาระหว่าง €4 - €5 (ประมาณ 146 - 183 บาท) ในร้านขายยาและประมาณ €1.25 (ประมาณ 46 บาท) ในซูเปอร์มาร์เก็ตแบบจำหน่ายหลายแพ็ค การตรวจแบบเร็วและการทดสอบ PCR ที่ดำเนินการในร้านขายยา ห้องปฏิบัติการ และศูนย์ทดสอบนั้นฟรีสำหรับทุกคนที่ลงทะเบียนกับระบบการรักษาพยาบาลของฝรั่งเศสและได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ (เช่น นักท่องเที่ยว) และผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนจะต้องจ่ายเงินประมาณ €25 (ประมาณ 913 บาท) สำหรับการตรวจด่วน และ €45 ยูสำหรับการทำ PCR (ประมาณ 1,643 บาท) (1)

• เยอรมนี มีราคาต่างกันไปแต่วิธีการคล้ายฝรั่งเศส โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 ได้ยกเลิกระบบการทดสอบแบบเร็วฟรีกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้คนเลห่านี้ประสบกับความลำบากมากขึ้นในการเข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ เช่น โรงละครและสนามฟุตบอล ยกเว้นสตรีมีครรภ์ เด็ก หรือผู้ที่ไม่ได้รับคำแนะนำให้รับวัคซีนด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เป้าหมายก็คือบังคับให้ประชาชนจะได้ไม่ต้องไม่พึ่งพาระบบการทดสอเพื่อหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายน ทางการต้องนำการทดสอบฟรีกลับมาใช้กับประชาชนทุกคนอีกครั้ง เนื่องจากทางการพยายามควบคุมอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากการติดเชื้อลดลงทางการเยอรมนีก็อาจนำวิธีการเดิกลับมาฝช้อีก (1)

• เบลเยียม ราคาของอุปกรณ์ Rapid Antigen Test ที่จำหน่ายในร้านขายยาอยู่ที่ประมาณ €6 - €8 (ประมาณ 219 - 292 บาท) ซึ่งแพงกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าจะมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในเบลเยียมประมาณ €3 (ประมาณ 109 บาท) ส่วนการทดสอบ PCR ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ €41 นั้น (ประมาณ 1,498 บาท) ให้บริการฟรีสำหรับผู้ที่มีอาการ หรืออาจได้รับเงินชดเชยจากการประกันสุขภาพ กระนั้นก็ตามการทดสอบด้วยตนเองมักจะต้องจ่ายกันเอง สมาคมผู้บริโภคชาวเบลเยียม คือ Test-Achats/Test Aankoop ประมาณการว่าครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คนอาจต้องใช้เงิน €250 (ประมาณ 9,131 บาท) ต่อเดือนในการทดสอบโควิด เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย (1)

• สหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงการทดสอบ Rapid Antigen Test และ PCR แตกต่างกันไปขึ้นอยู่พื้นที่อยู่อาศัยและขึ้นกับว่าบุคคลนั้นๆ มีประกันสุขภาพแบบใด (หรือไม่มี) โดยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม บริษัทประกันสุขภาพเอกชนมีพันธะต้องจ่ายค่าตรวจ Rapid Antigen Test ที่บ้านผู้ทำประกัน 8 ครั้ง ส่วนการทดสอบแอนติเจนอาจมีราคาประมาณ $15 (ประมาณ 482 บาท) ในร้านขายยาหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ก แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม มีไซต์ทดสอบฟรีเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วประเทศ รวมถึงชุดทดสอบหลายล้านชุดสำหรับโรงเรียน การตรวจ PCR มีให้ที่คลินิกเอกชน ราคา $100 (ประมาณ 3,215 บาท) ขึ้นไป แต่ก็สามารถรับการตรวจฟรีจากโรงพยาบาลและคลินิกบางแห่ง (1)

สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่หันมาเน้นการตรวจเชื้ออย่างครอบคลุมและในเวลาเดียวกันก็ตระหนักวาเรื่องนี้มีปัญหา โดยเฉพาะการเข้าถึงชุดตรวจสำหรับประชากรที่มีความแตกต่างกันในเรื่องฐานะและการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ (ซึ่งเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื่องสาธารณสุขที่ใหญ่เรื่องหนึ่งของประเทศนี้) ดังนั้น รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนจึงประกาศว่าในส่วนของประชากร 28 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ รัฐบาลจะซื้อชุดตรวจฟรี 1,000 ล้านชิ้นโดยสามารถขอทางออนไลน์หรือที่คลินิกสุขภาพและร้านขายยาในท้องถิ่นได้ (1) (ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแจกจ่ายกันอยางไรหรือรัฐบาลได้ชุดตรวจมาแล้วหรือยัง)

จากการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันโดยเว็บไซต์ ValuePenguin พบว่า เกือบหนึ่งในสี่ (23%) ของผู้ตรวจเชื้อโคงิด-19 มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเองที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ โดยเฉลี่ยแล้วเสียค่าจ่ายไป $120 (ประมาณ 3,853 บาท) ในการทดสอบ และ20% ของชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพเลือกที่จะไม่รับการตรวจเชื้อ เนื่องจากความกังวลเรื่องความสามารถในการจ่าย โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคที่ไม่มีประกันมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการตรวจเชื้อ (52%) เมื่อเทียบกับผู้ประกันตน (65%) ดังนี้แล้ว 87% ของชาวอเมริกันจึงคิดว่าการตรวจโควิดควรจะฟรีสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงการประกันสุขภาพ (2)

เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาเฉพาะของสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนตองแบกรับกับค่าตรวจเชื้อที่สูงพอสมควรกันเอาเองขณะที่รัฐบาลก็ไม่แน่ไม่นอนกับคำมั่นสัญญาเรื่องการกระจายชุดตรวจฟรีให้กับผู้ที่มิได้ประกันตน

นอกจากสหรัฐอเมริกาที่มีเงื่อนไขต่างจากประเทศในยุโรป จะเห็นว่ายุโรปใช้วิธีแบบ "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" นั่นคือ ใช้วิธีลดความช่วยเหลืออุดหนุนการตรวจให้กับประชาชนที่ไม่ฉีควัคซีน ในแง่หนึ่งสามารถลดงบประมาณไปได้มาก เพราะมีประชากรจำนวนมากที่ยังยอมฉีดวัคซีนหรืออย่างน้อยหลีกเลี่ยงที่จะฉีดให้ "ครบโดส" และในแง่หนึ่งก็เท่ากับบีบบังคับให้ผู้ที่ยังไม่ฉีต้องรับการฉีดเพื่อใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สาธารณะ ซึ่งหลายประเทศกำหนดไว้ว่าผู้ที่เข้าไปยังพื้นที่คับคั่ง จะต้องมีการยืนยันผลตรวจ หรือที่เรียกว่า Covid Pass/Green Pass ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านหนักขึ้นไปอีกเช่นกัน เพราะประชาชนที่ไม่ยอมรับวัคซีนอยู่แล้ว เห็นว่ารัฐแทรกแซงการตัดสินใจส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป

ในระยะที่ที่บทความนี้เขียนขึ้น การระบาดของเชื้อโอไมครอนยังรุนแรงในยุโรป แต่บางประเทศไม่สนใจนับยอดผู้ติดเชื้อีอกต่อไปยิ่งไม่ต้องพูดถึงการบังคับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้ประชาชนตรวจเชื้อรูปแบบต่างๆ บางประเทศยังคงใช้วิธีตรวจเชื้อต่อไปในวงกว้าง เช่น เยอรมนี แต่การทำแบบนี้ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของประเทศนั้นๆ ด้วย เพราะมีข้อจำกัดที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย แม้แต่ประเทศที่สัญญาว่าจะจแกจ่ายชุดตรวจให้ประชาชนฟรีนับพันล้านชุดก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน (สหรัฐอเมริกา) และประเทศไม่กี่ประเทศในยุโรปที่เสนอจะแจกฟรีก็ยังดูเหมือนว่าทำอย่างเสียมิได้เช่น สเปน ที่ประกาศแจกจ่ายชุดตรวจ 5 ล้านชุดเฉพาะในเขตกรุงมาดริด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมจำนวนประชากรแน่นอน

และสเปนเองก็เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เสนอแนวทาง "อยู่ร่วมกับโควิด" ด้วยซ้ำ ก่อนจะถูกเบรกจากองค์การอนามัยโลก แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าสเปนเองก็แบกรับต้นทุนของการควบคุมการระบาดและการตรวจเชื้อไม่ไหวเช่นกัน และในอีกไม่นานก็คงจะตามรอยกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถแบกรับต้นทุนจากการตรวจเชื้อได้

ไม่ใช่ทุกประเทศที่ยุติการตรวจเชื้อโดยไม่มีเสียงวิจารณ์ เช่น สหราชอาณาจักร มีการเสนอเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ว่าจะยกเลิกการตรวจเชื้อแบบด่วนฟรีให้กับประชาชน หลังจากที่รัฐบาลยุติมาตรการจำกัดต่างๆ พื่อควบคุมการระบาดแล้ว โดยบรรดารัฐมนตรีต่างหวังว่าแผนการยุติการตรวจเชื้อโควิด-19 และการจ่ายเงินเพื่อการกักตัวจะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า £10,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 437,007 ล้านบาท) และการทดสอบ PCR จะใช้กับเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้ที่ถือว่ามีความเสี่ยงทางคลินิกเท่านั้น (3)

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกลับเห็นว่าการยกเลิการกตรวจฟรี (ซึ่งรัฐบาลระบุวาจะช่วยประหยัดงบประมาณ) กลับจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการเงินและสุขภาพของประชาชน ในขณะที่ความเห็นของสมาคมผู้อํานวยการสาธารณสุข (ADPH) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำในวงการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การให้การตรวจเชื้อฟรีนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ "แพงอย่างมาก" สำหรับรัฐบาล และขนาดของโครงการในปัจจุบัน"ไม่สามารถยั่งยืนได้ตลอดไป" (4)

กระนั้นก็ตาม ADPH ก็แบ่งรับแบ่งสู้โดยบอกว่าการบังคับให้ประชาชนจ่ายเงินตรวจเชื้อกันเอง จะมี "ผลกระทบในด้านเสียหาย"โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ด้อยโอกาส

 

อ้างอิง

1. "How much does a Covid test cost around the world?". (11 Feb 2022). Guardian.

2. Delfino, Devon. (14 Feb 2022). "COVID-19 Testing Survey: Americans Talk Out-of-Pocket Charges, Bill Negotiations, Barriers". ValuePenguin.

3. Osborne, Samuel. (15 Feb 2022). "COVID-19: Provision of free lateral flow tests under review as reports say they are due to end". Sky News.

4. Culbertson, Alix. (16 Feb 2022). "COVID-19: Ending free testing a mistake and will make pandemic worse, Sir Keir Starmer says". Sky News.

 

ภาพ Claude Nizeyimana/wikipedia.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง