ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะสังเกตอาการลูกหลานหากมีภาวะ MIS-C  เช่น ไข้สูง อาเจียน  ท้องเสีย  ขอให้รีบนำส่งรพ.ทันที ชี้หลังป่วยโควิดพบได้ 1 ในหมื่นราย และรักษาได้ ส่วนกรณีกลุ่มเด็กไม่มีอาการ ขณะนี้หารือร่วมราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยสูติฯ จัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดเด็กรูปแบบ "ผู้ป่วยนอก" หรือโอพีดี

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีเด็กเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งผู้ปกครองได้โพสต์ข้อความระบุว่าได้รับแจ้งจากแพทย์ว่าจะเป็นภาวะ Long Covid ว่า   จากการติดตามที่มีการรายงานผ่านสื่อต่างๆ พบว่าอาการที่เกิดขึ้นเข้าได้กับภาวะ MIS-C ไข้สูง อาเจียน อุจจาระ ส่วนที่ระบุว่าไม่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นตนไม่ทราบ สมมติเคยติดเชื้อมาก่อนไม่มีอาการหรือไม่ ซึ่ง MIS-C สามารถเกิดได้ปลายสัปดาห์แรกๆ หลังติดเชื้อโควิด แต่ไม่ได้พบมาก จากข้อมูลพบอัตราการเกิดอยู่ 1 ใน 10,000 รายของประชากรที่ติดเชื้อ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตลูกหลานหากมีอาการร่วม 2 อย่างขึ้นไป ไข้สูง ใจสั่นเต้นเร็ว หน้าแดง มีผื่น ท้องเสียอาเจียน ซึม ไม่รู้ตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ การรักษาสามารถรักษาได้ โดยการให้ภูมิคุ้มกันจากน้ำเหลือง และเลือด ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาการหนักๆ หลักๆ อาจจะหายได้ แต่อาจจะมีบางอาการที่หลงเหลืออยู่ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนป่วยด้วย หรือมีโรคร่วมอื่นๆ หรือไม่ แต่ไม่กระทบกับการใช้ชีวิต ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะเราเพิ่งอยู่กับโควิดมา 2 ปี กว่าๆ  อย่างไรก็ตาม จริงๆ การติดเชื้อในเด็กถ้าไม่มีอาการยังสามารถดูแลที่บ้าน หรือ HI ได้ ซึ่งจริงๆ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำมานั้นสามารถให้เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ดังนั้น ขณะนี้จึงอยู่หว่างการหารือร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ในการจัดการดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบผู้ป่วยนอกต่อไป คือ ตรวจที่รพ.แล้วกลับไปอยู่บ้าน โดยมีแพทย์ดูแล หรือมาติดตามอาการต่อที่รพ. หากมีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงก็สามารถโทรมาได้ 

"การอยู่บ้านไม่เข้มงวดเหมือน HI อย่างเราเคยบอกว่าให้แยกตัวไม่พบคนในครอบครัว ก็จะมีการให้พบกันได้แบบเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย แยกเครื่องใช้เป็นต้น ห้องน้ำสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยให้คนที่ติดเชื้อใช้เป็นคนสุดท้าย ใช้แล้วก็ทำความสะอาด เป็นต้น " นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการอะไรเราต้องยืนอยู่บนมาตรฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ โดยต้องดูธรรมชาติของเชื้อด้วย ซึ่งถ้าเป็นเชื้อเดลต้า เราก็คงไม่ให้รักษาแบบโอพีดี เพราะทำให้มีคนที่มีอาการหนักพอสมควร แต่วันนี้ธรรมชาติของเชื้อโอมิครอนค่อนข้างเอื้ออำนวย 80-90 % ไม่ต้องแอดมิท สามารถดูแลแบบผู้ป่วยนอกได้ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กำลังจะเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นต้องเตรียมปรับวิธีทำงาน เรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือรวมถึงผลต่อการเคลมประกันด้วย 

อนึ่ง สำหรับภาวะ MIS-C  หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children   คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป