ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกครั้งที่มีการประกาศยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทว่าในการประกาศยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้กลับไม่ได้สร้างความกังวลให้กับคนในวงการพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องแต่อย่างใด

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการเตือนภัยระดับ 4 ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว…

ก่อนหน้านี้ทางสธ.ก็มีการประกาศเตือนภัยในระดับ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับในจังหวัดเสี่ยงบางพื้นที่มาสักระยะหนึ่งแล้วและยังไม่มีการลดระดับลงแต่อย่างใด แต่ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงต่อเนื่องในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนยอดล่าสุดทะลุ 2 หมื่นคนแล้วจึงมีมติให้ยกระดับการเตือนภัยระดับ 4 ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในอยู่ในระดับคงที่

นั่นทำให้ ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองว่าการประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 ทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ไม่มีผลใดๆ กับการท่องเที่ยวของภูเก็ต เนื่องจากอยู่ในระดับ 4 มานานแล้วและยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะยกระดับมาตรการการป้องกันเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ แต่มีความพยายามจะทำให้การเดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้นกว่าเดิมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดขาขึ้น

“เราคุยกันอยู่เสมอว่าจะไม่ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่จะดูตัวเลขผู้ที่จะต้องเข้าระบบสาธารณสุขเท่านั้น มันไม่สามารถใช้วิธีปฏิบัติในอดีตเข้ามาจับในสิ่งที่เป็นปัจจุบันได้ เหตุผลเพราะโอมิครอนเองไม่ได้ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์เยอะเหมือนสมัยเป็นเดลต้า ประกอบกับได้รับวัคซีนไปเยอะแล้ว ภูเก็ตอาจเป็นจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนตามประชากรสูงสุดในประเทศไทยรวมถึงฉีดเข็ม 3 และ 4 แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเซตติ้งเปลี่ยนจะไปใช้วิธีปฏิบัติเดิมมาจับมันเป็นไปไม่ได้”

เป็นที่มาของข้อเสนอในการปรับเป็น Endemic หรือโรคประจำถิ่นได้แล้ว เนื่องจากภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อคิดเป็น 12-13 เปอร์เซ็นต์ของประชากร มีการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งแล้ว และคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อก็รักษาในระบบ Home isolation และลดเงื่อนไขบางอย่างให้ง่ายขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ

เงื่อนไขดังกล่าวประกอบด้วย

1.ยกเลิกการ swab ครั้งที่ 2 ของนักท่องเที่ยวด้วยเหตุผลอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าการระบาดในท้องถิ่นมาก

2. ปรับวงเงินประกันขั้นต่ำจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐเหลือ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวและตอนนี้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลแต่อยู่ใน Hotel room isolation ที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลน้อยกว่าและใช้เวลาเพียงแค่ 10 วันจึงไม่จำเป็นต้องมีวงเงินประกันสูงขนาดนั้น

3.ลดระยะเวลาแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ 5+5 คือกักตัว 5 วัน และอีก 5 วันสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า ตอนนี้ภูเก็ตกับประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่รับนักท่องเที่ยวแล้ว หลายๆ ชาติต่างก็เปิดรับกันแล้ว วิธีการเดิมๆ มันอาจไม่เหมาะแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ระมัดระวัง เพราะการติดเชื้อ 1 ครั้งทำให้แมนพาวเวอร์หายไปด้วย พวกเขาไม่ได้กังวลเรื่องสุขลักษณะอย่างเดียว แต่กังวลเรื่องเศรษฐกิจด้วย

“วันก่อนเรายังเป็นพวกหล่อเลือกได้ วันนี้เราหล่อเลือกได้จริงหรือเปล่า หากมันยังเป็นโรคฉุกเฉินมันมีเงื่อนไขของการปฏิบัติ ถ้าไม่อยู่ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งเหมือนอย่างไข้หวัดใหญ่เราก็ปฏิบัติกันอีกแบบ เรามีความเชื่อว่าคนติดโควิดไม่ใช่ทุกคนจะไม่มีอาการ ดีที่สุดคือไม่ติดแต่ถ้าติดแล้วก็รักษากันไป แทนที่รัฐจะต้องมาเสียงบประมาณในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์และซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ปีหนึ่งหลายพันล้านบาท เราควรทำความเข้าใจกันใหม่ดีมั้ย ประกอบกับหลายประเทศเองก็เห็นแนวทางตรงกันไม่ใช่เราเห็นอยู่คนเดียว ซึ่งมีอ้างอิงทั้งหมด คิดว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งฝั่งดีมานด์และซับพลาย ทั้งคนท้องถิ่นและนานาชาติ”

ขณะที่ ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เผยว่าตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน เข้าใจว่าต้องอยู่ร่วมกันไปและโรคระบาดจะมีมาเรื่อยๆ โดยที่ยังมีโรคอื่นๆที่คร่าชีวิตผู้คน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่มีอัตราการเสียชีวิตเยอะกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งการเกิดโควิดทำให้ตระหนักถึงความไม่ประมาทแต่ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ต้องมาทบทวนว่าจะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานแบบไหน

“เราจะกังวลกันต่อไปหรือต้องดำเนินชีวิตกันอย่างไรเพื่อให้เราปกติสุขมากที่สุดและไม่ประมาท ต้องมีการทำความเข้าใจกัน จะเดินไปทางไหนต้องก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แน่นอนว่าจะทำอะไรคงไม่มีผลดีหรือเสียทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเดินอยู่บนความระมัดระวังอยู่ดี ซึ่งกลุ่มที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ นักท่องเที่ยว คนทำงาน และเดินทางกลับบ้าน อย่างกลุ่มที่มาท่องเที่ยว เขาจะเดินทางมาก็ต่อเมื่อมีความพึงพอใจที่จะมา ไม่ได้มีความจำเป็นเหมือนอีกสองกลุ่ม ดังนั้นใจเขาใจเรา อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้นย่อมดีกว่า จากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพราะชอบเมืองไทย ส่วนอุปสรรคที่ทำให้มีการยกเลิกไปส่วนหนึ่งมาจากการระบาดและมาตรการที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง สร้างความสับสนให้พอสมควร”

แม้การระบาดรอบนี้จะมียอดพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง แต่จากการพิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่าอาการผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและทุกคนเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นโดยเฉพาะในหลายประเทศมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกันมากขึ้นแล้ว หากไม่มีการยกระดับมาตรการป้องกันหรือเงื่อนไขการเข้าประเทศที่เข้มงวดขึ้น เธอเชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบกับการท่องเที่ยวเหมือนกับช่วงยกเลิกระบบ Test & Go พร้อมสนับสนุนแนวคิดในการลดเงื่อนไขการตรวจเชื้อของนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันต้องตรวจ 2 ครั้ง

“การได้รับวัคซีนตามข้อกำหนดและการตรวจหาเชื้อมาก่อนก็น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับคนที่ไม่สบายคงไม่อยากมา ใจเขาใจเรา ถ้าไม่สบายคงไม่อยากเดินทางมาหรอก” ศศิธร กล่าว

สำหรับพังงาแม้ก่อนหน้านี้จะไม่อยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงและต้องยกระดับการเตือนภัยระดับ 4 ในรอบนี้ แต่ พงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรมากนักเช่นกัน เนื่องจากเงื่อนไขของการเตือนภัยบางอย่างยังมีข้อยกเว้นสำหรับบลูโซน โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ส่วนตลาดคนไทยก็อาจมีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

อย่างไรก็ตาม เลิศศักดิ์ ปนกลิ่น เจ้าของบริษัท เขาหลักวันเดอร์แลนด์ ทัวร์ มองว่าหากจะมีผลกระทบก็ในเชิงของความคิด ความรู้สึกของคนที่จะเดินทางภายในประเทศจะกลับมาวนลูปอีกครั้ง ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการเดินทาง หวั่นมาตรการล็อกดาวน์ อาจจะส่งผลเรื่องขวัญและกำลังใจของคนในสายท่องเที่ยวหลังจากหลายๆ คน หลายๆ กิจการเตรียมต้อนรับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4

“จริงๆ แล้วเราไม่ควรไปนับคนติดเชื้อแล้ว เพราะในความเป็นจริงเข้าระบบ HI เสียส่วนใหญ่ แต่ควรนับเฉพาะคนที่มีอาการในกลุ่มสีเหลือง สีแดง ที่จำเป็นต่อการครองเตียงและใช้ยาฟลาวิพิราเวียร์”

ทั้งนี้ ภูเก็ต ยังติดท็อป 10 จังหวัดติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในประเทศไทย ด้วยตัวเลข 648 คนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ขณะที่ตัวเลขของกระบี่อยู่ที่ 150 คน และพังงา 92 คน