ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ -รมว.สธ. รุดเยี่ยมอาการ "น้องอุ้ม" พยาบาลอุ้มผาง พบอาการดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกำชับบุคลากร กรณีขับรถรีเฟอร์ หรือรถส่งต่อผู้ป่วย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยความเร่งรีบเพื่อช่วยเหลือคนไข้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องไม่ลืมถึงความปลอดภัยของทั้งตนเองและของคนไข้

เมื่อวันที่ 1 มี.ค 2565 ที่ โรงพยาบาลราชวิถี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เดินทางเข้าเยี่ยม น.ส.ปุณยวีร์ ศรีดวงแปง หรือ น้องอุ้ม พยาบาล รพ.อุ้มผาง จังหวัดตากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุรถตู้พยาบาลฉุกเฉินของโรงรพ.อุ้มผาง จังหวัดตาก ชนกับรถบรรทุกพ่วงบนถนนสายแม่สอด-อุ้มผาง เขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อกลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ภายหลังจากที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานพระราชทานรางวัลศรีสังวาลย์ พระองค์ท่าน มีความเป็นห่วงและรับสั่งถามถึงอาการของน้องอุ้มตลอด วันนี้ตนจึงได้เดินทางมาเยี่ยม จากที่ก็ได้ติดตามการรักษามาตลอด

“ล่าสุดวันนี้ อาการค่อยๆ ดีขึ้น และจากการพูดคุยกับคุณพ่อของน้องที่มาดูแลก็มี กำลังใจดี พร้อมได้อัดคลิปเสียงของคุณแม่มาเปิดให้น้องฟังตลอดเพื่อเป็นกำลังใจอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ทีมแพทย์ก็ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้ย้ายคุณพ่อของน้อง ซึ่งเป็นตำรวจตระเวนชายแดนให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้มีเวลาในการดูแลน้องอย่างใกล้ชิดมากขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตน เป็นห่วงและได้กำชับบุคลากรมาตลอดในเรื่องของการขับรถรีเฟอร์ หรือรถส่งต่อผู้ป่วย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งตนเข้าใจดีด้วยความเร่งรีบเพื่อที่จะช่วยเหลือคนไข้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องไม่ลืมถึงความปลอดภัยของทั้งตนเองและของคนไข้ จึงขอให้มีความระมัดระวัง และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ

วันเดียวกันนี้ โรงพยาบาลราชวิถี ออกประกาศ เรื่อง รายงานฉบับที่ 8 ความคืบหน้าอาการ "น้องอุ้ม" พยาบาลวิชาชีพ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ระบุว่า ขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการคงที่ อาการโดยทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ สามารถลืมและกระพริบตาเองได้ แต่ยังไม่ทำตามคำสั่ง แขนสองข้างมีแรงขยับตามแนวราบ มีนักกายภาพบำบัดเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ และลดอาการข้อต่อยึดติดรองรับการฟื้นตัวที่ดีของผู้ป่วยในอนาคต โดยแพทย์ได้จัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียง เตรียมความพร้อมก่อนที่จะให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียง และขึ้นรถเข็น ตามลำดับ และให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่ยังคงต้องสังเกตอาการใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินอาการทางสมอง และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบในลำดับต่อไป