ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเตือนสื่อจำลองเหตุการณ์ทดสอบเคส "แตงโม-นิดา" หากเป็นการให้ความรู้ ระมัดระวังก็เป็นประโยชน์ แต่หาก เพื่อส่งเป็นไวรัล โดยไม่รู้ความจริง จะยิ่งซ้ำแผลทางใจของผู้สูญเสียให้หายช้า หวั่นสังคมปลุกเร้ากันเอง อาจเสี่ยงแทรกแซงกระบวนการทางคดี พร้อมแนะวิธีเสพสื่อ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเอง

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีกระแสสังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามนำเสนอข่าวการจากไปของแตงโม นิดา ดาราสาวที่เสียชีวิต ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจกัน  การจากไปของคนมีชื่อเสียงและเป็นที่รัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนจะรู้สึกสะเทือนใจ  ท่ามกลางการส่งกำลังใจ อาจจะมีบางเหตุการที่ชวนให้เกิดความไม่สบายใจหรือความสงสัยในบางบุคคล ซึ่งกลไกตรงนี้อาจเป็นประเด็นให้การสูญเสีย หรือการจากไปตรงนี้เกิดการค้นหาข้อมูล ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง จากอินเตอร์เนต จากโซเชียลมีเดีย ซึ่งการค้นหา การสืบด้วยตัวเองเช่นนี้กลายเป็นกระแสที่ทำให้ทั้งสังคมรับรู้ ทั้งจากสื่อกระแสหลักและสื่อที่ว่ากันเองโดยประชาชน ความสับสนเกิดขึ้นได้มาก การตั้งข้อสงสัยการมองกันในเชิงลบเป็นอารมณ์ที่ปลุกเร้ากันได้ง่าย 

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า การรับสื่อเช่นนี้ วนไปเรื่อยๆ และมีการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวโดยไม่ได้คาดถึงผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นประเด็นที่ต้องระวัง อีกเรื่องคือการเสพข่าวหมุนวนเรื่องเดิมๆ อาจทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ เช่น อารมณ์โกรธซ้อนไปบนความโศกเศร้า ยิ่งซ้ำเติมบาดแผลในใจของญาติผู้สูญเสีย ทุกครั้งที่มีข่าว หรือเห็นการพูดถึงเหตุการณ์นี้จะทำให้ผู้สูญเสียที่เจ็บปวดจะยิ่งจมอยู่กับความทุกข์มากขึ้น รบกวนกระบวนการเยียวยาจิตใจตามธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ เมื่อสังคมปลุกเร้ากันเองเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ มีโอกาสแทรกแซงกระบวนการต่างๆ การดำเนินคดี และถึงขั้นด่วนตัดสินคนบางคนจากสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้คนนั้นตายทั้งเป็นได้เป็นสิ่งที่สังคมพึงระวัง ควรแสดงความเข้าใจต่อการสูญเสีย แต่ไม่ควรด่วนตัดสิน หรือขยายความสูญเสีย

ทั้งนี้ แนะประชาชนเสพข่าวหรือดรามาพอประมาณ หากรู้ตัวว่าเริ่มเสพมากจนมีผล ให้ดูแค่วันละ 1-2 ครั้ง ตามเรื่องจากคนรอบโดยไม่ต้องตามอ่านทุกข่าว สำหรับสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเสพดรามาจนเริ่มมีผลกระทบต่อตัวเอง อาการอย่างเบา คือ กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ คิดวนเวียนแต่กับเรื่องนี้ มีการเรียนรู้และเลียนแบบ เห็นคนอินก็อินตาม เห็นคนตามข่าวก็ตามตามกัน อาการเริ่มหนัก คือ เสพข่าวจนเบียดเบียนกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ทำสิ่งที่เคยทำ เกิดการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพ คือ อินมากจนถกเถียง ขัดแย้งกับคนอื่น 

"ส่วนกรณีมีทั้งสื่อและคนจำนวนมากออกมาจำลองเหตุการณ์ทดสอบนั้น หากจำลองด้วยความรู้ ความระวังตัว ถือเป็นประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ แต่หากเลียนแบบเพื่อส่งเป็นไวรัล โดยไม่รู้ความจริง จะยิ่งซ้ำแผลทางใจของผู้สูญเสียให้หายช้าขึ้น" พญ.อัมพร กล่าว

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : จิตแพทย์ แนะสื่อเสนอข่าว "แตงโม" เคารพผู้เสียชีวิต และครอบครัว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org