ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดความร่วมมือแพลตฟอร์มสุขภาพ “หมอพร้อม” ร่วม 4 สภาวิชาชีพ “แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์” อนาคตมีข้อมูลสุขภาพรายบุคคลดูได้ผ่านแอปฯ และ LINE OA นำร่องเขตสุขภาพที่ 8 และ 9 ทำข้อมูลรายสุขภาพรายบุคคล บนพื้นฐานความสมัครใจ พร้อมยืนยันมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง

“หมอพร้อม” เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนในแง่ข้อมูลสุขภาพต่างๆ โดยปัจจุบันสามารถทราบข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด การนัดฉีดวัคซีน รวมทั้งผลการตรวจ ATK ที่หากตรวจแล้วและประสานร้านขายยา หรือสถานพยาบาลก็จะสามารถใส่ข้อมูลผลตรวจในนี้ได้ รวมไปถึงข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ แต่ล่าสุด “หมอพร้อม” ได้มีความร่วมมือกับ 4 วิชาชีพ เพื่อให้เกิดข้อมูลสุขภาพองค์รวมมากขึ้น

 

ล่าสุดวันที่ 7 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลง "ความร่วมมือการพัฒนาหมอพร้อม Digital Health Platform" ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จากกระทรวงสาธารณสุข และ 4 วิชาชีพ คือ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสภาเทคนิคการแพทย์ ทำการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนผู้ใช้บริการมาอยู่บนแอปพลิเคชัน และระบบ LINE OA “หมอพร้อม ภายใต้เงื่อนไขการยินยอมของผู้ใช้บริการ และมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลให้แก่ผู้ใช้บริการทุกคน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 28 ล้านคน

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาหมอพร้อม Digital Health Platform ร่วมกับ 4 สภาวิชาชีพ จะทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพแบบดิจิทัล ทั้งการนำ AI มาประยุกต์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพด้วย Blockchain การจัดทำ Big Data เพื่อวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลสุขภาพสำหรับส่งเสริมการให้บริการ การบริหารจัดการและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล (Cloud Computing) การพัฒนาระบบการสื่อสารทางไกลในการให้บริการประชาชน เป็นต้น ซึ่งนอกจากช่วยอำนวยความสะดวก ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชน ทั้งสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

"กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนและผลักดันให้ “หมอพร้อม” เป็น Digital Health Platform ของประเทศไทย และขอเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ร่วมใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในการให้บริการประชาชน เพื่อเป็นการปรับตัวและช่วยพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย สู่ “Digital Health Care” ที่สมบูรณ์แบบต่อไป" นพ.โสภณกล่าว

เมื่อถามว่า จะมีข้อกำหนด หรือต้องทำหนังสือชี้แจงผอ.รพ. หรือสถานพยาบาลให้บุคลากรทางการแพทย์คีย์ข้อมูลสุขภาพประชาชนมาไว้ใน “หมอพร้อม” หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นการขอความร่วมมือ ซี่งมีการประชุมชี้แจงกับหน่วยบริการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ซึ่งในเชิงสถานที่ องค์กรได้ชี้แจงไปแล้ว โดยวันนี้ที่ร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพก็เป็นการสร้างความมั่นใจว่า สามารถทำได้ สิ่งสำคัญการทำตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ของประชาชน อย่างผลตรวจ ATK หากมีระบบแพลตฟอร์มแบบนี้ก็แค่โชว์และใช้ได้เลย

“ในส่วนของข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลนั้น มีการนำร่องในเขตสุขภาพที่ 8 และ 9 ซึ่งก็จะมีประวัติสุขภาพ เช่น มีสิทธิรักษาพยาบาลอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไร เคยผ่าตัดด้วยโรคอะไรหรือไม่ หรือต้องกินยาประจำอะไรบ้าง รวมไปถึงผลการเจาะเลือด ผลการเอ็กซเรย์ ซึ่งตรงนี้ระบบมีรองรับ และยังมีระบบในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพรายบุคคลด้วย ที่สำคัญเรื่องนี้จะต้องเป็นความยินยอมจากประชาชนด้วย มีการคุ้มครองรายบุคคล ไม่มีการบังคับใดๆ “ นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่าจะเริ่มใช้ข้อมูลนี้เมื่อไหร่ในประชาชนทั่วไป นพ.โสภณ กล่าวว่า ค่อยๆดำเนินการ แต่วันนี้(7 มี.ค.) ถือเป็นความร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพ เพื่อเชิญชวนบุคลากร หน่วยบริการหันมาใช้แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” ส่วนประชาชนก็เริ่มใช้ได้ เพียงแต่ตอนนี้จะยังเป็นข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด เช่น การฉีดวัคซีนโควิดมาแล้วกี่เข็ม ผลตรวจ ATK ข้อมูลให้คำปรึกษาทางไกลอย่างผู้ที่อยู่ในระบบ HI เป็นต้น

“สรุป แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” ก็เหมือนตลาด ที่เปิดให้บุคลากรมาใช้แพลตฟอร์มนี้ และมีประชาชนมาใช้บริการดูข้อมูล ซึ่งอยู่ภายใต้ความยินยอม และมีระบบในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาส่วนอื่นๆ รองรับในอนาคต เช่น การรักษาการแพทย์ทางไกล การบันทึกข้อมูลการแพ้ยา รวมไปถึงอาจมีข้อมูลเอกลักษณ์ของทันตกรรม ซึ่งอนาคตหากได้รับการยินยอมก็สามารถใส่ข้อมูลตรงนี้ได้ หรือแม้แต่ผลตรวจ ผลเจาะเลือดตามบ้าน ส่งข้อมูลผ่านหมอพร้อมได้ แต่ช่วงนี้ จะเป็นเรื่องโควิด ใบรับรองต่างๆ เป็นต้น” นพ.โสภณ กล่าว 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดเชื่อมโยงระบบการให้บริการสุขภาพต่างๆ ของโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สู่ประชาชน ผ่านไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองและเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเปิดระบบ "หมอพร้อม Station" ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสังกัดใช้งานหมอพร้อม Digital Health Platform ในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนแล้วตั้งแต่วันนี้ บริการที่เปิดใช้งาน ได้แก่ Telemedicine ให้คำปรึกษาทางการแพทย์และติดตามการรักษาพยาบาล, Telepharmacy ให้คำปรึกษา ติดตามการใช้ยาและผลข้างเคียง, Telemedical Lab บริการด้านเทคนิคการแพทย์ รายงานผล การแปลผลทดสอบ และให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ นำร่องด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วย ATK ผ่านการใช้ Video Call เพื่อให้คำแนะนำการใช้ชุดตรวจอย่างถูกต้อง, การออกใบรับรองแพทย์แบบดิจิทัล ทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคและตรวจสุขภาพ, การบันทึกประวัติการแพ้ยาของประชาชน, การบันทึกผลตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หรือ RT-PCR, ระบบแจ้งเตือน แจ้งนัดหมาย และส่งข่าวสารประชาสัมพันธ์ถึงประชาชน และการเชื่อมระบบ Logistics สำหรับการขนส่งยา จากโรงพยาบาล หรือคลินิก ไปถึงบ้านของประชาชน

"ระบบบริการข้างต้น หลายหน่วยงานมีการใช้งานอยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพ พัฒนาฟังก์ชันต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้หมอพร้อม Digital Health Platform รองรับการให้บริการสุขภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม อาทิ การให้บริการตรวจและรายงานผลแล็บอื่นๆ เช่น การตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น การพัฒนาระบบนัดหมายเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา หรือหน่วยบริการสุขภาพอื่นๆ การชำระค่ารักษาพยาบาลแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะขยายการใช้งานหมอพร้อม Digital Health Platform ให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป" นพ.สุระ กล่าว

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา  กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบให้ต้องเลื่อนการรักษาและผ่าตัดต่างๆ ออกไป และมีการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ มาใช้ เช่น Telemedicine ซึ่งแพทยสภาได้ผลักดันและสนับสนุนการนำนวัตกรรมออกสู่สังคมและสู่สมาชิกแพทยสภา ทั้งนี้ ระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เป็น Platform ที่มีระบบต่างๆ ที่สำคัญ ทั้ง Telemedicine ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ระบบดูแลคลินิกและปฐมภูมิ ฯลฯ แพทยสภาพร้อมร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและร่วมพัฒนาหมอพร้อมทุก Platform กับทุกสภาวิชาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและประชาชน

ทพ.พลาวัสถ์ เลาหรุ่งพิสิฐ รองเลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการทันตกรรมดิจิทัลได้ในอนาคตอันใกล้ สิ่งสำคัญที่สุดของการทำ Digital Health Platform คือความร่วมมือของสภาวิชาชีพต่างๆ ในการเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกัน หากทำได้สำเร็จประโยชน์จะอยู่กับประชาชน ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา เครือข่ายวิชาชีพทันตกรรมได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครใช้ Line หมอฟันไทยสู้ภัยโควิดขึ้น เพื่อให้คำปรึกษากับประชาชนที่มีปัญหาในช่องปาก ประสานหาคลินิกทันตกรรมกรณีฉุกเฉิน ซึ่งต่อไป Teledentistry จะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้คนไข้ปรึกษาพูดคุยกับทันตแพทย์ ส่งต่อข้อมูลภาพถ่ายรังสีและการรักษาได้ ซึ่งทันตแพทยสภามีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพช่องปากส่วนบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ "Personal Dental Health Record" ที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพช่องปาก รู้ว่าได้รับการรักษาอะไรมาบ้าง รู้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก และมีการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลรวมถึงข้อมูลสุขภาพช่องปากส่วนบุคคลจะเป็นประโยชน์มากในการช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วย

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม  กล่าวว่า ข้อมูลบริการที่สภาเภสัชกรรมจะนำเข้าในระบบหมอพร้อม ได้แก่ 1.ข้อมูลร้านยาทั่วประเทศ พิกัดและรายขื่อเภสัชกรที่ปฏิบัติการประจำร้าน 2.ข้อมูลร้านยาคุณภาพที่สภาเภสัชกรรมรับรอง 3.ข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น ร้านยาใกล้บ้านใกล้ใจ ตามโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล และร้านยาที่ร่วมในการให้บริการด้านสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น การแจกยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย และ ATK ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น 4.ร้านยาที่ให้บริการ Home Isolation ดูแลผู้ป่วยโควิค 5.ร้านยาเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ ที่ให้บริการการเลิกบุหรี่ ร่วมกับ สสส. 6.Plug in ระบบ Real time pharmacist app. (ร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะที่ค้นหา) 7.ร้านยาที่ให้บริการและให้คำปรึกษาในระบบเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) 8.การเชื่อมต่อร้านยาเข้าเป็นเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข (ในโอกาสต่อไป) และ 9.ข้อมูลความรู้ด้านยาแก่ประชาชน

ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์  กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเทคนิคการแพทย์มีการพัฒนาในระบบหมอพร้อมแล้วหลายเรื่อง เดือนมีนาคม 2565 จะพัฒนาระบบการนัดหมายและการแจ้งเตือนใหม่ ผ่านระบบ Hotline Medtech เพื่อรองรับการให้คำปรึกษา TeleATK การบันทึกผลงานวิ่งบางแสน 42 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เริ่มพัฒนา Code TMLT สำหรับการส่งตรวจแล็บจากคลินิกเวชกรรมและรายงานผลแล็บผ่านระบบหมอพร้อม โดยเลือกกลุ่มรายการแล็บตรวจสุขภาพ กลุ่มรายการแล็บที่เกี่ยวกับ Long Covid เพื่อบันทึกผลการตรวจทางห้องปฏิบัติ การ แสดงผลเป็นประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ และร่วมพัฒนาระบบ MOPH-LAB Laboratory Request Center พัฒนาเชื่อมต่อระบบการส่งข้อมูลแล็บกับหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐ เอกชน สู่โรงพยาบาล โดยมีผู้แทนเทคนิคการแพทย์จากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 เป็นหน่วยบริการนำร่องร่วมกับหมอพร้อม