ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธี Test and Treat  ลดขั้นตอนข้อจำกัดการเข้าถึงยาของผู้ป่วย พร้อมเพิ่มยารักษา ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2)  และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา

ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เพื่อเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานให้ทันท่วงทีและทั่วถึงทุกกลุ่มประชากร  อาทิ ขอให้มีการปรับแนวทางกำกับการใช้ยา Sofosbuvir+Velpatasvir ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยขอให้ปรับยา Sofosbuvir+Velpatasvir ออกจากรายการบัญชียา จ.(2) ไปอยู่ในรายการบัญชียาที่ทาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้คล่องตัวมากขึ้น และปรับข้อบ่งใช้ยา Sofosbuvir+Velpatasvir ให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมสามารถทำการรักษาได้ โดยให้มีระบบการปรึกษาอายุรแพทย์ทั่วไป หรืออายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น 

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  เครือข่ายเอดส์ชงกรมการแพทย์ ปรับแนวทางจ่ายยาตับอักเสบซี หลังมีผู้ป่วยตกค้าง รพช.)

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วยวิธี Test and Treat เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ เกิดภาวะตับแข็งประมาณ 80,000 ราย และมะเร็งตับประมาณ 3,200 รายต่อปี 

กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2) เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทย และใช้แนวทางการวินิจฉัยด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันและได้รับยารักษาเร็วที่สุด โดยให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดูแลผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา

"ทุกวันนี้เรามียาให้ผู้ป่วย แต่ขั้นตอนในการปฏิบัติค่อนข้างมีขั้นตอนจำกัด ทั้งผู้อนุมัติยา ต้องเป็นอายุรแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคตับ เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริง รพ.รัฐทั่วประเทศคงไม่มีแพทย์ด้านนี้ทุกแห่ง จึงเป็นข้อกำหนดที่เรากำหนดขึ้นมา แต่เป้าหมายและเจตนารมย์เราต้องการให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ต้องได้รับการดูแลรักษาให้หาย ดังนั้น เรื่องกระบวนการทางกระทรวงสาธารณสุข จะรับไปแก้ไข เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและเข้าถึงยาโดยเร็วที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดของขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทุกรพ.ที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ต้องดูแลเต็มที่" รัฐมนตรีฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังมีมติเห็นชอบอื่นๆ คือ

1.หลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศ 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดแผน 1 ก.ค.65 โควิดออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น)

2.เร่งรัดการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันตามพันธะสัญญานานาชาติ ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันของประเทศไทย เสนอแนะให้เร่งรัดฉีดวัคซีนในเด็กต่างด้าว เด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว พื้นที่ชายแดน ผู้ลี้ภัย เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org