ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเยี่ยมชมการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ” และการดูแลแบบ Home Isolation โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชน
 
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าและศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนวัดแคนอก อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก "เจอแจกจบ” และระบบดูแลที่บ้าน HI ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว โดยมี พญ.จุฑาสินี สัมมานันท์ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์คนที่ 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และคณะ ให้การต้อนรับ

พญ.จุฑาสินี สัมมานันท์ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์คนที่ 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า การจัดระบบเจอ แจก จบ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิการรักษา รวมไปถึงผู้ป่วยจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือพื้นที่อื่นๆ โดยเตรียมพื้นที่ไว้ที่คลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ซึ่งตามศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 500 ราย

พญ.จุฑาสินี กล่าวว่า บริการดังกล่าวเปรียบเสมือน one stop service ที่ให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่ห้องบัตร ซักประวัติ สามารถตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซ้ำได้ รวมไปถึงรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และสามารถรับยากลับบ้านได้ทันที ขณะเดียวกันยาที่จะถูกแจกให้ผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ ยารักษาตามอาการ และยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ว่าผู้ป่วยรายได้จะได้รับยาแบบไหน

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการใบรับรองแพทย์ และมีผลตรวจจาก ATK มาแล้ว มีความประสงค์ที่จะรับยาอย่างเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการเข้าตรวจกับแพทย์และสามารถรับยากลับได้ทันที เพราะการตรวจ ATK ซ้ำจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันผลตรวจ

อย่างไรก็ดี จากการให้บริการพบว่าผู้ป่วยส่วนมากต้องการยาฟาวิราเวียร์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเกิดความกังวลและไม่สบายใจ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องอธิบายถึงข้อบ่งชี้ส่วนนี้ เนื่องจากยามีจำกัด ซึ่งก็ต้องคลายความกังวลให้ผู้ป่วยได้ทราบว่าโรงพยาบาลมีระบบการติดตาม หรือกรณีที่ผู้ป่วยอาการทรุดก็สามารถกลับเข้ามาใช้บริการซ้ำได้

“เจอ แจก จบ ทำให้ประชาชนเมื่อทราบว่าตนเองป่วย สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ทันที เข้าถึงแพทย์ ยาได้เร็วโดยไม่ต้องรอ ซึ่งบริการนี้เหมือนเป็นส่วนเสริม Home Isolation ที่เมื่อผู้ป่วยมากขึ้น เจ้าหน้าที่อาจจะทำงานไม่ทัน นโยบายดังกล่าวก็เหมือนกับมาลดความเครียดของผู้ป่วย และสามารถรับยาเบื้องต้นได้เลย” พญ.จุฑาสินี ระบุ 

ทั้งนี้ หลังจากเยี่ยมชมการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกเสร็จแล้ว นพ.จเด็จ ได้เดินทางไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนวัดแคนอก ซึ่งเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อเยี่ยมชนการดำเนินงาน 

นางธีรนุช ชละเอม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนวัดแคนอก กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนวัดแคนอกเป็นหน่วยบริการที่ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบ Home Isolation คู่ขนานไปกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชนเอง มีทั้งที่โทรติดต่อเข้ามา ให้ญาติเดินมาติดต่อ รวมถึงมีผู้ป่วยโควิดที่เดินมาที่ศูนย์เอง รวมทั้งมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับจากการประสานของสายด่วน สปสช. 1330

นางธีรนุช กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าระบบผ่านศูนย์สุขภาพฯ มากจากหลายช่องทาง เช่น ผู้ป่วยที่เดินทางมาเอง ผู้ป่วยในชุมชน หรือผู้ป่วยจากสายด่วน 1330 ซึ่งเบื้องต้นต้องมีการสอบถามก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการ หรือไม่ เพราะศูนย์สุขภาพฯ มีขนาดค่อนข้างเล็ก และผู้ป่วยโควิด-19 มีค่อนข้างมาก ทำให้ต้องมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ โดยศูนย์สุขภาพฯ จะดูแลผู้ป่วยหมู่ที่ 1-5 ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 

สำหรับขั้นตอนการดูแลในเบื้องต้นจะให้ผู้ป่วย Add Line ของศูนย์เพื่อสื่อสารกัน โดยให้ผู้ป่วยส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ ถ่ายรูปบัตรประชาชน ผลตรวจ ATK เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาการล่าสุดเป็นอย่างไร ฉีดวัคซีนมากี่เข็ม และที่สำคัญคือเบอร์โทรติดต่อตัวใหญ่ ทั้งหมดให้อยู่แผ่นเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน ไม่ตกหล่นและนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้ง่าย 

อย่างไรก็ดีการติดตามอาการ จะเน้นให้ผู้ป่วยรายงานผลอาการมาทาง line เช่น อุณหภูมิร่างกาย มีไข้ ค่าออกซิเจน มีอาการไอ เป็นต้น และมีการให้ยารักษาโดยเร็วที่สุด อย่างยาลดไข้ ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดจะอยู่ใน Set Box ที่ศูนย์สุขภาพฯ จัดเตรียมให้ โดยจะมีทั้งให้ญาติมารับยาที่ศูนย์สุขภาพฯ และหากผู้ป่วยรายไหนดูรายงานอาการแล้วมีแนวโน้มไม่ค่อยดี ก็จะโทรหาเลยและส่งข้อมูลให้แพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าช่วยดูเพื่อให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือหากอาการไม่ดีขึ้นก็จะส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยเร็ว

“สโลแกนของเราคือคนต้องให้คนไข้ได้รับยาให้เร็วที่สุด ถ้าเราเอาคนไข้เข้าระบบตอนเช้า แต่โรงพยาบาลอาจจะยังไม่ได้คีย์ข้อมูลคนไข้เข้าระบบ เราก็สามารถโทรบอกให้ญาติคนไข้มารับ Set Box ได้ที่นี่ ถ้าเต็มที่ไม่ได้วันนี้ก็จะได้ในวันรุ่งขึ้น” นางธีรนุช ระบุ 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการพูดคุยเบื้องต้นทราบว่าในวันนี้มีผู้ป่วยขอเข้าระบบ HI ราว 400-500 ราย ซึ่งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเองก็ได้ให้บริการผู้ป่วย HI ไปแล้วราว 6,000 ราย ในเขตพื้นที่ อ.เมืองนนทบุรี รวมไปถึงมีการจัดระบบอาหารของผู้ป่วย HI ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เข้ามาร่วมดูแลและจัดส่งอาหารทั้ง 3 มื้อให้แก่ผู้ป่วยในระบบ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์สุขภาพวัดแคนอก เป็นหน่วยบริการที่อยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งจะรับผู้ป่วยตั้งแต่การวอร์กอินเข้ามา ผู้ป่วยที่มาจากสายด่วน 1330 หรือผู้ป่วยที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โอนเข้ามา เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยในระบบ HI แล้ว ศูนย์สุขภาพฯ จะส่งข้อมูลกลับไปให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อส่งอาหารให้แก่ผู้ป่วย รวมไปถึงมีการโทรติดตามอาการผู้ป่วยจนกว่าจะครบกำหนดวันรักษา

“เรามาดูบริการตรงนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบต่างๆ มีความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเบิกจ่ายกับ สปสช. ที่ออกกติกาใหม่ในการจ่าย เจอ แจก จบ และ Home isolation ซึ่งเท่าที่ดูตรงนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร ก็ให้ความมั่นใจว่าระบบตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม คิดว่าเดินหน้าได้ทั้งบริการ งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร และก็ตัวคุณภาพที่ให้บริการ เพียงแต่ตอนนี้อยู่ที่การประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าบริการเจอ แจก จบ ก็สามารถเดินเข้ามารับบริการ แต่ถ้าท่านจะเข้า Home Isolation ก็ยินดี โดยที่ท่านแจ้งความประสงค์กับหน่วยบริการได้เลย” นพ.จเด็จ ระบุ 

อนึ่ง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็น 1 ใน 14 โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียง กทม. ที่เปิดให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกทม.และ จ.นนทบุรี ที่อยู่ระหว่างรอการตอบรับจากหน่วยบริการ หรือหน่วยบริการรับผู้ป่วยแบบ Home Isolation จนเต็มศักยภาพแล้ว ให้สามารถเข้าถึงแพทย์และยาเพื่อบรรเทาอาการหรือรักษาจนหายได้

ข้อมูลล่าสุด  HI โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ข้อมูล ณ วันที่ 12 มี.ค. 65 เวลา 24.00 น. ซึ่งมี ผู้ติดเชื้อสะสม 6,356 คนมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 2,288  คน (เป็นผู้ใหญ่ 1872 คน เด็ก 416 คน)  

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org