ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากประเด็นสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ได้กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตของประเทศไทยว่ามีเกณฑ์เข้มงวดเกินไปสำหรับชาวต่างชาตินั้น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีการทบทวนเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำ โดยเน้นความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิตและผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งการทบทวนครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 อ้างอิงเกณฑ์สากลของ World Health Organization (WHO), Association for the Advancement of Blood & Biotherapies (AABB) และJoint United Kingdom (UK) Blood Transfusion and Tissue Transplantation Services Professional Advisory Committee (JPAC)

2. เกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตต่างชาติ: มีประเด็นที่บางกอกโพสต์เข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้

   2.1 กรณีผู้บริจาคมีอายุเกิน 60 ปี: ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติอนุญาตให้ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ที่มีประวัติเคยบริจาคโลหิตมาก่อนอายุ 60 สามารถบริจาคโลหิตโดยใช้ประวัติการบริจาคโลหิตที่ต่างประเทศได้ เกณฑ์การคัดเลือกของศูนย์ฯ ไม่อนุญาตกรณีผู้มีอายุเกิน 60 ปี ที่ประสงค์จะบริจาคโลหิตเป็นครั้งแรก เพื่อลดโอกาสเกิดความเสี่ยงของผู้บริจาค (เกณฑ์เดียวกับชาวไทย)

   2.2 ประวัติการพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 6 เดือน: ข้อมูลนี้มีความคลาดเคลื่อน โดยที่ศูนย์บริการโลหิตฯ อนุญาตให้ชาวต่างชาติบริจาคโลหิตได้หากมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งที่สามารถติดต่อกลับได้กรณีตรวจพบความผิดปกติของโลหิต ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้ปวย โดยมิได้กำหนดด้วยระยะเวลาการพักอาศัยในประเทศไทย

3. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีระบบบริหารการจัดเตรียมโลหิตหมู่อาร์เอชลบ (Rh-) ให้ผู้ป่วยด้วยการใช้ฐานข้อมูลผู้บริจาคโลหิตอาร์เอชลบที่มีอยู่จำนวน 6,000 ราย ที่สามารถติดต่อให้มาบริจาคโลหิตได้ทันที เนื่องจากมีข้อมูลหมู่โลหิตและช่วงเวลาครบรอบการบริจาคครบถ้วน ศูนย์ ฯ จึงสามารถโทรศัพท์เชิญผู้บริจาคที่เหมาะสมได้ตามความจำเป็น สามารถจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หมู่โลหิตอาร์เอชลบพบได้น้อยในประชากรไทย ศูนย์ฯ จึงรับบริจาคโลหิตเท่าที่จำเป็นและจัดเก็บคงคลังไว้จำนวนหนึ่งเท่านั้น สำหรับการขอเบิกโลหิตในครั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ขอความอนุเคราะห์จากผู้บริจาคกลุ่มดังกล่าว และจ่ายโลหิตให้แก่โรงพยาบาลที่ต้องการแล้ว

4. เหตุการณ์ในครั้งนี้ มีผู้เข้ามาบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2565 จำนวน 64 ราย เป็นชาวต่างชาติ 25 ราย และชาวไทย 39 ราย โดยกลุ่มชาวต่างชาติไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ 8 ราย จากสาเหตุพักผ่อนไม่เพียงพอ (2 ราย) ความเข้มโลหิตต่ำ (2 ราย) สุขภาพไม่แข็งแรง (1 ราย) และมีความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่มีการตรวจในโลหิตบริจาค (3 ราย) ส่วนกลุ่มชาวไทย ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ 3 ราย จากสาเหตุ สุขภาพไม่แข็งแรง (1 ราย) น้ำหนักน้อย (1 ราย) และเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงการติดเชื้อโควิด-19 (1 ราย)

**************************************************

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org