ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อสันที่ 29 มีนาคม ได้รับทราบ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal Life) พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5-18 มกราคม 2565 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 97.7 ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีเพียวร้อยละ 2.3 ที่ไม่มีความกังวล

ด้านการปฏิบัติตัวของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ เมื่ออยู่กับคนในบ้าน ประชาชนร้อยละ 90 ปฏิบัติตัวตามมาตรการของภาครัฐเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ติดตามข่าวสารและข้อปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ เฝ้าระวังเป็นพิเศษกับสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและสังเกตอาการผิดปกติของสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังไม่สามารถปฏิบัติตัวตามมาตรการของภาครัฐได้อย่างเต็มที่ เช่น การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (ร้อยละ 62.8) การแยกกันรับประทานอาหาร/แยกห้องอยู่อาศัย (ร้อยละ 58) ส่วนกรณีเมื่อออกนอกบ้าน ประชาชนร้อยละ 90 ปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยสบู่หรือ              เจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดไข้ก่อนเข้าไปยังสถานที่ เดินทางโดยรถส่วนตัว และงดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

สำหรับการปรับเปลี่ยนการใช้วิถีชีวิตเป็นแบบ New Normal Life กลุ่มตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) จัดเตรียมอุปกรณ์ก่อนออกจากบ้าน เช่น หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์             (ร้อยละ 90.4) (2) หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่แออัดการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ (ร้อยละ 64.1) และ (3) ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ลดการไปห้างสรรพสินค้าและตลาดนัด (ร้อยละ 60.5) โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเริ่มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และผู้ที่มีอายุ 18-49 ปี มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากกว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ประเด็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชันเพื่อการติดต่อสื่อสารของประชาชนในช่วงสถานการ์โตวิดพบว่า       กลุ่มตัวอย่างใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับติดต่อการสื่อสารและการรับข้อมูลมากที่สุด (ร้อยละ 81.5) เช่น ไลน์ วอตส์แอปป์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ              อินสตาแกรม รองลงมาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับทางการเงิน (ร้อยละ 70.7) เช่น เป๋าตัง ถุงเงิน และกรุงไทยเน็ก และแอปพลิเคชันเกี่ยวกับความบันเทิง             (ร้อยละ 69.7) เช่น เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ และติ๊กต็อก โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใช้มากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า และผู้ที่มีอายุ 18-49 ปี ใช้มากกว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปด้วย

ในประเด็นความสุขของประชาชนในภาพรวม         กลุ่มตัวอย่างมีความสุขในภาพรวมในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 53.1 มีความสุขระดับปานกลาง ร้อยละ 37.3 มีความสุขในระดับน้อย-น้อยที่สุด ร้อยละ 8.9 และไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 0.7 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความสุขในภาพรวมอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 68.5) 6. สำหรับแผนการปรับตัวรับมือหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงอีกครั้ง        กลุ่มตัวอย่างมีแผนการปรับตัวรับมือ ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ออกจากบ้านทุกครั้งต้องใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านหากไม่จำเป็น (ร้อยละ 87.3) (2) ประหยัดและใช้จ่ายน้อยลง      (ร้อยละ 82.2) และ (3) แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยนำเงินออมออกมาใช้จ่าย (ร้อยละ 25.7)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 85.1 เห็นด้วยกับนโยบายการให้ประชาชนแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือผลการตรวจโควิด-19 เพื่อเข้าสถานที่ต่าง ๆ ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 14.9 เนื่องจากเห็นว่า นโยบายดังกล่าวมีความยุ่งยาก ทำให้เสียเวลารวมถึงชุดตรวจ ATK มีราคาแพง และเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล โยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.4 เคยถูกขอให้แสดงหลักฐานฯ ในจำนวนนี้ร้อยละ 13.5 ถูกขอให้แสดงหลักฐานเมื่อติดต่อสถานที่ราชการ ร้อยละ 12.3 ถูกขอให้แสดงหลักฐ่านเมื่อไปโรงพยาบาล และสถานที่ทำงาน ร้อยละ 9.8 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยถูกขอให้แสดงหลักฐานฯ ร้อยละ 67.6

ทั้งนี้ สสช.ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ ได้แก่ 1. ควรมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลากหลายช่องทางและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่กับคนในครอบครัวและเมื่อออกนอกบ้าน 2.ควรมีการส่งเสริม ป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์/ชุดตรวจโควิด-19 (เช่น ATK และหน้ากากอนามัย) ได้ในราคาย่อมเยา หรือตรวจ ATK ให้ฟรีสำหรับการเข้าสถานที่ราชการต่าง ๆ และควรมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วกลับมาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากที่สุด

3.ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน การให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้แอปพลิเคชัน 4.ควรมีการส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงได้ง่าย โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด และ 5.ควรมีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านมาตรการหรือโครงการต่าง ๆ