ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ เผยตรวจพบลูกผสม XE แพร่เร็วขึ้น แต่การก่อโรค ประสิทธิภาพของวัคซีน เทียบเท่าสายพันธุ์ BA.2  เหตุเป็นการผสมพันธุ์ตัดแปะ ไม่ผสมพันธุ์ตรงโปรตีนหนามแหลม ส่วน “เดลตาครอน”  ใกล้สูญพันธุ์แล้ว 

 

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจ “Center for Medical Genomics” ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม  “XE” ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน 2 ตัว คือ "BA.1 กับ BA.2 โดย แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยประสบมา โดยตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.2 ประมาณ 10% และแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43% ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อ  ชาวไทย 1 ราย และพบลูกผสมเดลตาครอน 1 ราย

 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์  หัวหน้าศูนย์จีโนม หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดที่พบสายพันธุ์ลูกผสม XE (เอ็กซ์อี) ในคนไทย 1 รายนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบไปยังสถานพยาบาลว่ารายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นอย่างไร มีการเดินทางไปต่างประเทศมาหรือไม่ หรือมีการสัมผัสโรคอย่างไร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูล อย่างไรก็ตามปกติศูนย์จีโนมฯ จะเป็นหน่วยถอดรหัสพันธุกรรม เวลาได้รับตัวอย่างสารพันธุกรรมานั้นมักจะเป็นเวลาย้อนหลังไปเป็นสัปดาห์ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อก็จะหายแล้ว อย่างไรก็ตามในรายละเอียดยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

 

 

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของสายพันธุ์ลูกผสม XE ในต่างประเทศ มีข้อมูลพบที่อังกฤษเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.1 กับ BA.2 แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาจุดเด่นของสายพันธุ์ย่อย BA.2 มามากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของโปรตีนหนามแหลมที่เป็นของ BA.2 ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจากข้อมูลในอังกฤษจึงพบว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE มีความสามารถแพร่ได้เร็วกว่า BA.2 ราวๆ 10% และแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 43% แต่ไม่พบว่ามีความรุนแรงกว่า BA.2 และไม่พบว่ามีการหลบภูมิต่อวัคซีนแตกต่างจาก BA.2 แต่อย่างใด นั่นหมายความวัคซีนที่มีการฉีดป้องกันโรคในปัจจุบันหากสูตรไหนมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ BA.2 อย่างไร ก็มีผลต่อสายพันธุ์ลูกผสม XE เช่นกัน 

 

“ XE เป็นการผสมกัน โดยเอาสัดส่วนของ  BA.2 มาเยอะหน่อย แล้วเอาสัดส่วนของ BA.1 น้อยหน่อย โดยเอาส่วนที่สร้างหนามของ BA.2 มาทั้งยวงเลย เพราะฉะนั้นก็พอตอบได้ว่า อาการ หรือว่าการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หรือว่าการตอบสนองต่อวัคซีนนั้นไม่น่าจะแตกต่างจาก BA.2 เพราะเราไม่ได้เห็นการกลายพันธุ์อะไรที่เด่นชัด เหมือนกับว่าเขาไปดึงเอา BA.2 มาเป็นส่วนใหญ่ แล้วมาปะติดกับ BA.1 ฉะนั้นที่ถามว่าส่วนที่สำคัญมากๆ คือส่วนหนามนั้นมันหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ แอนติบอดี้จะตรวจจับไม่เจอหรือไม่นั้น ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะลูกผสมนี้ไม่ได้ผสมกันตรงหนาม”  หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ  กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ลูกผสม XE ไม่ได้ก่อโรครุนแรง และไม่หลบวัคซีนต่างไปจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 แต่องค์การอนามัยโลกอยากให้ช่วยเฝ้าระวัง เพราะว่ามีลักษณะเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศว่ามีลูกผสมเดลตาครอน (เดลตา ผสมกับโอมิครอน) ซึ่งหลายคนกังวลใจเพราะถ้าได้โอมิครอนมาจกทำให้แพร่เร็ว แล้วได้เดลตามาก็จะทำให้เกิดความรุนแรงมาก แต่สุดท้ายลูกผสมเดลตาครอนก็เป็นสายพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ การเพิ่มจำนวนได้ไม่ดีเหมือนที่จินตนาการไว้ และหลังจากนั้นเหมือนกับว่าเดลตาครอนจะค่อยๆ ลดจำนวนลง ใกล้สูญพันธุ์ไป ดังนั้นการเตือนขององค์การอนามัยโลกจึงขอให้จับตาไว้ก่อน ส่วนจะรุนแรงขึ้น หรือลดระดับลงจนสูญพันธุ์ก็ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

ขอบคุณเพจ Center for Medical Genomics

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org