ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยเฝ้าระวังข้อมูลโควิดสายพันธุ์ย่อย “โอมิครอน”  พบผสมระหว่าง BA.1 และ BA.2 เป็นไฮบริดสายพันธุ์ “ XJ ”  ส่วนศูนย์จีโนมรามาฯ พบ “XE”  ขณะที่ชายไทยพบ XJ เป็นพนักงานส่งของ ด้าน “หมอศุภกิจ” เตือนอย่าคิดว่าไม่รุนแรงแล้วปล่อยติดเชื้อ ถอดหน้ากากอนามัย อาจทำให้เกิดสายพันธุ์ไทยได้

 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการติดตามโควิดลูกผสมที่ใช้ชื่อว่า XE ว่า  จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด “โอมิครอน” สัปดาห์ละ 2 พันตัวอย่าง พบว่า  BA.2 มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพรวม 92.2%  เริ่มเบียด BA.1 ไปเรื่อยๆ  อย่างไรก็ตาม BA.2 จะทำให้ติดเชื้อง่ายมากขึ้น จึงต้องย้ำเตือน ขณะที่การตรวจ 13 เขตสุขภาพก็คล้ายกัน คือ พบ BA.2 มากที่สุด ขณะที่การตรวจตัวอย่างมีการตรวจกลุ่มอัตรารุนแรงและเสียชีวิตพบ BA.2 จำนวน 82.03%  ซึ่งไม่ได้แสดงว่า BA.2 มีความรุนแรงมากกว่า โอมิครอนธรรมดา

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ ต้องขอทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ตกใจโดยใช่เหตุ เพราะปกติการเปลี่ยนแปลงการกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว    หากเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงจะเรียกสายพันธุ์ใหม่ แต่หากยังพบเปลี่ยนไม่มาก ยังรู้ว่าพ่อ แม่เป็นใครก็จะเรียกเป็นสายพันธุ์ย่อย ส่วนกรณีการผสม 2 สายพันธุ์ใน 1 คน จะเรียกว่า Mixed  infection  ซึ่งในไทยก็ตรวจเจออัลฟา กับเดลต้า แต่หาก 2 สายพันธุ์มีการผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่มีสารพันธุกรรมจากทั้ง 2 สายพันธุ์ จะเรียกว่า “ไฮบริดจ์” และใช้ชื่อเรียกขึ้นต้นด้วย X นำหน้า ตามด้วย A,B และอื่นๆ  ซึ่งปัจจุบันมีถึง 17 ตัว บางการผสมพันธุ์เคยพบมานานพอสมควร แต่มี 3 ตัวที่ยอมรับว่าเป็นไฮบริจด์จริง คือ ตัวแรก XA ตั้งแต่ธ.ค. 63 เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ B.1.1.7 กับ B.1.177 ตัวที่ 2 คือ XB ผสมระหว่าง B.1.634 กับ B .1.631 และตัวที่ 3  คือ XC ผสมระหว่าง AY.29 กับ B.1.1.7  เป็นต้น ปัจจุบันหมดไปจากโลกแล้ว เป็นธรรมชาติ เป็นกติกาของไวรัส ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไร    

“ที่ผ่านมาศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามา ได้โพสต์ข้อมูลพบ XE ในไทย ซึ่งเกิดจากการผสม BA.1 และ BA.2  ซึ่งบางตัวมีการผสมคล้ายกัน แต่มีการกำหนด Xต่อท้ายไม่เหมือนกัน และเจอในประเทศแตกต่างกัน ซึ่งกำหนดเช่นนี้ เพราะมีรหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนไปแตกต่างกัน เรียกว่าเป็นพันธุ์ย่อยๆ ของ BA.2 ไปอีกนั่นเอง การเรียกจึงไม่เหมือนกัน ซึ่งล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบ XJ  จะแตกต่างกับ XE ที่รามาฯ พบเมื่อวันก่อน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ดังนั้น คนป่วยที่ถอดรหัสพันธุกรรมและมีโอกาสเข้าได้กับ XE  มี 1 รายที่รามาฯ แต่ในส่วนของกรมวิทย์ ที่ตรวจไปเราพบ 1 ราย ใกล้เคียงกับ XJ เป็น BA.1 กับ BA.2 เหมือนกัน แต่ถอดรหัสพันธุกรรมใกล้กับ XJ มากกว่า XE ซึ่งกรณี XJ พบที่ฟินแลนด์ สำหรับประเทศไทยเราพบคนไข้มีอาชีพพนักงานขนส่ง สั่งของออนไลน์  โดยเป็นสัญชาติไทย อายุ 34 ปี ตรวจพบเชื้อวันที่ 22 ก.พ.2565 รพ.ในกทม. ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม  ซึ่งโดยอาชีพมีความเสี่ยงเจอ เพราะต้องพบเจอบุคคลหลายคน อย่างไรก็ตาม  นี่คือ ข้อมูลเบื้องต้น 1 รายในไทยที่มีโอกาสพันธุ์ผสม เรียกว่า XJ  แต่ทั้งหมดยังไม่ได้อยู่ในข้อมูลของจีเสส ที่ได้แอดไซด์เข้าระบบแต่อย่างใด จึงต้องรอการวิเคราะห์อีกครั้ง

“ที่อังกฤษมีข้อมูลพบว่า XE เร็วกว่าของเดิมหรือ BA.2 ประมาณ 10% ซึ่งองค์การอนามัยโลกจึงต้องจับตาว่า จะแพร่เร็วหรือไม่ และจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำว่า  การติดเชื้อโควิดแบบไฮบริดที่พบในไทยนั้นเรียกว่า ใกล้เคียงกับ XJ ในฟินแลนด์ เพราะวิเคราะห์แล้วไม่ได้ตรงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้อรอเวลาตรวจสอบ ซึ่งยังอยู่ในช่วงการวิเคราะห์ ดังนั้น กรณีการพบในชายไทยสายพันธุ์ลูกผสม จึงใกล้เคียง XJ แต่ในเรื่องความรุนแรง การแพร่เร็ว ยังไม่มีข้อมูล  เพราะในระยะเบื้องต้นจะพบการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก่อน และจึงจะพบว่าเปลี่ยนตรงตำแหน่งไหน โอกาสแพร่เร็ว โอกาสความรุนแรงจะมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีการกลายพันธุ์หลากหลาย ตำแหน่งกลายพันธุ์ก็หลากหลายไปด้วย

“สำหรับชายไทยที่เป็นคนส่งของอาการหายดีแล้ว ซึ่งอาการแทบแยกไม่ออกเลย เพราะไม่ว่าเดลตา โอมิครอนแทบแยกไม่ได้  ส่วนใหญ่เป็นอาการทางเดินหายใจใกล้เคียงกัน เพียงแต่เมื่อจำนวนรวมกันเยอะๆ   อาจมีไข้น้อยกว่านิดหน่อย หรือเจ็บคอมากกว่านิดหน่อย แต่คงไม่สามารถนำมาใช้แยกอาการกับสายพันธุ์ได้  นอกจากนี้   ยังมีอีก 1 ราย ข้อมูลยังไม่พอ เพราะตัวอย่างเพิ่งส่งมาวันที่ 3 เม.ย. แต่จากข้อมูลเบื้องต้นโอกาสที่จะเป็นรีคอมบิแนนท์  (recombinant) พบ 60% จึงยังสรุปไม่ได้ต้องรอสรุปต่อไป”  นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโอมิครอน ติดง่ายมาก เพียงแต่ความรุนแรงลดลง ดังนั้น จึงขอให้ระมัดระวัง อย่าไปเชื่อว่า ปล่อยให้ติดไปให้หมด แบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ติดเชื้อเยอะๆ โอกาสกลายพันธุ์มีสูง และเราก็ไม่รู้ว่าหากกลายพันธุ์แล้วรุนแรงก็จะมีปัญหา แต่โดยธรรมชาติวันนี้ ความรุนแรงลดลง เพียงแต่ยังแพร่เร็ว และจากการติดเชื้อขณะนี้ค่อนข้างเร็ว จึงต้องขอให้พึงสังวรว่า เมื่อเชื้อแพร่เร็ว โอกาสติดเชื้อก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น อะไรเลี่ยงได้ ป้องกันได้ขอให้ทำ หลายท่านอยากถอดหน้ากากอนามัย ขออย่าเพิ่งทำ อย่าไปรับประทานอาหารร่วมกันมากๆ

“ส่วนคนที่ให้ข้อมูลว่า วัคซีนฉีดเยอะๆ จะเข้าข้างไวรัส ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อให้ภูมิสูงมากพอ อย่างน้อยลดความรุนแรงของโรค” นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามกรณีหากติดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวหนึ่งแล้ว จะสามารถติดอีกตัวได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  ได้ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า การติดโอมิครอน BA.2 สามารถหลบภูมิฯไม่ว่าโดยธรรมชาติ หรือวัคซีนในจำนวนหนึ่ง ดังนั้น คนติดเดลตาก็ติดโอมิครอนได้ หรือติด BA.1 ก็อาจติด BA.2 ได้ แต่ไม่ใช่ทุกราย ซึ่งหลบได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้น ภูมิคุ้มกันฉีด 2 เข็มจึงไม่พอ จำเป็นต้องบูสเตอร์เข็ม 3 หรือคนฉีดเข็ม 3 นานมากแล้วก็แนะนำมาฉีดเข็ม 4  แต่อย่างที่บอกว่า ภูมิคุ้มกันในเลือดอย่างเดียวก็มีองค์ประกอบเยอะ อย่างฉีดวัคซีนเชื้อตายในอดีต ก็อาจทำให้เซลล์ต่างๆมาช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ในกรณีเจอเชื้อใหม่เข้ามา

เมื่อถามย้ำว่าคนติดโควิดมาแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ตามก็ยังต้องฉีดวัคซีนตามกำหนดหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากติดโอมิครอนวันนี้ ซึ่งพบว่าหากติด BA.2 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 เยอะแน่ และจะไม่เป็นซ้ำในเวลาสั้นๆ แต่หากติด BA.1 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ก็อาจไม่มากพอ  ซึ่งกรณีเหล่านี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังทำการตรวจสอบวิเคราะห์อยู่ หากแล้วเสร็จมีการเผยแพร่ต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org