ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด พบติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้น แม้เทียบสัดส่วนกลุ่มอื่นๆไม่แตกต่าง แต่ถือว่าต้องระมัดระวัง โดยเด็กป่วยเสียชีวิตพบว่ามีโรคประจำตัว ย้ำ! ผู้ปกครองพึงระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอเลี่ยงสถานที่เสี่ยง แออัด ผู้ใกล้ชิดเด็กของให้ฉีดวัคซีนตามกำหนด

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิดเริ่มแพร่เข้าไปในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่พบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนที่พบสูงที่สุด คือ อายุ 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 10-19 ปี เริ่มพบลดลงเนื่องจากปิดเทอม ส่วนกลุ่ม 40 ปีขึ้นไป และเด็กเล็กสถานการณ์ยังคงตัว ส่วนอัตราการเสียชีวิตต้องประชากรแสนคน ยังคล้ายกับ 2-3 เดือนที่แล้ว สูงสุดคือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามด้วย 60-69 ปี และวัยอื่นก็ลดลงตามกลุ่มอายุ 

"สำหรับเด็กอายุ 0-4 ปี ระลอกโอมิครอนเสียชีวิตแล้ว 27 ราย มากกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 23 ราย ซึ่งโอมิครอนมีการแพร่เชื้อเร็วมาก การติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการสังเกตอาการเด็กเล็กไม่ค่อยดี จะทำให้กว่าจะตรวจพบว่ามีอาการป่วยทำให้ช้าเกินไป" นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิตในเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ระลอกนี้มี 2 ราย อายุ 10-14 ปีมี 3 ราย ถือว่ายังน้อยกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 9 ราย และ 13 รายตามลำดับ ส่วนอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนในกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ระลอกที่แล้วยังสูงกว่า ขณะที่อัตราตายต่อประชากรแสนคน เนื่องจากระลอกนี้การแพร่เยอะและเร็ว ไปถึงกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว ทำให้อัตราตายและอัตราป่วยตายของเด็กอายุ 0-4 ปีมีจำนวนมากขึ้น โดยผู้เสียชีวิตของเด็กอายุ 0-14 ปี ทั้งระลอกเม.ย. 2564 และระลอก ม.ค. 2565 รวม 104 ราย พบว่า กลุ่มที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงขอให้ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติแม้เล็กน้อยหรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยหรือสัมผัสเสี่ยงสูงแล้ว ต้องรีบพาเด็กที่เริ่มมีอาการป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-4 ปี

"เด็กที่เสียชีวิต 104 ราย พบว่า ระลอกที่แล้วมีเด็กเสียชีวิตที่มีประวัติฉีดวัคซีนแล้ว 2 ราย ส่วนระลอกนี้มีเด็กเสียชีวิตรับฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ราย และ 1 เข็ม 1 ราย รวม 3 ราย หากรวมกับระลอกที่แล้วก็เป็น 5 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังมีประวัติไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัยเรียน 5-9 ปี และ 10-14 ปี อาจเกิดขึ้นก่อนเรารณรงค์การฉีดวัคซีนในเด็ก ปัจจุบันก็มีเด็กที่เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยในหลายเคส" นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิด 19 อายุ 0-18 ปีในประเทศไทย ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะกำหนดฉีดอายุ 5 ปีขึ้นไป จนกว่าจะมีวัคซีนที่เหมาะกับกลุ่มเด็กเล็ก พบว่า การป่วยและความรุนแรงของโรคกลุ่มเด็กเล็ก 0-6 เดือน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มวัยอื่นที่อายุต่ำกว่า 5 ปี  ส่วนอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกนี้ มีเพียง 3 ราย น้อยกว่า 0.01% เพระาฉะนั้น กลุ่มวัยเรียนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปการรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี

นอกจากนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่สำคัญช่วงสงกรานต์ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก 1.ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากผู้ดูแลญาติ ผู้มาเยี่ยม 2.กลุ่ม 608 ยังทำงานได้ เสี่ยงติดเชื้อจากผู้อื่น ทั้งเพื่อน ญาติ รวมทั้งไปสถานที่แออัด และ3.เด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 5 ปี จากข้อมูลพบเสียชีวิต 60 % มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว และอีก 40% ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้  ส่วนเด็กวัยเรียนช่วงปิดเทอมมีแนวโน้มติดเชื้อลดลง ขณะที่วัยทำงานยังคงมีอัตราติดเชื้อสูงมาก สำหรับสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรคเช่น ทานข้า ดื่มสุราร่วมเป็นเวลานาน  ร่วมงาน/กิจกรรม ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อในเด็กเมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 เม.ย. 2565 พบว่าเด็กเล็กมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกับกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ความรุนแรง หรือการป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการระบาดเมื่อปี 2564 ทั้งนี้ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตรอบนี้พบว่าเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง เป็นต้น ดังนั้นสถานการณ์ในเด็กถือว่าไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องพึงระมัดระวังเนื่องจากเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะยังไม่มีวัคซีนในเด็กเล็กอยู่แล้ว ต้องเน้นย้ำกับผู้ปกครองว่าอย่าพาเด็กไปสถานที่เสี่ยง สถานที่แออัด หากเจ็บป่วยให้พาไปพบแพทย์ พ่อ แม่ พี่เลี้ยงเด็กที่ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กนั้นควรไปฉีดวัคซีน

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org