ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.จัดเวทีรอบ 3 รับฟังความเห็นกลุ่มภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อ “ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ระดมข้อเสนอสู่การประยุกต์ใช้-นำไปปฏิบัติในพื้นที่ เชื่อมร้อยการทำงานในทุกระดับ ด้านคณะทำงานเตรียมรวบรวมข้อเสนอจากทั้ง 3 เวทีสู่การปรับปรุงร่างฯ ก่อนนำเข้าสู่ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” 25 เม.ย.นี้ เพื่อสร้างพันธสัญญาขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีเพื่อสร้างการรับรู้และความเป็นเจ้าของ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยเป็นเวทีที่สามของกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งจัดขึ้นในกลุ่มของภาคีภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยภาควิชาการ องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เยาวชน รวมทั้งคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ

 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ และประธานอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นธรรมนูญฯ เปิดเผยว่า ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้จะถูกใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพสำหรับทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชน ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นของทุกฝ่ายและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว นั่นแปลว่าประชาชนทุกคนจะต้องรับทราบว่ามีธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 กำหนดในเรื่องนี้เอาไว้

“นิยามของสุขภาพนั้นกว้าง เพราะยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และมิติอื่นๆ ที่ส่งผลกับชีวิต จึงมั่นใจว่าทุกคนจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ฉะนั้นนอกจากที่จะสร้างการรับรู้และขอความเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้แล้ว กระบวนการวันนี้จึงอยากฟังอีกว่าแต่ละฝ่ายจะนำเอาธรรมนูญฯ ไปใช้ได้อย่างไร ภายใต้กรอบหน้าที่หรือความสนใจของแต่ละคน รวมทั้งสิ่งสำคัญคือประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างไรกับธรรมนูญฯ ฉบับนี้” นายชาญเชาวน์ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญฯ กล่าวว่า แม้การทำธรรมนูญฯ นี้จะมีกฎหมายรองรับตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ชัดเจนให้มีธรรมนูญฯ เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยให้ทบทวนอย่างน้อยทุก 5 ปี แต่หากไม่มีใครเอาธรรมนูญฯ ไปใช้ก็จะไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นกระบวนการสำคัญจึงเป็นการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนในการออกแบบและร่วมเป็นเจ้าของอย่างจริงจัง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างของการนำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 1 และ 2 ไปใช้ประโยชน์แล้วมากมาย ตัวอย่างเช่น การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำไปใช้อ้างอิงในการสนับสนุนการลงทุนสถานบริการสุขภาพภาคเอกชน หรือสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ไปพัฒนาชุดตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการติดตามวิเคราะห์ความก้าวหน้าของระบบสุขภาพไทย ตลอดจนหลายพื้นที่ก็ได้มีการนำไปเป็นกรอบอ้างอิงในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นต้น

 

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากภาคีทุกภาคส่วนในครั้งนี้ พบว่าแต่ละภาคส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในการที่จะนำธรรมนูญฯ ไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปใช้ปรับแก้ร่างธรรมนูญฯ รวมทั้งจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคตต่อไป

สำหรับความเห็นของภาคีบางส่วน เช่น อาจไม่จำเป็นต้องรอทุก 5 ปีให้มีการแก้ไขธรรมนูญฯ หรือแผนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเสนอให้นำกรอบธรรมนูญฯ ไปเป็นแนวทางในการขยายผลและประยุกต์ใช้ในแผนระดับจังหวัด ท้องถิ่น หรือแผนของหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมถึงการเสนอให้มีการลงนามข้อตกลงหรือสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ร่วมกับหน่วยงานและองค์ภาคีที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ภาคีบางส่วนยังได้มีข้อเสนอแนะถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารสังคม การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมนูญฯ แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนประชาชน และที่สำคัญคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเชื่อมธรรมนูญฯ กับกลไกการทำงานในพื้นที่ รวมไปถึงกองทุนสุขภาพในระดับตำบล เครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล

ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการเชื่อมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเดินหน้าไปสู่เรื่องของสุขภาพในระบบการศึกษา การให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการแพทย์ที่มีหัวใจและความเป็นมนุษย์ ตลอดจนความเห็นจากสภาวิชาชีพ เช่น ให้มีการผลักดันแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในเมืองใหญ่ และในชุมชน

“ความเห็นจากภาคีทุกภาคส่วนเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการร่างธรรมนูญฯ ซึ่ง สช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะขอรับเอาข้อเสนอแนะทั้งหมด รวมทั้งความคิดเห็นของอีกสองเวทีที่จัดไปแล้วก่อนหน้านี้ มาปรับแก้ไขร่างธรรมนูญฯ ก่อนนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั้งหมดจะได้ร่วมกันให้ความเห็นอีกครั้ง พร้อมสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org