ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยโอมิครอน BA.2 พบมากสุด 95.9% ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ครอบคลุมทั้งหมด  ส่วนข้อมูลตรวจภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน BA.2 พบว่า ทุกสูตรวัคซีนทั้ง 2 เข็ม หรือ 3 เข็มกระตุ้นภูมิฯ BA.2 ดีกว่า BA.1 โดยเฉพาะ 3 เข็ม ย้ำ! คนฉีดวัคซีนเชื้อตายและไวรัลแวกเตอร์ 2 เข็มให้บูสเตอร์ มีประโยชน์ลดนอนรพ. อาการรุนแรงปอดอักเสบ และลดเสียชีวิตได้ ชี้ความเชื่อ BA.2 หลบวัคซีนอาจไม่ใช่

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 เม.ย. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น “ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด19 สายพันธุ์ย่อย BA.2” ว่า  ยอดรวมสะสมโควิดขณะนี้กว่า 3 ล้านคน  สำหรับสถานการณ์เฝ้าระวังสัปดาห์ที่ผ่านมาชัดเจนว่า BA.2 ขึ้นไปถึง 95.9% เหลือ BA.1 แค่ 4% ดังนั้น ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์เกือบ 100% จะเป็น BA.2 เพราะแพร่เร็วกว่า ส่วนเดลตาแทบไม่เหลือในบ้านเราแล้ว

อย่างไรก็ตาม การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน เป็นวิธีมาตรฐานโลก  คือวิธี PRNT  โดยการนำภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดของคนได้รับวัคซีนนำมาสู้กับไวรัสตัวเป็นๆ  คือ BA.2 ที่ได้เพาะเลี้ยงขึ้นมา หลังจากมีการระบาดจึงมีตัวอย่าง แต่การขึ้นค่อนข้างช้า ทำให้การทดสอบต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หลังจากได้จำนวนไวรัสเพียงพอ  โดยหลักการง่ายๆ คือ นำน้ำเลือดมาทำการเจือจางลงไปเป็นเท่าๆ เช่น 1ต่อ10 1 ต่อ40 1ต่อ 160 ไล่จนถึงจุดที่ฆ่าตัวรัสได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เป็น PRNT50  คือเมื่อฆ่าได้ครึ่งหนึ่งจึงเป็นจุดที่หยุด เพราะตัวเลขเจือจางถึงในระดับที่ต้องการ เช่น หากเจือจางถึง 100 เท่าฆ่าได้ครึ่งหนึ่งจะเป็นไตเตอร์ 100  โดยวิธีนี้ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยระดับ 3 เท่านั้น ไม่สามารถทำได้ในแล็ปทั่วไป ขณะนี้มีเพียงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งเดียวทำได้ โดยใช้เวลาตรวจถึง 7-8 วัน

สำหรับผลที่ออกมา ซึ่งเป็นการทยอยตรวจในแต่ละช่วงเวลา เบื้องต้นจากกราฟสีน้ำเงินและสีแดง โดยกรณีคนฉีดวัคซีน 2 เข็ม จากซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสูตรไขว้ และยังมีแอสต้าฯกับแอสตร้าฯ และมีไฟเซอร์ 2 เข็ม  และมีซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ และยังมีแอสตร้าฯตามด้วยไฟเซอร์ 

นอกจากนี้ ยังมีการฉีด 3 เข็ม คือ ซิโนแวค ซิโนแวคและแอสตร้าฯ  รวมทั้งยังมีซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ และมีแอสตร้าฯ 2เข็มและตามไฟเซอร์  อีกทั้งยังมีสูตรซิโนแวค แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์  และยังมีสูตรซิโนแวค แอสตร้า และตามด้วยแอสตร้าเข็มที่ 3

“ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคนที่ฉีดไม่ว่าสูตรไหนก็ตาม ปรากฎว่า ภูมิที่ลบล้างฤทธิไวรัสโอมิครอน BA.2 สูงกว่า BA.1 ด้วยซ้ำไป หมายว่าภูมิจัดการ BA.2 ได้มากกว่า BA.1  ดังนั้น ที่กังวลว่า BA.2 จะหลบวัคซีนได้มาก น่าจะไม่จริง อันนี้เป็นเลือดหลังจากฉีดวัคซีนไป 2 สัปดาห์ ซึ่งภูมิฯจะขึ้นสูง” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะจัดการ BA.2 ได้สูง แต่ตัวเลขไม่ได้มากนัก วัดตอน 2 สัปดาห์หลังฉีด ดังนั้น ณ วันนี้ฉีดมานาน ภูมิอาจตกลง แต่ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม หรือบูสเตอร์ ภูมิกลับขึ้นสูงขึ้นพอสมควร จึงเป็นสาเหตุต้องให้มาฉีดเข็ม 3  อย่างข้อมูลหากเวลาเลยไปประมาณ 1 เดือน คนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มภูมิแทบไม่เหลือเฉลี่ย 11 นิดๆ คัดพอยท์อยู่ที่ 10 ป้องกันได้ ส่วนแอสตร้าฯ กับแอสตร้าฯ ขึ้นไปประมาณ 26  ซึ่ง 1 เดือนเหลือแค่นี้ หากกินเวลา 2-3 เดือนก็จะเหลือยิ่งน้อย แต่หากถูกบูสด้วยเข็มที่ 3 เช่นซิโนแวค 2 เข็มเติมด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ก็จะเป็น  61 และ 94 ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร อยู่ในระดับที่พอจะช่วยป้องกันโรคได้

“ส่วนกรณีแอสตร้าฯ แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์  หากผ่านไปแล้วนาน 3 เดือนจะเป็นอย่างไร เราก็จะค่อยๆตรวจสอบกันไปและจะนำเรียนให้ทราบต่อไป” อธิบดีกรมวิทย์กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับของเชียงใหม่ที่ศึกษาแบบเรียลเวิล์ด ว่า 2 เข็มช่วยไม่ได้มาก แต่บูสเตอร์จะช่วยป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะลดการเสียชีวิต นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคมีข้อมูลตัวเลขจริง เอาคนที่เสียชีวิตต่อล้านคนมาเทียบ พบว่าคนไม่ฉีดวัคซีนเสียชีวิตไปที่ 767 ต่อล้านคน ขณะที่ฉีดวัคซีน 1 เข็มเหลือเสียชีวิต 366 ต่อล้านคน เมื่อฉีด 2 เข็ม เหลือ 145 ต่อล้านคน แต่เมื่อฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็น 3 เข็มจะพบเสียชีวิต 25 ต่อล้านคน หรือเสียชีวิตลดลง 31 เท่า ส่วนฉีด 4 เข็มยังไม่มีใครเสียชีวิตเลย  เพราะตัวเลขฉีดยังน้อยอยู่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้คอนเฟิร์มได้ว่า ใครลังเล หรือรับข้อมูลสร้างความสับสน ทำให้ไม่อยากฉีดวัคซีน กรุณาดูข้อมูลตรงนี้ และเลือกว่าจะเสี่ยงอย่างไร ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง ตัวเลขไม่ได้โกหกใคร

อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า สรุปคือ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ดีกว่า BA.1 จึงอย่ากังวลว่า BA.2 เต็มประเทศจะทำให้ภูมิแย่ลง ซึ่งข้อมูลชัดว่า สู้ได้ ส่วนคนที่ฉีด 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย หรือแม้แต่ไวรัลแวกเตอร์ เกิน 1 เดือน ภูมิต่อ BA.2 ลดลงมากพอสมควร จึงควรมาฉีดกระตุ้น ยิ่งหากฉีดนานแล้วยิ่งต้องมาฉีด ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เสนอเรื่องนี้เข้าไปด้วย ซึ่งโดยหลักการฉีดบูสเตอร์ดีๆ ต้องเว้นระยะพอสมควร อย่างเข็ม 2 แล้วทิ้ง 1 เดือนไปฉีดเข็ม 3 อาจไม่ดีพอ แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี เพราะวัคซีนบางชนิดทำภูมิตกเร็ว จะรออาจช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อมูลให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่า อาจเป็นเงื่อนไข 1-3 เดือนหรือไม่ และต้องการให้ภูมิฯสูงเร็วขึ้น เป็นต้น

“ ทั้งหมดเป็นข้อมูลตรวจภูมิฯ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าต้องให้วัคซีนห่างเท่าไหร่ ที่สำคัญแน่ๆ คือ ฉีด 2 เข็มไม่พอ ต้องกระตุ้นด้วยเข็ม 3 การบูสจะช่วยป้องกัน และแพร่เชื้อในระดับหนึ่ง และอธิบายได้ว่า ตอนนี้คนไม่ค่อยมีอาการ อาการไม่ค่อยหนัก เพราะส่วนหนึ่งภูมิร่างกายจัดการเชื้อไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด ยังแพร่เชื้อได้ แต่ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต ปอดอักเสบได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาในอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ อาเจนตินา ที่รอการตีพิมพ์ เปิดเผยข้อมูลว่า วัคซีนชนิด2เข็มและ3 เข็ม ภูมิต่อโอมิครอนทั้งBA.1และBA.2 พบว่า กรณี 2 เข็มภูมิต่อโอมิครอนไม่มากนัก แต่ภูมิต่อBA.2 สูงกว่า BA.1 แต่กรณีมีการบูสเตอร์ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเดียวกันหรือต่างชนิด ภูมิต่อโอมิครอนสูงกว่า 2 เข็ม และภูมิต่อBA.2สูงกว่าBA.1 ทุกชนิดวัคซีน สอดคล้องกับการศึกษาของกรมวิทย์ แสดงว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยBA.1และBA.2มีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ต่างกัน 

ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจากการหลบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันระหว่างBA.1และBA.2 แล้วยังพบว่าการเพิ่มจำนวนในหลอดทดลองของBA.2 เร็วกว่าBA.1ซึ่งอนุภาคไวรัสของBA.2 ใหญ่กว่าBA.1อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายของ BA.2 เร็วกว่าBA.1 และขอขอบคุณตัวอย่างอาสาสมัครจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ร่วมวิจัยด้วยกัน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org