ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่สิ้นสุดการระบาดครั้งแรกในหวู่ฮั่น จีนพบการระบาดเพิ่มเติมในขนาดเล็กที่เกิดจากกรณีนำเข้า แต่สามารถควบคุมผ่านมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้นในระยะสั้นและบริหารจัดการกันในท้องถิ่น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 จีนประสบและควบคุมการระบาดของเชื้อ Delta ได้ 11 ครั้ง โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 1,390 รายที่ตรวจพบ (จากประชากร 1.4 พันล้านคนในจีนแผ่นดินใหญ่) โดยการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเริ่มขึ้นในหนานจิง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และได้แพร่กระจายไปยังหลายมณฑลก่อนที่จะมีการควบคุมได้ โดยตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,162 รายซึ่งนับว่าน้อยมาหากจะพิจารณาว่าประเทศอื่นๆ มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ยังไม่นับยอดผู้เสียชีวิตอีกนับไม่ถ้วน

            ดูเหมือนว่าจีนจะกลายเป็นโอเอซิสแห่งดียวในโลกที่รอดพ้นจากการรบกวนของเชื้อที่ร้ายกาจอย่าง Delta ได้ แม้แต่ประเทศที่พยายามจะเป็นโอเอซิสที่ปลอดจากโควิด-19 แบบจีน เช่น นิวซีแลนด์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จและต้องยอมจำนนกระทั่งใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในที่สุด

            แนวทางของจีนเรียกว่า Dynamic COVID-zero (การทำให้เชื้อโควิดเป็นศูนย์อย่างมีพลวัตร) มันเกิดจากการที่จีนได้ดำเนินการตรวจเชื้อจำนวนมากเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น ประชากรเกือบทั้งหมดของเมืองกว่างโจว (ประมาณ 18 ล้านคน) ได้รับการทดสอบในช่วงสามวันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ระหว่างการระบาดของเชื้อ Delta

            จนกระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ประเทศจีนต้องเผชิญกับคลื่นการระบาดของเชื้อ Omicron  อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยมีผู้ป่วยรายวันถึงหลายพันราย ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มต้นเมื่อสองปีก่อน มาตรการ Dynamic COVID-zero ถูกนำมาใช้ในบางพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ในนครเซินเจิ้น เมืองเสิ่นหยาง และมณฑลจี๋หลิน อย่างไรก็ตาม พื้นที่อื่นๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ได้ใช้แนวทางที่เข้มงวดน้อยกว่าในการหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบ คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในปลายเดือนมีนาคมก็ต้องใช้มาตรการการล็อคดาวน์เต็มที่

            ครั้งนี้ นอกจากจีนจะแสดงอาการเพลี่ยงพล้ำสุดๆ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ยังเกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนถูกสั่งให้กักตัวในพื้นที่ของตนในทันทีทันใด ไม่มีโอกาสได้ซื้อข้าวของที่จำเป็น ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาเมื่อติดเชื้อ ยูนิตรักษาผู้ป่วยหนักบางแห่งหยุดให้บริการเพราะปนเปื้อนผู้ติดเชื้อโควิด-19  ทำให้มีรายงานว่าผู้ป่วยหนักจากโรคอื่นๆ ถูกปฏิเสธจนกระทั่งเสียชีวิต เช่น กรณีของพยาบาลนอกเวลางานในเซี่ยงไฮ้เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด เพราะถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลหลายแห่ง เนื่องจากห้องฉุกเฉินถูกปิดชั่วคราวเนื่องจากการฆ่าเชื้อโควิด-19 รวมถึงโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ด้วย (1) เหตุการณ์นี้ สะท้อนถึงความรัดกุมจนเกินไปของจีนที่พยายามรักษาแนวทาง Dynamic COVID-zero

            สาเหตุก็เพราะการใช้แนวทาง Dynamic COVID-zero เป็นวาระทางการเมืองพอๆ กับความเชื่อว่ามันจะช่วยให้จีนรอดพ้นจากการระบาดใหญ่ไปได้ในที่สุด ความที่มันถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่บนสุดของฝ่ายบริหารภูมิภาคจนถึงระดับโรงพยาบาลต้องเข้มงวดกับแนวทางนี้ เพราะเจ้าหน้าที่บางคนเคยถูกปลดจากตำแหน่งมาแล้วเพราะปล่อยให้เกิดการระบาดในพื้นที่ของตน เช่นกรณีของการระบาดที่หนานจิงเมื่อปีที่แล้วที่เกือบจะกลายเป็นการลุกลามใหญ่ แต่จีนก็คุมอยู่จนได้ ครั้งนี้ แม้จะเป็นอีกครั้งที่โลกสงสัยว่าจีนจะต้านทานไหวหรือไม่ แต่สถานการร์ที่จีนแสดงออกมามันเลวร้ายกว่าการระบาดที่เริ่มที่หนานจิงเมื่อปีแล้วมากแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและความเชื่อมั่นของสาธารณชน

            แต่มันเลิกไม่ได้ถ้าระดับผู้นำประเทศไม่ได้มีคำสั่ง และนอกจากจะไม่มีคำสั่งมาแล้ว สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนยังตอกย้ำแนวทางนี้ด้วยซ้ำ โดยโดยกล่าวในงานอีเวนต์เพื่อเป็นเกียรติแก่นักกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวว่าการจัดโอลิมปิกฤดูหนาวล่าสุดของประเทศจีนแสดงให้เห็นว่านโยบายรับมือโควิด-19 ของประเทศจีนนั้น "ทนทานต่อการทดสอบอีกครั้ง" และกล่าวว่า “นักกีฬาต่างชาติบางคนบอกเราว่า ถ้ามีเหรียญทองในการรับมือโรคระบาด ก็ควรให้จีน” (2) ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ People's Daily ของรัฐบางจีน ประกาศว่าแนวทาง Dynamic COVID-zero ยังคงเป็น "ทางเลือกที่ดีที่สุด" สำหรับจีน โดยเถียงว่าจีนไม่ควร "ไม่เคยเฉยชา ไม่อ่อนล้าต่อการต่อสู้ และไม่เคยหย่อนยาน" (2)

            ในขณะที่สำนักข่าว Xinhua ของรัฐบาลจีนกล่าวย้ำว่า จีนจะยึดมั่นนโยบาย Zero-Covid อย่างเคร่งครัด และอีกครั้งที่จีนจะเอาชนะ Omicron ด้วยนโยบาย Dynamic COVID-zero โดยกล่าวว่า "นโยบาย Dynamic COVID-zero เป็นนโยบายแบบมีพลวัตรที่อยู่เบื้องหลังความจริงที่ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจีน ผู้ป่วย กรณีร้ายแรง และการเสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับต่ำ ช่วยให้ประเทศเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่งอย่างปลอดภัยเมื่อต้นปีนี้ นอกจากนี้ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมจีนทำได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการควบคุมโควิด-19 การควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพยังช่วยให้ประเทศสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก" (3)

            แต่ในความจริงก็คือการล็อคดาวน์เซินเจิ้นและการปิดโรงงงานการผลิตที่สำคญบางแห่งของจีนเริ่มกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตแล้ว ยังไม่นับการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่เป็นฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจของจีน การรุกรานของ Omicron ครั้งนี้จึงต่างจากตอนที่จีนรับมือ Delta อย่างมาก ในแง่หนึ่งมันโจมตีเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจและการเงินหลักของจีนอย่างหนัก ไม่เหมือนกับการโจมตีของ Delta ต่อเมืองระดับรองๆ เมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น จีนมีเหตุผลที่จะต้องหวั่นใจกับคลื่นการระบาดล่าสุด และโลกก็มีเหตุผลที่จะต้องตั้งคำถามกับแนวทางของจีนด้วย เพราะเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกับเมืองใหญ่ๆ ของจีนที่ถูกล็อคดาวน์ไป

            ดังนั้น ในระยะที่จีนเผชิญกับความไม่นอนของ Omicron ในต่างประเทศจึงมีบทวิเคราะห์ในเชิงไม่เชื่อมั่นกับแนวของจีน เช่น CNN มีบทวิเคราะห์ที่บอกว่า "จีนไม่มีแผนทางออกโควิด สองปีผ่านไป ผู้คนเบื่อหน่ายและโกรธเคือง" พร้อมยกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนจีนแสดงถึงความไม่อดทนต่อไปกับการควบคุมการระบาดแบบเข้มงวด ตอนหนึ่งของการวิเคราะห์ชี้ว่า "การที่จีนไม่สามารถควบคุมการระบาดครั้งล่าสุดได้ทำให้เกิดเสียงสะท้อนทางออนไลน์จากประชาชนที่ผิดหวัง เนื่องจากคำถามเกี่ยวกับกลยุทธ์ปลอดโควิดของรัฐบาลที่ปักกิ่งได้ทะลุทะลวงเข้าสู่ (ความเห็นสาธารณะ) กระแสหลักเป็นครั้งแรก" (1)

            CNN ยังเผยแพร่บทความทัศนะหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า "ทำไมสี (จิ้นผิง) ถึงเลิกเป็นโควิดศูนย์ไม่ได้" โดยชี้ว่าส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นวาระทางการเมืองนั่นเอง โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า "ด้วยอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ที่จุดสูงสุดของระบบ เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพการงานของพวกเขา รีบกระโดดเข้าสู่กลุ่มนโยบายปลอดโควิด แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสี (จิ้นผิง) และวาระนโยบายที่เขาโปรดปราน

" และ "แรงจูงใจจะแข็งแกร่งขึ้นมากสำหรับผู้ที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองซึ่งอยากได้ที่นั่งในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการกรมการเมืองที่ทรงอำนาจ ซึ่งจะมีการสับเปลี่ยนในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ของปีนี้" (4)

            แต่สื่อของทางการจีนยังคงเป็นกระบอกเสียงที่ตอกย้ำแนวทางของประเทศตนโดยเสนอรายงาน การวิเคราะห์ และการแสดงความเห็นแบบถี่ยิบเสียยิ่งกว่ารายงานข่าว/บทวิเคราะห์ที่ตั้งคำถามกับ Dynamic COVID-zero ของจีน ในบรรดาข้อเขียนที่ปกป้องแนวทาง Dynamic COVID-zero ของสื่อรัฐบาลจีนเหล่านี้บทความของ China Daily น่าจะตอบทุกคำถามได้ดีที่สุด เพราะพาดหัวสั้นๆ ได้ใจความว่า "Dynamic COVID-zero หรือไม่นั้น ฐานข้อมูลมีคำตอบ"

            แต่บทความก็ไม่มีข้อมูลอะไรมาให้ นอกจากอ้างคำเตือนของสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของจีน โดยบอกว่า "CDC ของจีนประมาณการว่าหากจีนเลือกที่จะ "อยู่กับโควิด-19" เหมือนที่บางประเทศสนับสนุนแนวทางนี้ จำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงหลายแสนคน และทำให้ระบบการแพทย์ของประเทศเต็มที่อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมาตรการด้านการฉีดวัคซีน การรักษา และการกักกันดีขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะลดอันตรายที่โคโรนาไวรัสจะก่อให้เกิดขึ้นได้อย่างมาก" (5)

            สุดท้ายแล้วจีนก็ยังเชื่อมั่นกับแนวทางของตัวเอง แม้ว่าจะยังยืนยันด้วยดาต้าแบบแน่นๆ ไม่ได้ และยังไม่มีแผนการสำรองนอกเหนือจากนี้แต่อย่างใด

 

 

อ้างอิง

1. McCarthy, Simone. (March 25, 2022). "China doesn't have a Covid exit plan. Two years in, people are fed up and angry". CNN.

2. "Xi praises China's virus handling as Shanghai prepares 130,000 Covid beds". (April 8, 2022). AFP.

3. "Commentary: China to defeat Omicron again with dynamic zero-COVID policy". (April 9, 2022). Xinhua.

4. Huang, Yanzhong. (April 8, 2022). "Opinion: Why Xi can't quit zero-Covid". CNN.

5. "Dynamic zero-COVID or not? Data has the answer". (April 6, 2022). China Daily.

 

ภาพ Pau Colominas / wikipedia.org