ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัมภาษณ์พิเศษ : “เลอพงศ์ ลิ้มรัตน์” ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ กับแนวทางแก้ปัญหาจัดสรรงบประมาณถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ. ชี้ 1 ต.ค. 65 ดำเนินการแน่นอน ย้ำ! โอกาสก้าวหน้ามีสูง การจัดสรรงบประมาณคล่องตัว

จากกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และตัวแทนอบจ. 49 จังหวัด อาทิ ระยอง สุพรรณบุรี ยโสธร ปัตตานี เชียงราย ฯลฯ  และตัวแทนผู้อำนวยการรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล กรณีถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยยืนยันไม่ได้มีปัญหาการถ่ายโอน แต่ต้องเตรียมการดำเนินการให้พร้อมและไม่กระทบต่อการบริการประชาชน โดยให้มีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการนั้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ร่วมวงหารือผู้แทน อบจ. เคลียร์ปมถ่ายโอน รพ.สต. สู่ท้องถิ่น ย้ำไม่มีปัญหา แต่ไปแล้วกลับมาไม่ได้อีก! 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมหารือถึงการดำเนินการดังกล่าวร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   สำนักงบประมาณ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  

โดยในการเตรียมการดำเนินการทางฝั่งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ  ซึ่งมีนายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ   ได้ให้ข้อมูลกับทางผู้สื่อข่าว  Hfocus ถึงการดำเนินการการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ ว่า  สำหรับการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค.65 อนุมัติงบประมาณปี 2566 ถ่ายโอนเพียง 512 แห่ง จาก 3,384 แห่งที่สมัครใจถ่ายโอน 

ตอนนี้ ข้อมูลล่าสุดสำนักงบประมาณได้จัดสรรถ่ายโอน ทั้งหมด 512 แห่ง บุคลากร 2,860 คน  แต่คณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ ยังยืนยันว่าจะต้องมีการถ่ายโอนทั้งหมด 3,384 แห่ง  ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา  จากการรายงานมติที่ประชุม กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ยืนยันข้อมูลกลับมาเป็น 3,366 แห่ง หายไป 18 แห่ง  อีกทั้ง ยังพบว่า ในจำนวน 3,366 แห่ง มีสกลนคร 144 แห่ง ไม่ได้บันทึกข้อมูลบุคลากรเข้าไป บันทึกเฉพาะเงินสนับสนุนตามขนาดรพ.สต. คือ  s / m / l   ทำให้สำนักงบประมาณยังพิจารณาตรงนี้ไม่ได้ ซึ่งกรณี “สกลนคร” มีข้อเสนอว่า จะให้ถ่ายโอน รพสต. 144 แห่ง มาก่อน  ส่วนบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอนเป็นไปได้ว่า จะให้ช่วยราชการไปก่อน 

นอกจากนี้ ส่วนที่เกินจาก 512 แห่ง นั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุข กับ อบจ. สามารถยืนยันข้อมูลบุคลากรให้ตรงกันได้ สำนักงบฯ ก็จะมีวิธีการจัดการงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ไปให้อบจ. ซึ่งตัวเลขที่ อบจ. ส่งเข้ามาส่วนกลาง มีประมาณ 9,000 กว่าคน ที่ต้องรอยืนยัน แต่หากยืนยันไม่ทัน ก็มีอีกช่องทาง คืออาจจะต้องใช้การแปรญัตติในขั้นตอนวาระที่ 2 ในการพิจารณางบประมาณ 

ส่วนในเรื่องงบประมาณสนับสนุนพิเศษที่ในแนวทางได้เขียนไว้ว่า ให้สนับสนุนตามขนาด รพ.สต. ตั้งแต่ 1 ล้าน/1.5 ล้าน/ 2 ล้าน นั้น แต่สำนักงบประมาณได้จัดให้เพียง 4 แสน/6.5 แสน/ 1 ล้าน ใน 512 แห่งที่ตั้งไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีเงินเพียงพอที่จะไปสนับสนุนในอีก 2,870 แห่ง จะต้องแปรในส่วน 512 แห่งให้เท่ากันตามยอดที่ตั้งไว้ก่อน 

 

อย่างไรก็ตาม  ในส่วนที่จะต้องเสนอ ก.ก.ถ. นั้น คณะอนุกรรมการฯ เราต้องหารือกับสำนักงบประมาณ ว่า ส่วนที่เขียนไว้ว่า สนับสนุน 1 ล้าน/1.5 ล้าน/ 2 ล้าน นั้น สำนักงบฯ จะสามารถจัดสรรหาได้ตามยอดนี้เมื่อไหร่ ต้องไปวางแผนในการดำเนินการมา เป็นต้น

“สรุปคือ เรื่องงบประมาณมีวิธีทางที่จะดำเนินการ ซึ่งอยู่ระหว่างทำตามขั้นตอน ไม่ต้องกังวล..” นายเลอพงศ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีคนห่วงใยว่า หากถ่ายโอนไปแล้ว อบจ. จะมีระบบการบริการเหมือนเดิมและได้มาตรฐานการบริการสาธารณสุขตามเดิมหรือไม่น้อยกว่าเดิมได้หรือไม่  เช่น มีบุคลากรทางการแพทย์มารองรับ เนื่องจากเมื่ออยู่กับกระทรวงสาธารณสุข จะมีแพทย์หมุนเวียนมาจากโรงพยาบาลชุมชน .....

นายเลอพงศ์  ตอบว่า  ตามแนวทางเบื้องต้น ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า รพ.สต. ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข นั้นทำงานอะไรบ้าง เมื่อถ่ายโอนมาแล้วก็ต้องทำเหมือนเดิม  แล้วให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูว่า มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับอะไร ที่ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมบ้าง จะต้องทำการไปแก้กฎระเบียบหรือข้อบังคับนั้น

“ดังนั้น ถ้าหากเข้าใจตรงกันถึงจะอยู่หลายกระทรวงก็ตาม เคยทำงานอะไรแบบไหนก็ให้ทำเหมือนเดิม ฉะนั้นการที่มีหมออยู่โรงพยาบาลชุมชนหมุนเวียนมา รพ.สต. ก็ให้ทำเหมือนเดิม แต่ถ้าหากผิดระเบียบในเรื่องเบิกจ่ายค่าหมอยังไง แล้วก็เบิกจ่ายที่เขาเหมือนเดิมแต่ให้ไปแก้ในส่วนกฎระเบียบแต่ละส่วนงานที่ได้เขียนไว้ เช่น หมอที่โรงพยาบาลชุมชนถ้าหากไปให้บริการประชาชนที่ รพ.สต. ต้องอยู่ในสังกัดเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราก็ไปแก้ระเบียบว่าสามารถไปให้บริการอยู่รพ.สต. ที่สังกัดท้องถิ่นได้ด้วยให้สามารถเบิกจ่ายได้ด้วย เป็นต้น” นายเลอพงศ์ กล่าว และว่า ขณะนี้เข้าใจว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เตรียมพร้อมเรื่องการจัดสรรงบที่เกี่ยวข้องแล้วเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องความก้าวหน้าของบุคลากรที่จะถ่ายโอนไปท้องถิ่น ... นายเลอพงศ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของความก้าวหน้า ตามระเบียบของ ก.พ. กับระเบียบของงส่วนท้องถิ่น วิธีการเลื่อนตำแหน่งจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจาก ก.พ. ดูข้าราชการส่วนกลาง ซึ่งปริมาณเยอะมาก ส่วนของท้องถิ่นนั้นขึ้นกับงานบุคคลากรของกระทรวงมหาดไทย ระเบียบการที่จะเติบโตในหน้าที่การงานจะต่างกันเล็กน้อย   เช่น การทำชำนาญการพิเศษตามระเบียบก.พ. เนื่องจากว่าจะไปติด  40% ซึ่งมันตันแล้ว แต่กฎหมายกระจายอำนาจ มีช่องทางพิเศษ คือไม่ให้ไปนับรวมใน 40% เพราะฉะนั้นการเลื่อนขั้นชำนาญการพิเศษในการปรับเงินเดือนเพิ่มจะเปิดกว้างกว่า  เรียกว่ามีโอกาสมากกว่า

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าด้านอื่น ถ้ามาอยู่ท้องถิ่นนั้น ช่องทางในการที่จะเติบโตสามารถ เปลี่ยนสายงานจากสายวิชาการอาจจะไปอยู่สายบริหารหรือสายอำนวยการได้ หากมีศักยภาพและมีความรู้คุณสมบัติที่มากพอก็สามารถไปได้ ส่วนการจ้างลูกจ้างยังใช้ระบบเดิม คือ งบบำรุง แต่เรียกชื่อต่างกัน ซึ่งท้องถิ่นจะเรียกว่า จ้างตามภารกิจ จ้างเหมา จ้างรายวัน เป็นต้น ซึ่งจะใช้หมวดเดิมคืองบบำรุงที่มาจาก สปสช.  สรุปคือ การใช้เงินงบประมาณจะคล่องตัวกว่าแน่นอน เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่ อบจ. โดยตรง  

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดสรรงบประมาณไป รพ.สต.ของกระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบ CUP หรือเครือข่ายบริการจะยังใช้อยู่หรือไม่ ...นายเลอพงศ์ กล่าวว่า จะมีการพิจารณาในพื้นที่ว่า จะใช้รูปแบบเดิม คือผ่าน CUP หรือ จ่ายตรงไป รพ.สต.  ให้อำนาจแต่ละจังหวัดพิจารณากันเองเนื่องจากว่าบางจังหวัดระบบ CUP แบ่งสรรกันลงตัว แต่ถ้าบางจังหวัดพิจารณาว่าการจ่ายตรงอาจจะคล่องกว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนกังวลว่าเมื่อถ่ายโอนแล้วจะมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านของการเมืองจะส่งผลต่อการทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปมีบางแห่งต้องการกลับมากระทรวงสาธารณสุข …

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า  จริงๆ ก็เหมือนกับการที่เราทำงานอยู่กระทรวงสาธารณสุข ที่มีผู้บริหารสูงสุดคือ ฝ่ายการเมือง การอยู่ อบจ. อย่างนายกอบจ. เทียบเคียงคล้ายรัฐมนตรีก็ได้ เพียงแต่เป็นพื้นที่ท้องถิ่น ส่วนปลัด อบจ.ก็เทียบเคียงปลัดกระทรวงฯ แต่ทั้งหมดทั้งปวงอยู่ที่เรา การทำงานที่เน้นประชาชนเป็นหลัก 

“ต้องเข้าใจว่าผู้บังคับบัญชา มีหลายรูปแบบ อย่างบางท่านการบริหารงานอาจจะเน้นสาธารณสุข    แต่อีกระยะหนึ่งเปลี่ยนนายกอบจ.คนใหม่ อาจเน้นอีกเรื่อง ขึ้นกับบริบท  แต่ทั้งนี้ อยากให้ข้อคิดกับข้าราชการที่อาจกังวลจุดนี้ว่า สำคัญที่สุด เรายึดหลักบริการพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ” นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2565 อย่างน้อยๆ 512 แห่ง ถ่ายโอนไปแน่นอน ส่วนที่เหลืออีก 2,800 กว่าแห่ง ก็จะดำเนินการถ่ายโอนไปเช่นกัน โดยก่อนวันที่ 1 ตุลาคมนี้  จะต้องมีพิธีลงนามในการส่งมอบทรัพย์สิน ส่งมอบบุคลากร ฯลฯ  

*********************

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรม ผอ.รพ.สต.ฯ ยื่นหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบวงเงินงบปี 66 ปมถ่ายโอนภารกิจฯ