ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.จัดเวทีรับฟังความเห็น (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบาย “การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ระดมภาคีทุกภาคส่วนร่วมสะท้อน-ให้มุมมองการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพ หลังไทยต้องพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้าน แต่เต็มไปด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ-หลักประกันของกลุ่มแรงงาน เร่งยกระดับสู่นโยบายระดับชาติเพื่อสางปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคเอกชน กว่า 150 คน ที่ได้เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็น เพื่อนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะตามสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ต่อไป

 

 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีการบัญญัติไว้ชัดเจนถึงสิทธิของคนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะ ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่คณะทำงานได้จัดประชุมกับหลายภาคส่วนเพื่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับนี้ เวทีวันนี้จะเป็นอีกครั้งสำคัญของการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงร่าง ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 เพื่อที่ทุกภาคส่วนจะร่วมให้ฉันทมติออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบพร้อมเดินหน้าสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

น.ส.ชลนภา อนุกูล มูลนิธิเครือข่ายเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในฐานะคณะทำงานวิชาการ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาคิดเป็น 10% ของประชากรแรงงานในไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในอาเซียน แต่ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติกับต้องพบเจอกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ อย่างเช่นหลักประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่ได้จัดให้ตามระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงาน

“ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในกระบวนการขออนุญาตทำงานในประเทศไทย ถูกจัดเก็บโดยไม่คำนึงถึงลักษณะงานที่มีรายได้น้อยของแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่การจัดสรรงบประมาณสำหรับบริการสุขภาพ ก็ไม่สอดคล้องกับรายรับจากค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่จัดเก็บจากแรงงานข้ามชาติ เพราะหน่วยงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานจัดบริการสุขภาพ กลับเป็นคนละหน่วยงานกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นช่องว่างทางนโยบาย ที่ขาดดุลยภาพระหว่างนโยบายด้านความมั่นคง แรงงาน และสุขภาพ” น.ส.ชลนภา กล่าว

 

 

ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายนี้จะประกอบด้วย 4 ข้อเสนอหลัก คือ 1. บูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่นโยบายการพัฒนาระดับชาติ โดยให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงการมีกฎหมายสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ขึ้นมาเป็นกฎหมายใหม่ เป็นต้น 2. หลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม 

3. บริการสุขภาพปฐมภูมิครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติหนาแน่น และบริการเชิงรุก มุ่งส่งเสริมป้องกันโรคและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ เช่น การเพิ่มจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) มีคลินิกประกันสังคม สร้างความร่วมมือกับประเทศต้นทาง 4. ฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้ เช่น บูรณาการข้อมูลให้ครบถ้วนทุกหน่วยงานโดยไม่เปิดเผยสถานะเข้าเมือง สร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงระบบสุขภาพ ขจัดการตีตรา เลือกปฏิบัติ เป็นต้น

สำหรับความเห็นของที่ประชุมในครั้งนี้พบว่ามีการให้ข้อเสนอที่หลากหลาย อาทิ การกำหนดนโยบายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้มีความชัดเจน ครอบคลุมทั้งแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กับชาวต่างชาติที่เป็นแรงงานทักษะซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กรอบของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงตามพลวัตรการทำงานของแรงงานในรูปแบบต่างๆ เช่น กรณีข้ามแดนไป-กลับ หรือเข้ามาตามฤดูกาล ตลอดจนการพูดคุยเชื่อมโยงกับหน่วยงานของประเทศต้นทางให้มีความชัดเจน และสามารถจัดการได้ร่วมกัน

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และประธานคณะทำงานวิชาการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สช. มีการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานข้ามชาติมาหลายปี หากแต่ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สะท้อนประเด็นของวิกฤตทางสุขภาพกับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถละเลยได้

“มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาเป็นการพูดถึงในบริบทของวิกฤตสุขภาพ แต่ข้อเสนอเชิงนโยบายนี้จะทะลุทะลวงไปมากกว่านั้น เพราะจะผลักดันไปสู่นโยบายสาธารณะระดับชาติ เพื่อให้สิทธิด้านสุขภาพในภาพรวมของแรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันสุขภาพที่เข้าถึงได้ ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้อาจถูกละเลย และไม่ได้อยู่ในนโยบายหรือแผนระดับชาติ จึงหวังว่าเวทีนี้จะทำให้เกิดนโยบายสาธารณะ และสร้างความตระหนักรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว