ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไขปมยาโมลนูพิราเวียร์ แพงคอร์สละหมื่น ภาคเอกชน จี้ รัฐบาลตรวจสอบการจดสิทธิบัตรนำเข้า-ผลิต ชี้ ไม่เป็นธรรม เหตุไม่ใช่ยาใหม่ 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงกรณีข่าวที่ระบุว่าบริษัทยาข้ามชาติ ขอให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) หยุดนำเข้าและผลิตยาโมลนูพิราเวยีร์

อ้างว่ามีการยื่นสิทธิบัตรยาไว้แล้ว ว่า สำหรับยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ที่กรมการแพทย์กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.65 จะมี 3 ชนิด คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด โดยค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ที่จัดซื้อจากบริษัทเมอร์ค (Merck) ราคา 10,000 บาทต่อคอร์ส ประสิทธิภาพลดความรุนแรงได้ถึง 30-50%

ขณะที่ บริษัทเมอร์คมีการยกสิทธิบัตรให้กับประเทศที่รายได้ต่ำ เพื่อให้ผลิตได้เอง ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดซื้อ 50,000 คอร์ส เป็นมูลค่า 500 ล้านบาท ขณะที่ประเทศลาว นำเข้าในราคาไม่ถึงคอร์สละ 1,000 บาท และอินเดียผลิตได้เอง โดยได้รับสิทธิบัตรจากบริษัทเมอร์ค อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทนำเข้ายาในประเทศไทย ยังติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตรการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ ตามที่บริษัทผู้ผลิตได้ออกข่าวดังกล่าวมา

นพ.ฆนัท กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อาจต้องเร่งดูเรื่องการนำเข้ายา เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ทั้งจากอินเดีย ยุโรป เพื่อให้ภาคเอกชนนำเข้ามาช่วยภาครัฐบาลกระจายยาออกไป ให้มีการเข้าถึงยาต้านไวรัส ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของโควิดในการทำเป็นโรคประจำถิ่น ที่จะต้องดูตัวเลขการเสียชีวิต ดังนั้น หากคนไทยมีตัวเลือกในการรักษามากขึ้น ก็จะทำให้อัตราลดลงอย่างชัดเจน

 

 

ด้าน นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ มีงานวิจัยต้นทุนการผลิตจริงๆ ระบุว่าไม่ควรเกิน 600 บาทต่อคอร์ส สอดคล้องกับที่อินเดีย ผลิตในราคา 400-500 บาทต่อคอร์ส ทั้งนี้ ความชอบธรรมในการครองสิทธิบัตรยาดังกล่าว ต้องน้อยไปว่าเดิมยาโมลนูพิราเวียร์ถูกคิดค้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ด้วยทุนวิจัยจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาโรคเมอร์ส ไข้หวัดใหญ่ และไข้สมองอักเสบ แต่เมื่อมีโควิด ทางบริษัทเมอร์คจึงซื้อสิทธิบัตรมาเพื่อพัฒนายารักษาโควิด แต่ขณะนี้ สหรัฐฯ จะต้องซื้อยานี้ในราคาคอร์สละ 20,000 บาท

“ยาตัวนี้ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรในหลายประเทศ อยู่ในสถานะการยื่นขอ เช่นเดียวกับอินเดียที่มีการผลิตยาแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณว่าควรได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ คนที่ติดตามเรื่องนี้ก็ได้ยื่นค้านว่าไม่ใช่ยาใหม่ ไม่ควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งไทยยังไม่มีการขอยื่นจดสิทธิบัตรดังกล่าว รวมถึงไทยไม่มีการจดสิทธิบัตรเพื่อใช้ยาบำบัดรักษาโรค ฉะนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกเลิกคำขอนั้นได้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีคำขอนี้” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากให้ทาง อย.และ อภ. รวมถึงผู้ผลิตยาในประเทศ ดำเนินการนำเข้ายาและผลิตเองในประเทศ รวมถึงการขึ้นทะเบียนยาโดยเร็ว เพราะยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย มีแต่เพียงคำขอเท่านั้น พร้อมฝากถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตาม พรบ.สิทธิบัตร เพื่อพิจารณาคำขอสิทธิบัตร โดยเฉพาะการขอเพื่อใช้ในการบำบัดรักษา เราสามารถยกเลิกได้ทันที เพื่อให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตยาดำเนินการต่อได้อย่างราบรื่น

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรายการ Covid Forum ในทุกสัปดาห์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมตอบทุกประเด็นข้อสงสัย เพื่อให้ทุกท่านดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19