ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 เมษายน 2565 อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฏ. ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID - 19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2566 และ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจน ด้วยตนเอง จนถึง 31 ธันวาคม 65 ประกอบด้วย

1. ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากเดิมได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 65 ขยายออกไปอีก 1 ปี 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร  หลักเกณฑ์รายละเอียดการลดหย่อนภาษีประกอบด้วย 1. บุคคลธรรมดา ยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนนั้น 2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และ3. ผู้ประกอบการ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. โดยคาดว่า รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9 ล้านบาท

2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 โดย 1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าเพื่อบริจาค โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 ที่บริจาคให้แก่ สถานพยาบาล ได้แก่ สถานพยาบาลของทางราชการ / สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ / สถานพยาบาลขององค์การมหาชน / สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นองค์การของรัฐบาล หรือ หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็น เจ้าของ สถานพยาบาลของอปท. สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่น ของรัฐ หรือสถานพยาบาลของ สภากาชาดไทย (2) หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ (3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาล 2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาค โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้โอนทรัพย์สินสำหรับการนำเข้าและการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65- 31 ธ.ค. 66 คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสีย รายได้ภาษีประมาณปีละ 25 ล้านบาท

3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจน ด้วยตนเอง (COVID – 19 Antigen test self-test kits) ] ออกไปอีก 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจโควิด - 19 แบบเร่งด่วน เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเอง คาดว่า รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,715 ล้านบาท

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า แม้การขยายระยะเวลามาตรการภาษีทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี รวมประมาณ 1,749 ล้านบาท แต่จะลดภาระภาษีแก่ผู้ประกอบการ ยังเป็นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยสนับสนุนการป้องกัน การระงับ และการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สุขภาพประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ