ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ชี้ไทยเข้าโรคประจำถิ่นต้องเป็นไปทั้งประเทศ อาจไม่ใช่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก่อน เล็งผ่อนคลายมาตรการเพิ่มหากติดเชื้อไม่เพิ่ม 1-2 สัปดาห์ อาจไม่ต้องตรวจ ATK และอาจไม่ต้อง Thailand Pass  ย้ำทุกอย่างต้องเน้นความสมดุล

 

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565   ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด 19 ที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง ว่า สถานการณ์ขณะนี้คงตัวมาระดับหนึ่งแล้ว หวังว่าถ้าไม่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อื่นในช่วงนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตน่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ ช่วงนี้ก็ติดตามทุกวัน เห็นว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ คนไข้ปอดอักเสบ อาการหนัก การใช้ห้องไอซียู ก็ค่อนข้างลดลง การใช้ยาต้านไวรัสแต่ละวันก็มีจำนวนขาลงเหมือนกัน ก็คิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับความตั้งใจของกระทรวงและรัฐบาลที่อยากจะให้มีการผ่อนคลายมาตรการโควิดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

 

เมื่อถามถึงความพร้อมการเป็นโรคประจำถิ่น มีจังหวัดใดที่พร้อมดำเนินการ  นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็มีความพร้อมแทบทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็รับทราบนโยบายของรัฐบาล และความต้องการของประชาชนที่อยากจะให้ผ่อนคลายมาตรการมากที่สุด ทำให้เปิดประเทศทำมาหากินได้ โดยต้องการให้ สธ.แสดงความมั่นใจว่าสุขภาพจะไม่เป็นอันตราย แม้จะติดเชื้อแล้วก็ไม่เป็นอะไร ซึ่ง สธ.ก็ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วไม่เป็นอะไรแน่นอน หากมารับวัคซีน 3 เข็มเป็นอย่างต่ำ จึงต้องมาบูสต์ มาฉีด 4 เข็มได้ยิ่งดี ซึ่งจากการติดตามพบว่า อาจจะติดเชื้อได้ เพราะเราเป็นสังคมเปิด แต่มากกว่า 90% ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องเข้า รพ. และไม่มีผู้เสียชีวิตถ้าไม่มีโรคอื่น ส่วนฉีด 3 เข็ม ก็ไม่มีอาการหนักเช่นกัน เพียงแต่ 4 เข็มจะค่อนข้างชัวร์กว่า ซึ่ง สธ.มีวัคซีนและพร้อมให้บริการ

 

เมื่อถามถึงการปรับสู่โรคประจำถิ่นจะดำเนินการนำร่องแซนด์บ็อกซ์บางจังหวัดหรือภาพรวมทั่วประเทศ  นายอนุทิน กล่าวว่า เข้าใจในบริบทเดียวกันว่าต้องทั้งประเทศ จะไปโรคประจำถิ่นจังหวัดนี้ ข้ามไปอีกจังหวัดหนึ่ง อาจวุ่นได้  ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเข้าใจ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือเต็มที่ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนแล้วไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต สถานพยาบาลมีพร้อม ยาพร้อม บุคลากรทางการแพทย์พร้อม ก็ต้องลุยเดินหน้า

 

เมื่อถามว่าทุกจังหวัดต้องมีแผน เปิดกิจการกิจกรรมตามปกติหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะนำเสนอ ศบค. ซึ่ง ศบค.ก็ฟัง สธ.เยอะมาก แต่อาจมีบางมิติที่ไม่เกี่ยวข้องกับ สธ.และมีความห่วงใยก็มาหารือใน ศบค. แต่ส่วนใหญ่คณะกรรมการใน ศบค.ทุกท่านก็จะหันมาถาม สธ.ว่าไหวหรือไม่ รับได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็เอาด้วยทุกเรื่อง การสนับสนุนของรัฐบาลเรื่องของโควิด คิดว่าเป็นสิ่งที่ สธ.ได้รับมาโดยตลอด ทั้งงบประมาณการดูแลประชาชน คณะรัฐมนตรีและนายกฯ ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ จริงๆ ทุกวันนี้ก็เดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นทุกวัน มาตรการต่างๆ เริ่มลดน้อยลง อย่าง RT-PCR ก่อนเข้าประเทศจาก 2 ครั้งก็เหลือครั้งเดียว  ตอนนี้ไม่มีแล้ว  Test&Go  ก็ไม่มีแล้ว  เหลือแค่ ATK แต่พอดีเจอช่วงสงกรานต์เราไม่อยากให้ประชาชนตระหนก หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์  หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ก็อาจเสนอให้ไม่ต้องมี ATK หรืออาจไม่ต้องมี Thailand Pass เนื่องจากเสียเวลา ก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าไป เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการปล่อยหมด บางส่วนก็บอกให้ใจเย็นๆ เราก็พยายามสร้างสมดุล เพราะเอาใจคนทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็เน้นใช้หลักฐาน สถิติว่าสามารถทำได้ ก็จะได้รับความร่วมมือ สำคัญคือต้องมาฉีดกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

 

"วันนี้ สธ.เสนอข้อมูลลงรายละเอียดมากขึ้น ตายจากโรคโควิด และเสียชีวิตที่มีโรคโควิดร่วมด้วย  เห็นว่า การเสียชีวิตที่มีโรคร่วมมีจำนวนมากกว่า  แสดงว่าโควิดเองทำลายชีวิตผู้คนได้น้อยลง และผู้ที่ตายจากโควิดพบว่า 90% ขึ้นไปไม่ได้รับวัคซีน เราเห็นแล้วว่าแก้ไขป้องกันได้ก็ต้องไปป้องกันตรงสาเหตุ ส่วนผู้ที่ตายด้วยโควิดอาจจะต้องเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ ที่มีอยู่ เพียงแต่ติดเชื้อขึ้นมา เช่น ไตวายระยะสุดท้าย แล้วไปติดเชื้อโควิด อาจเสียชีวิตเพราะไตวาย แต่มีโควิดก็ต้องบันทึกว่ามีโควิด ทำให้เกิดข้อมูลที่ไม่แม่นยำ 100% ก็ต้องแยกออกมาให้เห็น นี่คือวิธีการที่เราจะเดินเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นให้เร็วให้ได้ ไม่ต้องไปกำหนดว่าวันไหน เพราะเราทำอยู่แล้ว ทำเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวัน" นายอนุทินกล่าว

 

ถามต่อว่าจังหวัดต้องมีแผนสู่โรคประจำถิ่นของตัวเองมานำเสนอหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นเรื่องอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ หลายจังหวัดอาจมีมาตรการที่กำหนดขึ้นมาด้วยความเห็นชอบของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน